เอเจนซี / MGR Online - บรรดานักวิเคราะห์การลงทุนโลก เชื่อว่า "ยุคแรงงานอุตสาหกรรมกำลังจะสิ้นสุด" และอาจจะพ้นสมัยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของอดัม สมิธ นักปรัชญาศีลธรรม และ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง เจ้าของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ลัทธิเสรีนิยม ที่โลกยืดถือกันมานานกว่า 240 ปีด้วย หุ่นยนต์กำลังเข้ามาแทนแรงงานคนในทุกการผลิตทั่วโลก แม้จะแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตและขาดแคลนแรงงานได้ แต่อาจทำให้เกิดช่องว่างแรงงานและรายได้ กำลังผลิตและกำลังบริโภคในสังคมมากขึ้น เพราะหุ่นยนต์ไม่ใช่ผู้บริโภค ต่างกับคนที่เป็นทั้งแรงงานผู้ผลิตและกลไกตลาดผู้บริโภคสินค้าที่มีการผลิตแลกเปลี่ยนอันเป็นปัจจัยเกื้อกูลกันแห่งความมั่้งคั่งทางเศรษฐกิจ
หลังจากที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา ทุนกับแรงงานต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่เสริมส่งกันเป็นระบบทุนนิยม แต่นับต่อจากนี้ลักษณะธรรมชาติของทุนนิยมกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับฐานรากแรงงาน ไมเคิล ปาร์คเกอร์ นักวิเคราะห์จากเบิร์นสไตน์ กล่าวถึง "ความมั่งคั่งของประชาชาติ" (The Wealth of Nations) หนังสือเศรษฐศาสตร์ของอดัม สมิธ ที่เขียนในปี ค.ศ. 1776 ว่าแม้นักเศรษฐศาสตร์จะยังคงใช้เป็นศาสตร์ของการเคลื่อนย้ายจัดสรรการลงทุนทั่วโลก มาตลอด 240 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างกำลังจะพ้นสมัยอย่างรวดเร็ว
"สมาร์ทโฟน และแอปพลิเคชั่นออนไลน์-ออฟไลน์ ระบบอัตโนมัติต่างๆ กำลังทำให้กิจกรรมการผลิตและบริการมีราคาถูกลง การใช้แรงงานคนลดน้อยลง อาจทวีคูณปัญหาการกระจายรายได้อันไม่เป็นธรรมในตลาดประเทศกำลังพัฒนา" ไมเคิล ปาร์คเกอร์ กล่าวฯ
เบิร์นสไตน์ บริษัทผู้จัดการกองทุนที่มีความชํานาญด้านการลงทุน ระบุว่า แรงงานการผลิตจะหายไป โดยหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่ และจีนจะเป็นประเทศผู้นำยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ก็จริง แต่แนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นแม้สหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ คิดจะนำอุตสาหกรรมกลับไปผลิตให้แรงงานในประเทศทำ แต่โลกกำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว ระบบผลิตจะไม่ใช้คนทำงานกันอีกแล้ว ผลประโยชน์ก็คงไม่กระจายไปยังคนทั่วไป
"ความจริงแล้วจีนไม่ได้กำลังลดการผลิต แต่ลดแรงงานผลิตโดยคน" ปาร์คเกอร์ กล่าวและยังยกเทียบเคียงนิยามความมั่งคั่งประชาชาติของอดัม สมิธ ว่า ระบบการผลิตใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ละคน (หรือแต่ละชาติ) ทำสิ่งที่ตนเองทำได้ดีที่สุด เพื่อสร้างรายได้ฯ แล้วเอาไปแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น ซึ่งหมายถึงการแบ่งงานกันทำตามความชำนาญเฉพาะทาง และอาศัยกลไกตลาดในการแลกเปลี่ยนผลิตผล
กำลังผลิตฯ กับอัตราค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างกันของแต่ละภูมิภาค นำไปสู่ยุคพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเป็นฐานรับจ้างผลิตงานค่าแรงต่ำ ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่งคั่งตามทฤษฏีอดัม สมิธ จนกลายเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของสไตน์ กล่าวว่า การแยกผลิตเฉพาะทางตามตำราอดัม สมิธ เหล่านี้ อาจจะมาถึงจุดสิ้นสุด เพราะจีนและชาติต่างๆ ใช้วิธีการที่ยังไม่มีในตำรา เพื่อจัดการกับปัญหาความไม่สมดุลกันระหว่างค่าแรงที่จำต้องเพิ่มให้สูงขึ้นเรื่อยๆ และไหนจะปัญหาขาดแคลนแรงงาน กับต้นทุนที่ควรควบคุมให้ลดต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งในการแก้ปัญหา จีนคงไม่ลดการผลิต แต่ใช้วิธีลดแรงงานการผลิตโดยเอาหุ่นยนต์แทนที่คนง่ายกว่า
เรื่องแบบนี้ อดัม สมิธ เองก็คงคาดไม่ถึงทำนายไม่ได้ รวมถึง การเลือกปฏิบัติในการตั้งกำแพงภาษี และที่สำคัญคือผลกระทบของการใช้หุ่นยนต์ และระบบผลิต/บริการอัตโนมัติที่กำลังปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่สี่นี้
เบิร์นสไตน์ แสดงความเห็นว่า ในเศรษฐกิจยุคใหม่นี้ หุ่นยนต์ตัวหนึ่งทำงานแทนคนได้หลายร้อยคน ผู้ชนะคือผู้ผลิตที่มีหุ่นยนต์ที่ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบัน จีนทุ่มใช้จ่ายในด้านกำลังผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก อยู่ที่ปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นตลาดผู้บริโภคหุ่นยนต์ประเภทดังกล่าวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 54 ในปีที่แล้วหุ่นยนต์เพื่อกิจการอุตสาหกรรมถูกจำหน่ายบนแผ่นดินจีนทั้งสิ้น 56,000 ตัว โดยมาจากบริษัทผู้ผลิตท้องถิ่น 10,600 ตัว และที่เหลือมาจากผู้ผลิตต่างประเทศ อาทิ เอบีบี กรุ๊ป (ABB Group) ของสวิตเซอร์แลนด์ และคูคา (Kuka) ของเยอรมัน
สำนักข่าวพีเพิล เดลี รายงานผลการศึกษาของสมาคมหุ่นยนต์นานาชาติ (International Association of Robot) ซึ่งมีฐานอยู่ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมัน ระบุทวีปเอเชียมีความต้องการหุ่นยนต์เพื่อกิจการอุตสาหกรรม (Industrial robot) เป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2557 ขณะที่ยอดจำหน่ายหุ่นยนต์เพื่อกิจการอุตสาหกรรมทั่วโลกปรับสูงขึ้นร้อยละ 27 โดยมีหุ่นยนต์จำนวน 225,000 ตัว ถูกส่งขายในหลายประเทศ ซึ่งราวสองในสามตั้งอยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ยอดจำหน่ายรวมในประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 75 ของการจำหน่ายหุ่นยนต์เพื่อกิจการอุตสาหกรรมทั้งหมดของโลก
เบิร์นสไตน์ ได้ติดตามสำรวจตลาดแรงงานในจีน พบว่าปีที่แล้ว อัตราค่าจ้างแรงงานจะสูงขึ้นที่ร้อยละ 4.5 มีอัตราว่างงานเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 68 มองผิวเผินเหมือนจะเป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับจีน แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่าในอุตสาหกรรมการผลิตนั้น มีการส่งงานให้หุ่นยนต์ ส่วนคนนั้นต้องตกงานและย้ายไปในอุตสาหกรรมภาคบริการ ขณะที่คนงานภาคบริการหลายๆ ส่วน ก็กำลังจะถูกระบบบริการอัตโนมัติมาแย่งงานเช่นกัน เพราะคงไม่ใช่แค่งานสายการผลิตอย่างเดียว แต่งานบริการ รวมถึงงานที่อาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทางอย่างอื่นก็มีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน อาทิ ไอบีเอ็มได้ผลิตเทคโนโลยีซึ่งตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้แม่นยำกว่าการวินิจฉัยของมนุษย์ สำนักข่าวเอพี ใช้ระบบรายงานแจ้งข่าวอัตโนมัติ หุ่นยนต์รปภ. ในสนามบินก็ทำงานได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย คิดหยุดงานประท้วง เหล่านี้ทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่งานในระดับแรงงานเท่านั้นที่หุ่นยนต์ หรือระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติทำแทนคนได้ แต่ไปถึงงานในระดับกลางและสูงก็ทำแทนได้เช่นกัน
เวิร์ล อีโคโนมิค ฟอรั่ม (WEF) คาดการณ์ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่สี่ นี้ ได้เริ่มต้นแล้วในปีนี้ โดยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เข้ามาเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลก และวิธีทำงานของคน มีแนวโน้มงานราว 5 ล้านตำแหน่ง กำลังถูกเลิกจ้างไป ภายในปี 2020 ขณะที่ผลวิจัยร่วมของ Citi และ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด คาดว่าสัดส่วนงานต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัตินี้ มีถึงราวร้อยละ 77 ในจีน และร้อยละ 57 ในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา OECD ซึ่งมี 30 ประเทศ
เทคโนโลยีคือจุดเปลี่ยนระบบทุนนิยม การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอดีตนั้น แม้ส่งผลให้แรงงานหลายประเภทสูญหายไป แต่ก็ได้สร้างงานและรายได้อื่นทดแทน เช่น แรงงานม้า และคนลากรถ ถูกแทนที่ด้วยงานผลิตรถยนต์ของค่ายฟอร์ด แต่เทคโนโลยีปัจจุบัน ไม่ได้ให้โอกาสผู้ใช้แรงงานแบบนั้น โดยเฉพาะกับคนที่มีการศึกษาน้อย อาศัยแรงงานตนอย่างเดียว คำถามสำคัญที่ยังตอบไม่ได้คือ "การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคสี่" นี้ จะเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงตลาดงาน หรือจะทำให้คนไม่มีงานทำและกลายเป็นสังคมที่มีช่องว่างแรงงาน ช่องว่างการกระจายรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ กลไกตลาดในการแลกเปลี่ยนผลิตผลแบบอดัม สมิธจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเมื่อหุ่นยนต์มาแย่งงานคนงาน คนงานไม่มีรายได้ ไม่มีอำนาจซื้อ เมื่อไม่มีสิทธิแลกเปลี่ยนผลผลิต และบริโภค ขณะที่หุ่นยนต์เองนั้น ก็ไม่มีความต้องการซื้อสินค้าที่ตนเองหรือใครผลิตแน่นอน หุ่นยนต์ยังไม่บริโภคอะไรทั้งสิ้น ไม่สร้างครอบครัว ไม่ดูหนัง ไม่กินข้าว ฯลฯ เหล่านี้ คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ ที่แม้อดัม สมิธ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมเองก็ยังเขียนไม่ถึง