MGR Online / เอเจนซี - เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (4 พ.ค.) สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนซึ่งดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง ได้กล่าวในงานฉลองครบรอบ 200 ชาตกาลของ คาร์ล มาร์กซ์ (5 พฤษภาคม 2361) นักปรัชญาการเมืองชาวเยอรมนี ผู้ให้กำเนิดลัทธิมาร์กซิสต์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับระบอบสังคมนิยมสมัยใหม่ ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่งว่า ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และ 1980 ที่เกิดการล่มสลายของประเทศคอมมิวนิสต์นั้น บรรดาสื่อตะวันตก กล่าวว่า "คาร์ล มาร์กซ์ คงลงหลุม ตอกฝาโลงแล้ว" และยังนำมายกอ้างอิง เวลาเขียนถึงการที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ตัดสินใจทิ้งความคิดมาร์กซิสต์, เลนิน, เหมาฯ เสมอ
อย่างไรก็ตาม 200 ปีที่ผ่านมา แม้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในสังคม แต่ชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ กับผลงานด้านเศรษฐศาสตร์และปรัชญา “ว่าด้วยทุน ( Das Capital)ก็ยังได้รับความเคารพนับถือทั่วโลก ทฤษฎีของเขายังคงทรงพลัง ถกเถียงกับลัทธิการเมืองอื่นๆ ได้ไม่ตกเวที
สี จิ้นผิง บอกว่า ในยุคใหม่นี้ คอมมิวนิสต์จีนยังต้องเรียนรู้จากมาร์กซ์ และการคำนึงถึงมวลชนยังเป็นปลายทางของสังคมที่สวยงาม เช่นที่ มาร์กซ์ และฟริดริช เองเกล เคยให้ภาพไว้
สี จิ้นผิง กล่าวเตือนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า ในการ “พลิกฟื้นชาติจีนให้กลับมาชีวิตชีวาอย่างยิ่งใหญ่” ต้องไม่หลงลืม “รากเหง้าสังคมนิยม” และเมื่อพูดถึง "ระเบียบใหม่" ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เราหมายถึงอะไร ซึ่งเป็นที่น่าสนใจที่ต้องศึกษาและตระหนักว่าสิ่งที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญของทฤษฎีมาร์กซ์ นั้นคืออะไร?
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยืนยันว่าการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดมั่นในปรัชญาทางการเมืองของ มาร์กซ์ นั้นเป็นสิ่งที่ “ถูกต้องทุกประการ”
“การเขียนปรัชญามาร์กซิสต์ลงบนผืนธงพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการส่งเสริมการปรับเอาวัฒนธรรมจีนเข้าไป และการพัฒนาปรัชญามาร์กซิสต์ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาก็ถูกทางแล้วเช่นกัน”
สี ยังสั่งให้สมาชิกพรรคฯ ทุกคนกลับไปอ่านงานเขียนของ มาร์กซ์ และทำความเข้าใจว่าทฤษฎีมาร์กซิสต์นั้นเป็น “แนวทางการดำเนินชีวิต” และ “การแสวงหาทางจิตวิญญาณ”
ประธานาธิบดี สี พยายามฟื้นฟูปรัชญายุคแรกเริ่มของพรรคคอมมิวนิสต์ และย้ำว่าจีนต้องมีความเชื่อมั่นในประวัติศาสตร์การปฏิวัติและระบบการเมืองของตนเอง ซึ่งในการนี้ สื่อทางการจีนได้นำเสนอเรื่องราวของมาร์กซ์ ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อตอกย้ำว่าปรัชญาของ มาร์กซ์ ยังทันสมัย สอดคล้องกับบริบทของจีนยุคใหม่ และวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทุนนิยมที่ก่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่องว่างระหว่างคนรวยในเมืองกับคนยากจนในชนบท และไม่มีลัทธิการเมืองสังคมไหนที่จะเข้าถึงสังคม และส่งอิทธิพลกับมนุษยชาติเท่ากับมาร์กซิสม์ ที่ยึดหลักการเพื่อมวลชน กล้าปฏิรูปถึงรากถึงโคน, พัฒนาคุณภาพชีวิต, สร้างความชอบธรรม เป็นธรรม และสร้างสัมพันธ์กับนานาชาติอย่างเท่าเทียม
ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้พูดถึง "ความฝันจีน" เป็นครั้งแรกในขณะที่กล่าวสุนทรพจน์ในงานนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 หลังจากได้รับการเลือกตั้งเป็นเลขาธิการใหญ่ พรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยกล่าวว่าความฝันของคนจีนในวันนี้คือการฟื้นฟูชาติ หลุดพ้นจากความยากจน
