xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนเต็มคณะ ตัดสินนโยบายชี้อนาคตปฏิรูปเศรษฐกิจแดนมังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

การประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเต็มคณะครั้งที่สาม ของสมัชชาที่ 19 เมื่อเดือนก.พ. 2019 (แฟ้มภาพ ซินหวา)
ในสัปดาห์นี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเปิดการประชุมใหญ่แบบปิดลับเป็นเวลา 4 วันเพื่อถกเถียงและตัดสินนโยบายที่จะชี้อนาคตอนาคตประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและการปกครอง นั่นคือการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเต็มคณะครั้งที่สี่ ของสมัชชาที่ 19

จากรายงานข่าวของสื่อของรัฐจีน ไชน่า เดลี่ เผยวาระหลักๆของการประชุมใหญ่ของพรรคฯครั้งนี้ จะถกเถียงเกี่ยวกับหนทางรักษาและปรับปรุงระบบลัทธิสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน และสร้างพัฒนาธรรมาภิบาลที่สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่

เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ (28 ต.ค.) อ้างอิงกลุ่มนักวิเคราะห์ระบุว่าการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเต็มคณะครั้งนี้ จะตัดสินมาตรการใหม่ๆเพื่อเดินหน้าขั้นตอนปฏิรูประบบตลาดที่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชะงักงัน นอกจากนี้จีนต้องผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แบกภาระหนี้สินบาน อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะไม่คลายมือจากการกุมอำนาจควบคุมสำคัญๆ แม้เขาเห็นด้วยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจบางอย่างก็ตาม

แผ่นดินจีนเวลานี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ สี จิ้นผิง กำลังเผชิญความท้าทายใหญ่ในการขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจ ได้แก่ สงครางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ค่าแรงที่แพงขึ้น และค่าใช้จ่ายต่างๆที่สูงขึ้น โดยปัญหานี้นับวันยิ่งบานปลายและมีแนวโน้มจะแย่ถึงขั้นคุกคามความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นฐานความชอบธรรมในการปกครองของพรรคฯ

การประชุมคณะกรรมการกลางพรรคฯเต็มคณะซึ่งเริ่มจากวันจันทร์(28 ต.ค.) ได้เปิดโอกาสให้สีขจัดกระแสวิตกกังวลที่ว่าประมุขแดนมังกรกำลังเดินสวนทางกับแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงในการปกครองซึ่งเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่สุดของผู้นำสูงสุดเติ้ง เสี่ยวผิง โดยความวิตกเหล่านี้เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อสีลดความสำคัญของการนำร่วมของผู้นำหรือการผลัดกันนำ (collective leadership) และหันมาใช้การปกครองแบบเผด็จการ โดยเมื่อปี 2018 มีการยกเลิกข้อจำกัดวาระการเป็นประธานาธิบดีสองสมัยตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญ และเน้นบทบาทพรรคฯในทุกด้านทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับการประชุมฯนี้มีผู้แทนเข้าร่วมประมาณ 400 คน ทั้งกลุ่มผู้นำระดับสูงสุด ผู้ว่าหน่วยปกครองท้องถิ่น และนายทหารระดับสูง สีจะใช้การประชุมฯนี้ป่าวประกาศให้ประเทศจีนและโลกรู้ถึงวิสัยทัศน์ของเขาต่อเศรษฐกิจมังกร ว่าจีนจะเพิ่มความเข้มข้นของรูปแบบ “รัฐชี้นำ” (state-led model) ที่รัฐบาลมักเข้าไปแทรกแซงกิจการต่างๆ, หรือว่าจะหันมาเปิดกว้างเศรษฐกิจที่ยับยั้งบทบาทของรัฐและเปิดทางให้ธุรกิจต่างชาติและเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

อู่ จิ้งเหลียน หนึ่งในกลุ่มผู้นำทางความคิดคนสำคัญของจีนที่ยืนยันว่าจีนสามารถดำเนินระบบตลาดเสรีโดยไม่ลดทอนอำนาจพรรคฯ และตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวในต้นเดือนนี้

บทความฯเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาสัญญาที่ระบุในพิมพ์เขียวที่ประกาศเมื่อปลายปี 2013 ซึ่งรัฐบาลสัญญาว่าจะเปิดทางให้กลไกตลาดเข้ามามีบทบาทจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ (Decisive role of the market)

กลุ่มการนำจีนภายใต้การนำของสี ได้ระบุในเอกสารปี 2013 ตั้งเป้าหมายโดยรวมของแผนการปฏิรูปคือ พัฒนาลัทธิสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน และความสามารถการกำกับดูแล (ธรรมมาภิบาล)ที่สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ 

การปรับปรุงธรรมาภิบาลให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ที่สีกำลังทำอยู่นั้น โดยหลักคือสร้างหลักประกันว่ากลไกการปกครองแบบรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางสามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและเศรษฐกิจ
การมุ่งเน้นธรรมาภิบาลที่ถูกยกขึ้นมาเป็นภารกิจเร่งด่วนนั้นเกิดขึ้นในขณะที่ความมหัศจรรย์ของรูปแบบเศรษฐกิจจีนเสื่อมลง ขณะนี้อัตราเติบโตเศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากที่สุดในรอบสามทศวรรษ

