xs
xsm
sm
md
lg

A-Z แบรนด์ดังจีน : เกือบ 100 ปี Warrior รองเท้าดังกรรมาชีพ แอร์จอร์แดนของจีนแผ่นดินใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รองเท้ารุ่น WB-1 เป็นสินค้าเรือธงของบริษัท ในยุค 70 และเป็นสินค้าวัฒนธรรมยุคสมัย (ภาพ jingdaily.com)
จิงเดลี่ / MGR Online - จากจุดเริ่มต้นของการเป็นสัญลักษณ์สถานะชนชั้นแรงงานฮีโร่ของสังคมจีน ทำให้ Warrior's WB-1 มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เคียงข้างคนยากจน และผู้ใช้แรงงานในจีนจำนวนมหาศาลมาจนถึงปัจจุบัน

แบรนด์ Warrior (回力) หรือ "หุยลี่" ก่อตั้งที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อปี พ.ศ. 2470 เมื่อ บริษัท เซี่ยงไฮ้เจิ้งไท (Zhengtai Shanghai) ได้ขยายธุรกิจยางไปสู่ตลาดรองเท้ากีฬา 回力 (หุยลี่) หมายถึงอำนาจหรือพลังที่จะเอาชนะความยากลำบาก ซึ่งเป็นชื่อที่เหมาะกับสถานการณ์ต่อสู้ของสังคมและเศรษฐกิจในเวลานั้น

Warrior เป็นที่รู้จักในทันที โดยมีจุดเริ่มต้นในการผลิตรองเท้าพละสำหรับนักกีฬาจีน และกลายเป็นชื่อที่ใช้ในครัวเรือนในทศวรรษที่ 60, 70 และ 80 ในฐานะรองเท้าของชนชั้นแรงงาน วันนี้ Warrior ยังมีที่ทางกลายเป็นสินค้าสัญลักษณ์แห่งยุคสมัย ไอคอนทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นที่รักของเยาวชนในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง

รองเท้ารุ่น WB-1 เป็นสินค้าเรือธงของบริษัท ในยุค 70 และเป็นสินค้าวัฒนธรรมยุคสมัย Warrior รุ่น WB-1 เป็นรองเท้าที่เรียกว่าทันสมัยมากในเวลานั้น พาฉีกจากสภาพแวดล้อมทางสังคมนิยมที่ผู้คนเริ่มเบื่อหน่ายสภาพโดยรอบ ความนิยมเทียบได้กับระดับของรองเท้าไนกี้ รุ่น แอร์จอร์แดน ซึ่ง WB-1 ได้รับความนิยมมาเรื่อย จนกระทั่งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ที่แบรนด์ตะวันตก เริ่มสามารถเปิดตลาดของจีน

พอตลาดเริ่มนิยมรองเท้ากีฬาจากตะวันตกมากขึ้น กิจการรองเท้า Warrior ยังคงเกาะแน่นกับตลาดรองเท้าของชนชั้นแรงงาน คนงานก่อสร้าง และชาวชนบท นักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในหลายภูมิภาคยังต้องสวมรองเท้า Warrior เป็นส่วนหนึ่งของชุดนักเรียน ด้วยมีราคาถูกและคงทน

หนังสือ "Book of Warriors" ซึ่งเขียนโดย เย่ว์ ซูเหมิง (叶书萌 Shumeng Ye) นักออกแบบชาวจีน ที่อยู่ในเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อปี 2551 เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความเก่า เชยของ Warrior กลับมากลายเป็นเท่ห์ น่าตื่นเต้น ชื่นชอบ เป็นแฟชั่นที่มีสตอรี่ ด้วยการเล่าเรื่อง รองเท้าพละของประเทศจีนที่ออกมาในยุค 70 แต่ขายได้จนถึงทุกวันนี้

เย่ว์ ซูเหมิง บอกว่า รูปลักษณ์ของรุ่นนี้ ยังคงทำให้ผู้คนหวนนึกถึงเรื่องราวอันล้ำค่า บอกเล่าชีวิตและพละกำลังในสังคมจีน แม้ว่าตอนนี้ Warrior อาจจะไม่ได้รับการยอมรับ หรือตีค่าต่ำกว่าเท่าที่ควรจะเป็น

40 ปีของการปฏิรูปและเปิดประเทศจีนนี้ ได้นำประชาชนจีนหลุดพ้นจากความยากจนมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังมีคนจีนอีกมากที่อยู่ใต้เส้นฐานความยากจน รองเท้า WB-1 คู่หนึ่ง สามารถซื้ออาหารอย่างดีจากภัตตาคารแบบดั้งเดิม แต่คนจำนวนมากก็ยังคงไม่สามารถจ่ายได้ทั้งสองอย่าง

หลายปีก่อน แบรนด์ Warrior ได้ริเริ่มกิจกรรมการเงินในระดับจุลภาค หรือ ไมโครไฟแนนซ์ โดยในเว็บไซต์ของบริษัท warriorshoes.org ได้ประกาศว่า กำไรทั้งหมดจากการจำหน่ายรองเท้ารุ่น WB-1s จะบริจาคให้กับโครงการ Wokai เพื่อช่วยเหลือคนยากจน

โจว เว่ย ผู้บริหารของ Warrior กล่าวว่า Warrior แตกต่างจากแบรนด์รองเท้าจีนอื่น ๆ การแสวงหาความมั่งคั่งไม่ใช่สิ่งสำคัญของเรา แผนนี้เพื่อการเติบโตของแบรนด์ Warrior ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าของจีน และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ของจีน นอกจากนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ Warrior ยังได้เปลี่ยนปรับแบรนด์ครั้งใหญ่ และนำรองเท้ารุ่นสร้างชื่อของตนกลับมาฟื้นชีพอีกครั้ง โดย "WOS33" ซึ่งย่อมาจาก "Warrior Ordinary Streetwear 33" (33 เป็นตัวเลขมงคลในวัฒนธรรมจีน)

"ตลาดรองเท้าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการแข่งขันที่ดุเดือดในอุตสาหกรรมรองเท้าของจีนและเป็นตลาดมีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นแรงกระตุ้นให้ ผู้ผลิตต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ "

จูงอัง เดลี่ฯ (JoongAng Daily) สื่อเกาหลีใต้ กล่าวว่าประเทศจีนได้กลายมาเป็นผู้ผลิตรองเท้าและเครื่องนุ่งห่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยการผลิตรองเท้า 2,400 ล้านคู่ต่อปีคิดเป็น 40% ของยอดรวมของโลก

แม้ว่าในปีที่แล้ว (2560) แบรนด์รองเท้าตะวันตก 5 ราย คือ Nike Inc, Adidas Group, Skechers USA Inc, Kering SA, และ Asics Corp ได้แบ่งกันคุมตลาดโลก โดย Nike เพียงลำพัง ก็มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 9.8 เปอร์เซนต์ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของ Warrior ยังคงอยู่คู่และไม่มีทางหายไปจากตลาดรองเท้าจีน ที่มีมูลค่ารวมถึง 5.65 หมื่นล้านเหรียญ (ในปี 2560 จากข้อมูลของ Euromonitor International) และคาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะถึง 6.82 หมื่นล้านเหรียญภายในปี พ.ศ. 2565

อ่านเพิ่มเติม -
1. China's "White Warriors" make their way to Europe
2. Interview: Warrior Shoes Renovator Ye Shumeng - The Comeback Of A Chinese Classic, Jing DailyOctober 4, 2011













กำลังโหลดความคิดเห็น