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินการตามขั้นตอนเหมือนย่างก้าวของยักษ์ใหญ่ เพื่อตามความฝันของชาวจีน โดยในช่วงปี 2556-2560 มีประชาชนจีนเฉลี่ยปีละ 14 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน และรัฐบาลยังให้คำมั่นว่า จะช่วยให้ประชากรที่เหลือ ก้าวพ้นจากความยากจนภายในปี 2563 ซึ่งหมายความว่าประเทศจีนจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 10 ปีก่อนกำหนด
เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลิว หยงฝู ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาและขจัดความยากจน สภาแห่งรัฐ (Poverty Alleviation and Development หรือ LDOPAD) เผยตัวเลขรายได้ประชากร ซึ่งหลุดพ้นจากระดับความยากจน นับเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมที่สุดนับตั้งแต่เริ่มโครงการนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2524
เทียบเมื่อปีพ.ศ. 2555 จีนยังมีประชากรที่อยู่ในฐานะยากจน มีรายได้ต่อหัว/ต่อปี ต่ำกว่า 335 เหรียญสหรัฐ จำนวนถึง 99 ล้านคน แต่ตัวเลขดังกล่าวลดลงเฉลี่ย ปีละ 10 ล้านคน เป็นอย่างน้อยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และในช่วง 4 ปี สีจิ้นผิง 2556 - 2560 ประชาชนยากจนจำนวน 99 ล้านคนนั้น หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว 66 ล้านคน เหลืออีกราว 30 ล้านคน ที่ยังอยู่ในความยากจน
มาตรการต่างๆ อันมีมากมายที่รัฐบาลพยายามดำเนินการเพื่อปรับปรุงสถานการณ์เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคยากจน ด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การท่องเที่ยว ไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม ยังมีจำนวนประชากรที่ไม่หลุดพ้นจากความยากจนอีกราว 30 ล้านคน ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องให้ความช่วยเหลือ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ยากจนเพราะมีปัญหาสุขภาพ ความเจ็บป่วย และพิการร่างกาย
ปัจจุบัน ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของจีนอยู่ในระดับสูง รายได้ระหว่างภูมิภาคชนบท - เมือง คนรวย - จน เหลื่อมล้ำชัดเจน จีนพยายามขยายเมือง ลดช่องว่างชนบทมณฑลตอนในของประเทศที่ยากจน ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร เพียง 60% ของรายได้ต่อหัวของประชากรในมณฑลชายฝั่งทะเล 7 แห่ง ต่างจากมณฑลชายฝั่งทะเล ตอนนี้ความไม่เท่าเทียมนี้ อาจจะยังไม่เป็นปัญหาระดับสังคม แต่อนาคตไม่แน่ เพราะคำทำนายทุนนิยมของมาร์กซ์มักไม่พลาด
จูด แบลนเช็ตต์ หัวหน้าฝ่ายกิจการจีนของบริษัทที่ปรึกษา ครัมป์ตัน กรุ๊ป ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แสดงความคิดเห็นว่า ความศรัทธาในทฤษฏีมาร์กซิสต์ของ สี จิ้นผิง นั้น เป็นเรื่องที่อาจจะขัดกับความคิดและภูมิปัญญาในยุคหลังการเปิดประเทศ และโดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008
“แม้มันจะขัดกับภูมิปัญญาของเราในยุคหลังคอมมิวนิสต์ แต่เราคงต้องยอมรับว่า สี จิ้นผิง ศรัทธาในตัว คาร์ล มาร์กซ์ และทฤษฎีมาร์กซิสต์จริงๆ ยิ่งพินิจในทฤษฎีของ มาร์กซ์ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่าจีนมีโอกาส ที่จะสร้างรูปแบบการเมืองและเศรษฐกิจ อันนำไปสู่หนทางที่แตกต่างจากรูปแบบการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ 'ล้มเหลว' ของสหรัฐฯ” ตลอดจนข้อบกพร่องที่เห็นได้จากการเลือกตั้งผู้นำที่ผ่านมา, นโยบายการค้า, การแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศ และประเด็นต่างๆ เช่นเดียวกับ ความระส่ำระส่ายของกลุ่มประเทศยุโรปที่เกิดจากการถอนตัวออกไปจากสหภาพยุโรป ของอังกฤษ
ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่ทำให้ มาร์กซิสต์ ฟื้นขึ้นมาจากหลุมคือ วิกฤติการเงินโลกในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นจุดผิดพลาดมหันตของระบบทุนนิยม ตรงกับที่มาร์กซ์ได้ทำนายไว้เมื่อกว่า 150 ปีที่ผ่านมา
