xs
xsm
sm
md
lg

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังให้สัมพันธภาพไทย-จีนไทย-จีน หวนกลับมาแนบแน่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เติ้ง เสี่ยวผิง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ  พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2521
MGR ONLINE-- บันทึกประวัติศาสตร์ไทยทั่วไป ได้ระบุความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทย-จีน นับจากยุคสุโขทัย ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา มาถึงยุครัตนโกสินทร์ ไว้อย่างชัดเจน โดยนับเวลาได้กว่า 800 ปี ทว่า เอกสารของฝ่ายจีนฉบับสำคัญ อาทิ “ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นฉบับหลวง”ที่เขียนถึงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ก่อนค.ศ. 205 - ค.ศ. 25/ก่อนพ.ศ.748-568) มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่ระบุการเดินเรือไปยังดินแดนต่างๆ ในจำนวนนี้มีอาณาจักรที่นักวิชาการสันนิษฐานน่าจะมีดินแดนไทยรวมอยู่ด้วย นั่นก็หมายถึงว่าสัมพันธ์ไทย-จีน อาจกินเวลานานถึงกว่า 2,000 ปี จนมีคำกล่าวว่า “ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

ความสัมพันธ์ไทย-จีนร้างราไปช่วงหนึ่งในยุคสงครามเย็น ที่การเมืองโลกแบ่งเป็นสองขั้ว คือฝ่ายโลกทุนนิยมเสรี นำโดยสหรัฐอเมริกา และฝ่ายโลกสังคมนิยม อันมีอดีตสหภาพโซเวียต และจีน เป็นผู้นำ รัฐบาลไทยสมัยนั้นมีนโยบายยืนข้างสหรัฐฯ จึงทำให้สัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างไทย-จีน ชะงักงันไปนานถึงกว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม ระหว่างช่วงความสัมพันธ์ชะงักงันนี้ ก็ยังมีการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประชาชน ทั้งด้านการค้าขายระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษา ฯลฯ

จนกระทั่งการเมืองโลกคลี่คลาย ประเทศไทยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ก็ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันในปี พ.ศ. 2518

จากนั้นมา ความสัมพันธ์ไทย-จีนก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยมีพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชกรณียกิจด้านจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เป็นใจกลางกระชับสัมพันธ์ที่มั่นคงแน่นแฟ้นตลอดมา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นหนึ่งในผู้นำสูงสุดของต่างประเทศไม่กี่คน ที่พบปะกับเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อเติ้งได้กลับมากุมอำนาจใหญ่เหนือแผ่นดินจีนในเดือนพ.ย. พ.ศ. 2521 (ค.ศ.1978) หลังสิ้นยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม ช่วงนั้นเติ้งได้เยือนประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยก็เป็นประเทศแรกที่เติ้งได้มาเยือน ก่อนที่จะไปยังสิงคโปร์ และมาเลเซีย

แม้ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2510 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิใคร่เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ พระองค์ก็ทรงได้พบปะกับผู้นำสูงสุดของจีนเกือบทุกคน ที่มาเยือนประเทศไทย หลังจากที่ไทย-จีน สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว

ลำดับการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างไทยและจีน ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชฯ

ปี พ.ศ.2518: คณะกายกรรมกว่างโจวเยือนประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า "จีนกับไทยได้รักษาความผูกพันทางประวัติศาสตร์มาช้านาน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและระหว่างประชาชนของสองชาติ มีความใกล้ชิดแนบแน่น ดังนั้น ความสัมพันธ์ดั้งเดิมระหว่างสองประเทศนี้ จะเป็นพื้นฐานอันมั่นคงในการพัฒนาความสัมพันธ์กันในอนาคต"
ภาพ 1
ปี พ.ศ. 2519: นาย ไฉ เจ๋อหมิน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนแรก ได้เข้าถวายสาส์นตราตั้งต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2519 (ภาพ 1)

