MGRออนไลน์ - ภาพเหตุการณ์เครื่องบินโจมตีขับไล่ JAS39 กริพเพน (Gripen) กองทัพอากาศสวีเดน จำนวน 4 ลำ บินเกาะกลุ่มกับเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ B52 กองทัพอากาศสหรัฐฯ เหนือทะเลบอลติก พร้อมเครื่องบินรบอีก 2 รุ่น กำลังได้รับความสนใจจากสื่อกลาโหมในช่วงไม่กี่วันมานี้ บางแห่งชี้ชัดลงไปว่า ทั้งหมดนี้คือเจ้าเวหาแห่งตะวันตกที่สามารถต่อกรกับรัสเซียได้ หากมีสงครามเกิดขึ้น
ภาพที่เผยแพร่โดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ ชุดนี้เป็นเหตุการณ์การร่วมฝึกซ้อมเหนือทะเลบอลติก ของกลุ่มนาโต กับชาติพันธมิตรยุโรปเหนือ ยุโรปตะวันออก กับสหรัฐฯ เครื่องบิน B-52 สองลำแรก บินจากสหรัฐฯ ถึงฐานทัพอากาศในเยอรมนีเมื่อต้นเดือนนี้ เพื่อร่วมการฝึกดังกล่าว ลำที่สามกำลังติดตามกันไป
ในภาพเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นอกจาก B52 “ป้อมบิน” (Stratofortress) แล้ว ยังประกอบด้วย เอฟ-16 “ไฟติ้งฟัลคอน” (Fighting Falcon) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ 2 ลำ โปแลนด์อีก 4 ลำ กับ “ไต้ฝุ่น” ยูโรไฟเตอร์ (Eurofighter) ของเยอรมนีอีก 2 ลำ
กริพเพน เริ่มเข้ามีบทบาทอย่างสูงในภารกิจบินตรวจการณ์ ป้องกันและป้องปรามทางอากาศ เหนือน่านฟ้ายุโรป กับทะเลบอลติก ในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2557 เมื่อสาธารณรัฐเช็กทำหน้าที่ประเทศเจ้าภาพในการฝึกร่วมหลายครั้ง กับพันธมิตรกลุ่มยุโรปตะวันออกเดิม ยุโรปเหนือ และยุโรปตะวันตก
ปีนั้น กริพเพน กองทัพอากาศสาธารณรัฐเช็ก จำนวน 6 ลำ ได้แสดงขีดความสามารถ ออกบินลาดตระเวนปฏิบัติภารกิจข้ามทะเลเหนือ สู่มหาสมทุรแอตแลนติก ไปยังเกาะไอซ์แลนด์ ที่เป็นเขตป้องกันทางอากาศของนาโต รวมระยะทางหลายพันกิโลเมตร โดยเติมน้ำมันกลางอากาศ
อย่างไรก็ตาม นั่นมิใช่ครั้งแรกที่เครื่องบินรบขนาดเล็กสายพันธุ์สวีเดน โชว์ความสามารถในการปฏิบัติการระยะไกล และการเข้ากันได้ทุกระบบกับบรรดาเครื่องบินรบอื่นๆ ของค่ายตะวันตก เหนือน่านฟ้ายุโรป ซึ่งรวมทั้ง ราฟาล (Rafale) ฝรั่งเศส F15 กองทัพอากาศอังกฤษ และ F22 “แรปเตอร์” (Raptor) เครื่องบินรบ “สเตลธ์” ยุคที่ 5 กองทัพอากาศสหรัฐฯ ด้วย
.
2
3
4
เมื่อปี 2549 หรือ 10 ปีก่อนหน้านี้ กริพเพน C/D กองทัพอากาศสวีเดน จำนวน 6 ลำ ขึ้นบินจากทัพอากาศ ทางภาคตะวันตกของประเทศไปยังฐานทัพอากาศแห่งหนึ่ง ในรัฐอะแลสกา สหรัฐฯ เพื่อร่วมการฝึกซ้อมตามโครงการแลกเปลี่ยนด้านกลาโหมระหว่างสองประเทศ
ทั้ง 6 ลำ บินเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร โดยแวะพักเครื่อง และเติมเชื้อเพลิง 3 ครั้ง ใน 3 จุด ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนภาคพื้นดินไปยังปลายทางเดียวกัน พร้อมอะไหล่ และชิ้นส่วนต่างๆ โดยเครื่องบิน C130 และ ครั้งนั้่นเป็นการบินระยะทางไกลที่สุดของ JAS39
จากกริพเพน C/D ได้พัฒนาต่อมาเป็น Gripen E ซึ่งกลุ่มซาบแห่งสวีเดน ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรก ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มุ่งเจาะตลาดเครื่องบินรบยุคที่ 4++ ชูจุดขายทันสมัย เทคโนโลยีสูง ประสิทธิภาพสูง เร็ว และคล่องตัว ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวต่ำสุด ดูแลง่าย และค่าบำรุงรักษาต่ำกว่ารุ่นอื่นๆ
.
.
ข่าวกองทัพประชาชนเวียดนามให้ความสนใจกริพเพน ได้ผุดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเร็วๆ นี้
ขณะเดียวกัน ปลายเดือนที่แล้วเว็บไซต์ข่าวหลายแห่งรายงานว่า กองทัพอากาศไทยกำลังเจรจาซื้อ JAS39 อีก 1 ฝูง จำนวน 12 ลำ ขณะที่มีประจำการอยู่แล้ว 1 ฝูง ทั้ง C และ D แต่ยังไม่มีการยืนยันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ และไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นการเจรจาซื้อกริพเพนรุ่นใด.
.