เฉิน จื้ออู้ ผู้อำนวยการ Asia Global Institute มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่าสีจะต้องส่งสารเกี่ยวกับการสนับสนุนระบบตลาดเพื่อลดทอน “ความเคลือบแคลงสงสัยเชิงยุทธศาสตร์” จากประเทศต่างๆในขณะที่วอชิงตันมองจีนเป็นคู่แข่ง หรือกระทั่งเป็นภัยคุกคามต่อคุณค่าและสถาบันของโลกตะวันตก

“ถึงเวลาแล้วที่จีนจะหวนกลับสู่เส้นทางที่โฟกัสไปที่การพัฒนาและเศรษฐกิจ” เฉินกล่าว และว่าการหันกลับมาเน้นปฏิรูปกลไกตลาดจะช่วย “ฟื้นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ”ในบ้าน

ทั้งนี้ ช่วงสองสามปีมานี้ จีนเมินกลุ่มเศรษฐีใหม่ ได้แก่ กลุ่มเจ้าของธุรกิจเอกชน และกลุ่มสายอาชีพชนชั้นกลางในเมือง จากการสำรวจของสถาบันการวิจัยแห่งหูรุ่น (Hurun Research Institute) บริษัทวิจัยความมั่งคั่งในจีน และวีซ่าส์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Visas Consulting Group) บริษัทที่ปรึกษาด้านโยกย้ายถิ่น พบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มเศรษฐีจีน กำลังคิดโยกย้ายถิ่นไปยังประเทศอื่น การสำรวจนี้สรุปจากการสัมภาษณ์พลเมือง 224 คน ที่มีสินทรัพย์โดยเฉลี่ย 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ข้อมูลสถิติจากหน่วยงานรัฐของจีนชี้ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามายังจีนยังสม่ำเสมอ แต่ก็มีข่าวออกมาไม่ขาดสายว่ากลุ่มนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่โดยเฉพาะในภาคการผลิต เผ่นหนีออกจากจีน โดยสาเหตุนั้นไม่เพียงผลกระทบจากการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรในสงครามการค้า แต่ยังมีเหตุจากค่าแรงงาน ที่ดิน และแหล่งทรัพยากรอื่นๆที่ถีบตัวสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาลใส่ใจเรื่องนี้ และพยายามสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติ

อาทิ ในการแถลงของสี จิ้นผิงที่งานแสดงด้านการลงทุนภาคบริษัทระหว่างประเทศจัดขึ้นที่เมืองชิงเต่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สัญญาว่าจีนจะเปิดประตูกว้างต้อนรับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

รัฐบาลจีนยังได้ผ่านกฎระเบียบใหม่ซึ่งมีวัตถุประสงค์สร้าง “สภาพแวดล้อมธุรกิจที่ดี” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า พร้อมกับกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่ ที่ลดระเบียบขั้นตอนราชการที่หยุมหยิม/ยุ่งยาก และการแทรกแซงของรัฐ

นอกจากนี้จีนยังได้อนุญาตบริษัทการเงินต่างชาติถือหุ้นใหญ่ในกิจการร่วมค้า และเปิดทางสะดวกมากขึ้นให้กับกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการซื้อขายหุ้นในประเทศและพันธบัตร

เหมา โส่วหลง อาจารย์ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยประชาชนจีนในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่าการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคฯเต็มคณะครั้งนี้จะไม่แตะประเด็นเศรษฐกิจอย่างเจาะจงแม้จะสามารถสร้าง “ฉันทามติทางการเมือง” ในเรื่องที่ว่าพรรคฯจะนำนาวารัฐ

อย่างไร และรัฐจะจัดการกับกิจกรรมเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อสภาพแวดล้อมธุรกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและธุรกิจ ไปถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของเอกชน

เหมายังชี้ว่าอำนาจที่จะดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจในขณะนี้รวมศูนย์อยู่ที่กลุ่มองค์กรชั้นนำต่างๆในรัฐบาลที่มีสีจิ้นผิงเป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งแตกต่างมากจากในอดีตที่รัฐบาลท้องถิ่นหรือกระทั่งกลุ่มบริษัทสามารถทดลองแนวการปฏิบัติหรือสิ่งใหม่ด้วยตัวเองได้

“เรากำลังเข้าสู่เวทีใหม่ ที่จะต้องมีการปฏิรูปอย่างเข้มข้น” เหมา กล่าว

การคาดเก็งของนักวิเคราะห์อีกสำนัก Michael Hirson ผู้อำนวยการด้านจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (China and Northeast Asia) ของ Eurasia Group สีจะไม่ลดทอนอำนาจควบคุมของพรรคฯ เนื่องจากมันเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับจีนในการรักษาการเรืองอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางทหาร และมันยังเป็นพื้นฐานทัศนะของเขาเกี่ยวกับธรรมาภิบาล


กำลังโหลดความคิดเห็น