เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์--สื่อทางการจีนออกโรงยืนยันครั้งแรกเมื่อวันพุธ (27 ก.ค.) เครื่องบินขับไล่ J-15 ผลิตในจีน ประสบอุบัติเหตุระหว่างการฝึกซ้อมเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับสูญเสียนักบินเครื่องบินรบมือดี
อุบัติเหตุเครื่องบินขับไล่ เจ 15 ที่จะเป็นฝูงบินหลักประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ระหว่างการทดลองบินนี้ จะสร้างปัญหาชะงักงันให้แก่การพัฒนาเครื่องบินขับไล่ ยุทธศาสตร์น่านน้ำทะเล และโครงการเรือบรรทุกเครื่องบิน
ทั้งนี้จีนกำหนดให้ “เจ 15” เป็นฝูงเครื่องบินรบหลักประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินที่จีนกำลังพัฒนาขึ้นเอง
สถานีวิทยุจีน (China National Radio) เผยเมื่อวันพุธ(28 ก.ค.) ว่านักบินมือหนึ่งประจำเครื่องบินขับไล่ เจ-15 เสียชีวิต เนื่องจากไม่อาจควบคุมการบินในขณะฝึกซ้อมการนำเครื่องบินรบลงจอดบนดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบินที่ฐานทัพแห่งหนึ่งภายในประเทศ
“ขณะที่จาง เชา กำลังซ้อมนำเครื่องบินขับไล่ลงจอดบนดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบินเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ระบบควบคุมการบินด้วยคอมพิวเตอร์ (fly-by-wire flight control system) ก็เกิดขัดข้อง
ในวินาทีวิกฤตนี้เอง จางได้พยายามอย่างสุดความสามารถในการรักษาเครื่องบิน เมื่อตะเกียบวาล์ว (Push rod) เสีย เขาก็ได้ดีดตัวออกมา และเสียชีวิตจากการบาดเจ็บระหว่างลงจอด” รายงานระบุ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารในมาเก๊า นาย แอนโทนี่ หว่อง ตง (Antony Wong Dong) เตือนว่าอุบัติเหตุที่ร้ายแรงนี้ บ่งชี้มาตรฐานเครื่องบินขับไล่ เจ-15 ยังไม่สูงพอสำหรับเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งสร้างความผิดหวังแก่นาวีจีน”
“เช่นเดียวกับอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติการซ้อม เครื่องบินขับไล่ ซู-27 ในทศวรรษที่ 1980 สาเหตุของเครื่องบินตกในกรณี เจ-15 มาจากความล้มเหลวของระบบบังคับเครื่องบิน หรือไม่ก็ปัญหาคุณภาพการผลิต”
นักสังเกตการณ์ด้านการทหารบางกลุ่ม กล่าวว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะต้องทบทวนแผนประจำการเครื่องบินขับไล่ เจ -15 แต่หว่องกล่าวว่าการเลิกล้มแผนจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเท่าที่เห็นไม่มีแผนสำรองไว้เลย ดังนั้นกองทัพจีนจะไม่ทิ้งแผนเดิม แต่จะถูกบีบให้เดินหน้าการสร้างเครื่องบินขับไล่ รุ่น J-15s
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมแดนมังกรเผยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า จีนกำลังสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง ซึ่งจะเป็นลำแรกที่สร้างในประเทศจีน โดยจะมีการปรับเปลี่ยนแบบการขึ้นบินแบบสกี้-จัมพ์ (ski-jump take-off) ที่กลุ่มนักวิเคราะห์มองว่าเหมาะกับ เจ- 15 และคาดกันว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน “เมด อิน ไชน่า” จะแล้วเสร็จในปี 2563