เอเอฟพี - จีนทดสอบเครื่องบินรบล่องหนรุ่นใหม่ล่าสุด หวังใช้เป็นตัวแปรยุติการผูกขาดวงการเครื่องบินรบของโลกตะวันตก
สำนักข่าวไชน่า เดลี่ รายงานว่า เครื่องบินรบชนิดหลบเลี่ยงเรดาร์หรือสเตล์ท (stealth) รุ่นเจ-31 (J-31) ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเอฟซี-31 ไจเออร์ฟอลคอน (FC-31 Gyrfalcon) ในปัจจุบัน ได้ทำการบินเที่ยวทดสอบเป็นครั้งแรกในวันศุกร์ (23 ธ.ค.) ที่ผ่านมา
การทดสอบดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการยืดเส้นยืดสายของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ซึ่งได้จัดส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงและกองเรือรบสู่น่านน้ำแปซิฟิกตะวันตก เพื่อดำเนินการซ้อมรบเมื่อไม่กี่วันนี้
นอกจากนั้นสเตล์ทเครื่องยนต์คู่ซึ่งนับเป็นรุ่นที่ 5 ของจีนยังเปรียบเสมือนการโต้ตอบกลับไปยังคู่แข่งอย่างเอฟ-35 (F-35) สุดยอดเครื่องบินรบของสหรัฐอเมริกา
สื่อทางการจีนอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของอู๋ เพ่ยซิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน ระบุว่า เอฟซี-31 มีขีดความสามารถด้านการพรางตัว อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และน้ำหนักบรรทุก ที่ดีกว่าเครื่องบินรุ่นก่อนซึ่งเปิดตัวในเดือนต.ค. 2555
"เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวยาน ส่วนปีกและแพนหางดิ่งถูกปรับให้บาง เบา และคล่องแคล่วยิ่งขึ้น" อู๋กล่าว
ทั้งนี้ เครื่องบินรบล่องหน รุ่นเอฟซี-31 ผลิตโดยบริษัท อากาศยานเสิ่นหยัง คอร์ป (Shenyang Aircraft Corp) ซึ่งเป็นเครือข่ายของบริษัท อุตสาหกรรมการบินแห่งประเทศจีน (Aviation Industry Corp of China)
รายงานข่าวระบุว่า เครื่องบินล่องหนรุ่นใหม่นี้น่าจะมีราคาจำหน่ายราว 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากคู่แข่งอย่างเครื่องบินรบรุ่นที่ 4 "ยูโรไฟท์เตอร์ ไทปูน" (Eurofighter Typhoon) ที่มีราคาแพงกว่ามาก
ปัจจุบันจีนพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์ภายในประเทศอย่างแข็งขัน นับจากโดรนและระบบต่อต้านอากาศยานไปจนถึงเครื่องยนต์ที่ผลิตได้เองในประเทศ แม้ที่ผ่านมาจีนมักถูกกล่าวหาว่าชอบลอกเลียนแบบก็ตาม โดยนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเอฟซี-31 ของจีน มีความคล้ายคลึงกับเอฟ-35 ของอเมริกาอย่างมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อเอฟซี-31 เสร็จสิ้นกระบวนการทดสอบจนพร้อมนำไปใช้งานจริง มันจะกลายเป็นเครื่องบินรบทรงพลังรุ่นที่ 5 ลำดับที่สองต่อจากเครื่องบินรบรุ่นเจ-20 ซึ่งสำแดงประสิทธิภาพการทำงานต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกในงานจูไห่ แอร์ โชว์ เมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา