เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลคูเวตลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เดินหน้าแผนจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ “Eurofighter” จำนวน 28 ลำ มูลค่ากว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายงานซึ่งอ้างแหล่งข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของอิตาลี ระบุว่า รัฐบาลคูเวตตกลงจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ยูโรไฟเตอร์จำนวน 28 ลำ ซึ่งร่วมกันผลิตโดย 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทฟินเมกกานิกาจากอิตาลี บริษัท BAE Systems จากสหราชอาณาจักร และบริษัทแอร์บัส ซึ่งมีฐานอยู่ในฝรั่งเศส
ในจำนวนเครื่องบินขับไล่ยูโรไฟเตอร์ทั้ง 28 ลำที่ทางการคูเวตจะจัดซื้อในคราวนี้ มีรายงานว่า แบ่งเป็นเครื่องบินขับไล่แบบที่นั่งเดี่ยวจำนวน 22 ลำ และแบบที่นั่งคู่อีก 6 ลำ
รายงานข่าวระบุว่า การลงนามในข้อตกลงขั้นสุดท้าย ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาในการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ของทางการคูเวตตลอด 20 ปีข้างหน้านี้จะเกิดขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งหากมีการลงนามจัดซื้อกันอย่างเป็นทางการก็จะส่งผลให้คูเวตกลายเป็นประเทศที่ 8 ของโลกที่มีเครื่องบินขับไล่ยูโรไฟเตอร์เข้าประจำการในกองทัพของตน ถัดจากเยอรมนี อังกฤษ อิตาลี สเปน ออสเตรีย ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน
ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน รัฐบาลคูเวตเพิ่งตกเป็นข่าวว่ากำลังเปิดการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อขอสั่งซื้อเครื่องบินซูเปอร์ฮอร์เน็ตส์ รุ่น “F/A-18E/F” ที่ผลิตโดยบริษัทโบอิ้งจำนวน 24 ลำเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ข่าวการทุ่มเงินมากกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ของทางการคูเวตในครั้งนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากขัดแย้งกับถ้อยแถลงของชีคห์ ซาบาห์ อัล-อาเหม็ด อัล-ซาบาห์ เจ้าผู้ครองรัฐของคูเวต ที่ทรงออกโรงเตือนก่อนหน้านี้ถึงความจำเป็นในการตัดลดรายจ่ายภาครัฐลงจากผลพวงของราคาน้ำมัน ที่ยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก และกลายเป็น “เงามืด” ที่กำลังย่างกรายเข้าปกคลุมเศรษฐกิจของสมาชิกกลุ่ม “โอเปก”
ชีคห์ ซาบาห์ ในวัย 85 พรรษา ซึ่งทรงก้าวขึ้นครองอำนาจในฐานะ “เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่ 5” ของคูเวตตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมปี 2006 กล่าวเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่คูเวตและสมาชิกกลุ่มโอเปก หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมรายใหญ่ของโลกจะต้อง “เลิกพึ่งพา” รายได้จากการขายน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียวในการพัฒนาประเทศ และควรเร่งหาทางสร้างแหล่งรายได้ที่หลากหลายสำหรับใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในอนาคต
“การดิ่งลงของราคาน้ำมัน ไม่ต่างจากเงามืดที่กำลังย่างกรายเข้ามาปกคลุมเศรษฐกิจและอนาคตของเรา ถึงเวลาแล้วที่สมาชิกโอเปกทั้งหลายต้องหาหนทางอื่นในการพัฒนาเศรษฐกิจแทนการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน เราต้องเร่งหาทางปกป้องเศรษฐกิจ และสร้างหลักประกันให้กับลูกหลานของเราในอนาคต ในวันที่เราไม่มีน้ำมันเหลืออยู่แล้ว แต่กว่าจะถึงวันนั้น สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้ คือ การหาทางตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงเสียก่อน” ชีคห์ ซาบาห์ตรัส
ท่าทีล่าสุดขององค์เอมีร์แห่งคูเวตมีขึ้นหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีและส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างหนักระหว่างสมาชิกกลุ่มโอเปกในเรื่องการปรับลดกำลังการผลิต เพื่อให้มีน้ำมันออกสู่ตลาดโลกลดน้อยลง และผลักราคาน้ำมันให้ปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของรัฐบาลคูเวตที่มีการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ในขณะนี้รายได้จากการส่งออกน้ำมันมีสัดส่วนคิดเป็น “เกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพี” ของคูเวต และถือเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