ปี พ.ศ. 2521: จีนได้ส่งผู้นำระดับสูง ได้แก่ นายเติ้ง เสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรีจีน เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 5-11 พ.ย. พ.ศ.2521 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายเติ้ง เสี่ยวผิงเข้าเฝ้า เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการพัฒนาการเกษตร

ระหว่างที่เยือนประเทศไทย 5 วัน เติ้งได้สนทนากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และยังได้ทรงเชิญผู้นำเติ้งเข้าร่วมพระราชพิธีผนวชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2521

เติ้งได้ตอบรับคำเชิญ และเป็นผู้นำคนหนึ่งที่ได้ถวายผ้าไตรแด่พระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่สื่อจีนระบุในเวลาต่อมาว่า “เติ้งได้ชนะใจประชาชนชาวไทย”
ภาพ 2
ปี พ.ศ. 2523: นาย เติ้ง อิ่งเชา รองประธานสภาผู้แทนประชนแห่งประเทศจีน เดินทางมาเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของรัฐสภาไทยระหว่างวันที่ 5-11 ก.พ. พ.ศ. 2523 ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้นายเติ้ง อิ่งเชา กับคณะเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2523 (ภาพ 2)
ภาพ 3
ปี พ.ศ. 2530: ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม พ.ศ. 2530 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงเป็นผู้แทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ โดยในวันที่ 24 ก.พ. พ.ศ. 2530 นาย หลี่ เซียนเนี่ยน ได้จัดพิธีต้อนรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ณ จัตุรัสทางตะวันออกของมหาศาลาประชาคมกรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ทรงพบนายเติ้ง เสี่ยวผิง ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง (ภาพ 3)
ภาพ 4
ปี พ.ศ. 2534: นาย หยาง ซ่างคุน ประธานาธิบดีจีน เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10-15 มิ.ย. 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเลี้ยงรับรองประธานาธิบดี หยาง ซ่างคุน ณ พระที่นั่งจักรีมหาประสาท พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. พ.ศ. 2534 (ภาพ 4)
ภาพ 5
ปี พ.ศ. 2535: วันที่ 22 ตุลาคม 2535 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการเสด็จ ฯ แทนพระองค์ ... ทรงเป็นอาคันตุกะของรัฐบาลจีน เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) (ภาพ 5)
ภาพ 6
ปี พ.ศ. 2542: ระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย. พ.ศ. 2542 นายเจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดีจีนได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายเจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดี และภริยา นาง หวัง เย่ผิง เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2542 ณ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ (ภาพ 6)
ภาพ 7
ปี พ.ศ. 2543 : สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงเป็นผู้แทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีนครั้งแรก ตามคำเชิญของนาย เจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดีจีน เนื่องในวาระครบรอบ 25 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยนายหู จิ่นเทา รองประธานาธิบดีจีน เป็นตัวแทนของนายเจียง เจ๋อหมิน ได้จัดพิธีถวายการต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถอย่างสมพระเกียรติ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ทางตะวันออกของมหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. พ.ศ. 2543 (ภาพ 7)
ภาพ 8
สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายเจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดี เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 16 ต.ค. พ.ศ. 2543 ณ เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง (ภาพ 8)
ภาพ 9
ปี พ.ศ. 2544: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายจู หรงจี เข้าเฝ้า ที่พระตำหนักไกลกังวล หัวหิน (ภาพ 9)
ภาพ 10
ปี พ.ศ. 2545: นาย หลี่ เผิง ประธานสภาประชาชนจีน ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 3-8 ก.ย. พ.ศ. 2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายหลี่ เผิง เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2545 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (ภาพ 10)
(ภาพ 11)
ปี พ.ศ.2546 : นาย หู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีน ได้เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 17-21 ต.ค. พ.ศ.2546 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงเป็นผู้แทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปให้การต้อนรับนายหู จิ่นเทา ที่สนามบินดอนเมืองในวันที่ 17 ต.ค. พ.ศ.2546 (ภาพ 11)
(ภาพ 12)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีน และภริยา เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 17 ต.ค. พ.ศ.2546 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (ภาพ 12)


กำลังโหลดความคิดเห็น