xs
xsm
sm
md
lg

กลยุทธ์เอสซีจี เคมิคอลส์ R&D ออกฤทธิ์ บุกตลาดโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จากการแถลงผลประกอบการของเครือซิเมนต์ไทย งวดไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2559 รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ได้ยืนยันว่า “ธุรกิจเคมีภัณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง และนับว่าเป็นวัฏจักรขาขึ้นของธุรกิจปิโตเคมี”

ขณะที่ยุทธศาสตร์หลักของเครือเอสซีจีนั้น ให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อเพิ่มยอดขายจากสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA (High Value Adoled Produet&Service) เพราะได้ผลดีทั้งมูลค่าการขาย และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีความแตกต่างอย่างโดดเด่นของผลิตภัณฑ์เป็นจุดขายเฉพาะ 9 เดือนแรกของปีนี้ สินค้าที่เป็น HVA ของเอสซีจี สามารถสร้างยอดขายถึง 122,219 ล้านบาท (38% ของยอดขายรวม) ซึ่งใกล้เคียงกับผลงานช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำลังเร่งอัตราเพิ่มเพื่อขยับเข้าใกล้เป้าหมายร้อยละ 50 ของยอดขายรวมที่มุ่งหมายไว้

จากการแถลงผลการดำเนินงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ขณะนี้เอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างยอดขาย และผลกำไรโดยรวมของเครือ จะเห็นได้จากงวดไตรมาสที่ 3 ของปีนี้มียอดขาย 48,138 ล้านบาท แม้ลดลง 7% จากช่องเดียวกันของปีก่อน หรือลดลง 3% จากไตรมาสก่อนทั้งราคา และปริมาณขายที่ลดลง แต่ก็ยังมีกำไรสำหรับงวดนี้ 11,910 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 74% เทียบกับปีก่อนช่วงเดียวกัน)

ชลนัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี เคมิคอลส์ ให้สัมภาษณ์ว่า เอสซีจีให้ความสำคัญกับ “การเพิ่มมูลค่า” จึงต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ใช้เป็นตัวขับเคลื่อนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA โดยมุ่งคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง และได้กำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการด้านวิจัยและพัฒนาไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ 1.การร่วมมือกับคู่ค้าในเชิงลึกเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน 2.การนำความต้องการของลูกค้ามาพัฒนานวัตกรรมสินค้า และบริการ เพื่อนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ 3.การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Innovation) 4.การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้านงานวิจัย และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง 5.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับนักวิจัย และสถาบันชั้นนำระดับโลก

ด้วยเหตุนี้ เมื่อปี 2557 เอสซีจี เคมิคอลส์ จึงได้ลงทุนในบริษัท Norner AS ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสติกระดับโลก และปี 2558 ได้ลงทุนเพิ่มเป็น 100% แทนที่กองทุนส่วนบุคคล ซึ่งครบวาระการลงทุนส่วนนี้ แต่ Norner ก็ยังคงความเป็นอิสระในการดำเนินธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนาที่มีมาตรฐานระดับโลก ซึ่งถือเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญของเอสซีจี เคมิคอลส์ ในการได้องค์ความรู้ทิศทางตลาด และการต่อยอดผลการวิจัยที่ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรให้เกิดผลเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ ทำให้ปัจจุบัน เอสซีจี เคมิคอลส์ มีทีมงานวิจัยประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้เป็นนักวิจัยระดับ Ph.D. ประมาณร้อยละ 20 จึงมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม หรือ ASTEC (Advanced Science and Technology Center) ที่ทันสมัยเทียบเท่าระดับสากล พร้อมทั้งจัดสรรงบสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2016 เอสซีจี เคมิคอลส์ ตั้งงบวิจัยและพัฒนาไว้ 3,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54 ของงบวิจัยและพัฒนาทั้งหมดของเอสซีจี ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก ได้ใช้งบวิจัยและพัฒนาไปประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.6 ของยอดขายรวม และมีสัดส่วนสินค้า HVA ของเอสซีจี เคมิคอลส์ คิดเป็นร้อยละ 31 คาดว่าภายในปี 2016 เอสซีจี เคมิคอลส์ จะมีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรจำนวนมากกว่า 140 ฉบับ ซึ่งเป็นการจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

“เราได้เลือกสรรนวัตกรรมสินค้าและบริการ HVA ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในตลาดโลกไปร่วมแสดงในงานนิทรรศการ K 2016 ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมสินค้าพลาสติก และยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดทุก 3 ปี ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นการนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้ลูกค้าที่เข้ามาชมเป็นจำนวนมากช่วยสร้างโอกาสให้เอสซีจี เคมิคอลส์ ในการได้พันธมิตรธุรกิจที่มีศักยภาพระดับนานาชาติ ที่จะช่วยชักนำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ “เซียร์ร่า” เติบโตสู่ตลาดโลกได้คล่องตัวขึ้น” นายชลณัฐ กล่าว