เควิน รัดด์ อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และเป็นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองจีน ยังบอกเมื่อไม่นานนี้ว่า สี จิ้นผิง เป็นนักมาร์กซิสต์ ในด้านที่ตระหนักถึงพลังทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีน และการปรับใช้สารัตถะของมาร์กซิสม์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองกับความท้าทายของพลังทางสังคมใหม่เหล่านั้น
สี จิ้นผิง จะฟื้นลัทธิมาร์กซิสม์ได้อย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะอย่าลืมว่าตลอด 40 ปีของการปฏิรูปเปิดประเทศ ทิศทางต่างๆ ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีเค้าแนวของมาร์กซิสม์เลย จีนมาทางวัตถุนิยม บริโภคนิยมเต็มรูป มีนายทุน คนรวยระดับพันล้านหลายร้อยคน และเศรษฐีเงินล้าน จำนวนหลายล้านคน
จาง หลี่ฟาน นักวิเคราะห์การเมืองอิสระ กล่าวว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะผลักดันลัทธิมาร์กซิสม์ใสยุคใหม่ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคอินเทอร์เน็ต ดังนั้น สิ่งที่นำเสนอดูไม่สมจริงเลย และว่า แม้แต่ในพรรคคอมมิวนิสต์เอง จาง หลี่ฟาน ก็เชื่อว่า คนในพรรคส่วนใหญ่ ก็ไม่เข้าใจหรือเชื่อมั่น ยึดถือแนวทางลัทธิมาร์กซิสม์อีกต่อไป แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้นมันอาจจะเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ในนโยบายลดความเหลื่อมล้ำสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในความฝันจีน
อย่างไรก็ตาม การสูญเสียศรัทธาในอุดมการณ์สังคมนิยมจีน กับลัทธิมาร์กซิสม์เป็นอุดมการณ์หลักเกณฑ์พื้นฐานของพรรคและประเทศ และการทุจริตคอร์รัปชั่น นับเป็นอันตรายที่คุกคามการอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์ นักวิเคราะห์ฝั่งตะวันตก มองว่า ลัทธิมาร์กซิสม์ แม้มีข้อบกพร่องหลายส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิพากษ์ทุนนิยมมากกว่าจะนำเสนอทางแก้ อันเป็นช่องโหว่ที่เปิดทางให้กับบรรดาผู้ปกครองจะยกอ้างมาใช้ตามใจตน เช่น สตาลิน ในศตวรรษที่ 20 แต่ลัทธิมาร์กซิสม์ก็ทำนายอนาคตของทุนนิยมได้แม่นยำ และมีพลังในการจัดระเบียบสร้างสรรค์บางด้าน เช่น การพูดถึงระบบภาษี การทำให้การถือครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลยากขึ้น เช่น การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ใน Communist Manifesto ซึ่งในยุคสมัยที่กล่าวนั้น ยังไม่มีประเทศไหนคิดถึงเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันต่างเป็นระบบที่จำเป็นเห็นคล้องฯ แนวคิดเศรษฐกิจของมาร์กซ์ ยังมีบริบทที่ให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์อย่างน่าศึกษาต่อยอด เหมือนกับที่ โรเบิรต์ แอล ไฮโบรเนอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน กล่าวว่า "คนจะยังยึดถือมาร์กซ์ ก็คงเพราะมันหลีกเลี่ยงไม่ได้"
สภาวะอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น ก็อาจจะเป็นสภาวะเดียวกับที่ สี จิ้นผิง มองเห็นคาดการณ์ ซึ่งการวิเคราะห์ระบบทุนนิยมของมาร์กซ์ยอดเยี่ยมที่สุด ในการให้ภาพของความเชื่อมโยงทำให้เข้าใจโลกจากศตวรรษที่ผ่านมาและอนาคตที่จะไปถึงของจีนได้
ทุกวันนี้ โลกมั่งคั่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และยากจนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นเดียวกัน รายงานของ Oxfam ที่เผยในเวที World Economic Forum ปีที่แล้ว (2017) ระบุ "ภาวะสุดโต่งของสังคม" ว่า สมบัติประโยชน์ต่างๆ ของโลกนี้ คนรวยเพียงหยิบมือ 85 คน มีความมั่งคั่งฯ มากกว่าคน 3,000 ล้านคนรวมกัน
สังคมโลกที่ยังเหลื่อมล้ำแบบนี้เอง ที่ทำให้ถ้อยคำของในบรรทัดแรกของ คำประกาศเจตนาคอมมิวนิสต์ มาร์กซิสม์ ไม่มีทางสิ้นพลัง หรือถูกฝังกลบ
"ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น" (The Communist Manifesto แถลงการณ์เจตจำนง พรรคคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2391)