เซียร์ร่า (CIERRA) เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับปิโตเคมี เป็นสารพิเศษชนิดใหม่ของโลก เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และบริษัทนอร์เนอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือเอสซีจี เคมิคอลส์ ผลการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวได้ค้นพบนวัตกรรมสารเซียร์ร่า ที่มีคุณลักษณะพิเศษไปเพิ่มคุณสมบัติที่เหนือกว่าที่เคยมีในอุตสาหกรรมพลาสติก จึงหวังว่า สินค้าตัวนี้จะเป็นตัวทำยอดขายที่มีแนวโน้มนับพันล้านบาท

ทั้งนี้ จะเริ่มทดลองกับตลาดในยุโรปก่อน โดยมี “นอร์เนอร์” ธุรกิจในเครือเป็นกลไกส่งเสริมการตลาด และขณะนี้ได้มีนักการตลาดที่มีประสบการณ์ในตลาดโลกจากบริษัทที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ และวัสดุด้านเคมิคอลส์มาร่วมงาน เพื่อเริ่มงานเจาะตลาดต่างประเทศแล้ว

กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ ย้ำสรุปเป็นเชิงยุทธศาสตร์ว่า “เราไม่ต้องการขายของแบบเดิมๆ ที่ไม่ต้องไปแข่งกับคนอื่น ขณะที่ตลาดหลักยังเป็นเอเชีย เช่น 30% เป็นอาเซียน 20% ตลาดจีน 10% สำหรับญี่ปุ่น นอกนั้นเป็นอันดับแอฟริกา และตะวันออกกลาง”

ขณะที่ตลาดยุโรปที่ต้องการไปขยายได้นั้น มีกำแพงภาษี จึงต้องสั่งสินค้าที่เป็นเกรดพิเศษที่มีนวัตกรรมเพื่อให้สมราคา

ดังนั้น การไปซื้อกิจการบริษัทนอร์เนอร์ ที่นอร์เวย์ ในความเห็นของชลนัฐ นับเป็นการเพิ่มผู้เชี่ยวชาญเครื่องมือการวิจัยและพัฒนา โดยองค์ข้อมูลการตลาดทั้งแนวโน้มใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์ และความต้องการของลูกค้าในตลาดโลก “มีนอร์เนอร์ จึงเป็นอนาคตของเรา”

นวัตกรรมดาวเด่นสินค้า HVA ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่นำไปแสดงในงาน K 2016 ที่เยอรมนี

1.Functional Materials นวัตกรรมสารพิเศษที่นำไปใช้ในสินค้าที่ HVA อุตสาหกรรมหลากหลายประเภท โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “Cierra” สามารถพัฒนาเป็น

1.1 Barrier film ที่ป้องกันออกซิเจน และความชื้นได้ดี ซึ่งเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ช่วยให้เก็บอาหารได้นานขึ้น

1.2 Flame Retardant หรือสารช่วยหน่วงไฟ ทำให้พลาสติกเกิดจุดติดไฟช้าลง และการลามไฟช้าลงด้วย

1.3 Anti-Microbial หรือสารช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และเชื้อรา ทำให้สิ่งที่ผสมลงไปมีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อ microbial ที่ทำให้เกิดสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น คราบ กลิ่น ได้มากกว่าปกติ ซึ่งเหมาะสำหรับการพัฒนาสินค้าบรรจุภัณฑ์ HVA ที่ต้องการความสะอาดสูง

2.New Generation PE นวัตกรรมที่พัฒนาเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีน (PE) ให้มีคุณภาพสูงขึ้น โดยมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น สูงสุดถึงร้อยละ 40 สามารถนำไปพัฒนาเป็นสินค้าได้หลากหลายประเภท อาทิ ฟิล์มชนิดบางพิเศษ ที่ใช้ปริมาณเม็ดพลาสติกน้อยลง แต่ยังคงความแข็งแกร่งไว้ได้

3.เม็ดพลาสติก PE 112 ที่มีคุณสมบัติดีขึ้นสำหรับท่อที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และประปา โดยสามารถทนแรงดันได้มากกว่าท่อที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก PE 100 ถึงร้อยละ 12 จึงสามารถลดความหนาของท่อ และเพิ่มปริมาตรขนส่งได้มากขึ้น อีกทั้งยังทนการสึกกร่อนได้มากขึ้นถึง 40% จึงช่วยเพิ่มอายุการใช้งานของท่อให้ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เม็ดพลาสติก PE 100 เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าในอุตสาหกรรมประปา เหมืองแร่ และก๊าซธรรมชาติ

4.เม็ดพลาสติกพอลิโพรพิลีน Thermoform สำหรับกล่องอาหารแบบ Freeze-to-Heat ที่สามารถทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -40๐C ถึง 130๐C ได้โดยไม่เกิดสารอันตรายเจือปน และเม็ดพลาสติกพอลิโพรพิลีนสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ที่สามารถผ่านการฆ่าเชื้อระดับสูงสุดได้ด้วยรังสีแกมม่า ซึ่งได้รับรองมาตรฐานระดับสากล เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น