xs
xsm
sm
md
lg

เพนตากอนชี้โครงการ F-35 ยังมีปัญหาอื้อ-ระบบดีดตัวบกพร่องทำนักบินเสี่ยง “คอหัก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานซึ่งระบุว่า โครงการพัฒนาสุดยอดเครื่องบินขับไล่ F-35 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองที่สุดในประวัติศาสตร์ของเพนตากอน ยังคงเผชิญปัญหาทางเทคนิค “ร้ายแรง” หลายอย่างที่ต้องได้รับการแก้ไข

เครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์และสามารถขึ้น-ลงในแนวดิ่งได้ ถูกคาดหวังให้เป็นสุดยอดอากาศยานทางทหารที่จะดำรงไว้ซึ่งแสนยานุภาพทางอากาศที่เหนือกว่าของอเมริกาไปตลอดหลายปีข้างหน้า

รายงานของเพนตากอน ระบุว่า วิศวกรตรวจพบข้อบกพร่องหลายอย่างขณะทำการบินทดสอบ F-35 จอยต์ สไตร์ค ไฟเตอร์ หลังจากที่เคยเจอปัญหาอื่นๆ มาแล้วสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไวรัสในซอฟต์แวร์ เหตุขัดข้องทางเทคนิค รวมถึงค่าใช้จ่ายที่บานปลาย

ข้อมูลซึ่งอาจเป็นที่น่าตกตะลึงที่สุดในรายงานชิ้นนี้ก็คือ ผลการทดสอบระบบดีดตัวนักบิน (eject system) โดยวิศวกรพบว่า นักบิน F-35 ที่น้ำหนักตัวไม่ถึง 136 ปอนด์ (62 กิโลกรัม) เสี่ยงได้รับบาดเจ็บที่คอจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เมื่อประสบเหตุฉุกเฉินให้ต้องสละเครื่อง

“ผลการทดสอบพบว่า ที่นั่งนักบินจะพลิกไปด้านหลัง ซึ่งจะทำให้ลำคอของนักบินถูกกระชากในลักษณะเงยหน้าและคางชี้ขึ้น” รายงานระบุ

นอกจากนี้ยังพบว่า F-35 รุ่นหนึ่งที่ผลิตสำหรับใช้งานในหน่วยนาวิกโยธิน “ยังมีข้อบกพร่อง และมีศักยภาพในการต่อสู้ที่จำกัด” ส่วนรุ่นสำหรับใช้งานในกองทัพอากาศ “ก็พบข้อบกพร่องลักษณะเดียวกัน” ซึ่งปัญหาทั้งหมดอาจแก้ไขไม่ทันกำหนดเปิดตัว F-35 ที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุไว้ในช่วงปลายปีนี้

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตั้งวงเงินงบประมาณไว้เกือบ 400,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการผลิตเครื่องบิน F-35 รวมทั้งสิ้น 2,443 ลำ หรือสนนราคาลำละ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,000 ล้านบาท) แต่การที่โครงการล่าช้าออกไปมีแนวโน้มจะทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นไปอีก

ล็อกฮีดมาร์ติน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์อันดับ 1 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ผลิต F-35 ออกมาตั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ F-35A ซึ่งเป็นรุ่นมาตรฐาน, F-35B ซึ่งใช้ทางวิ่งขึ้นและร่อนลงระยะสั้น (short take-off) และสามารถขึ้นลงแนวดิ่งได้ และ F-35C ซึ่งใช้กับเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยจะผลิตเพื่อใช้ในกองทัพสหรัฐฯ และอีก 8 ประเทศที่เป็นหุ้นส่วนโครงการ ได้แก่ อังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา, เดนมาร์ก, นอร์เวย์, อิตาลี, ตุรกี และเนเธอร์แลนด์

โครงการพัฒนา F-35 ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาขัดข้องทางเทคนิคเรื่อยมา และเมื่อปี 2014 ก็เกิดเหตุเครื่องยนต์ลุกไหม้ที่ฐานทัพอากาศในรัฐฟลอริดา จนกองทัพต้องสั่งระงับการนำ F-35 ทุกลำขึ้นบิน

หลังเพนตากอนเผยแพร่รายงานเมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.) พล.ท. คริส บ็อกแดน เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ F-35 ก็ได้ออกมาแถลงสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่าย โดยระบุว่า ข้อมูลที่เปิดเผยมาทั้งหมดนั้น “ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ”

“ปัญหาทุกอย่างที่ถูกเอ่ยถึงในรายงานชิ้นนี้ เรา กองทัพ หุ้นส่วนต่างชาติ และทีมอุตสาหกรรมการบิน ต่างทราบดีอยู่แล้ว” เขากล่าว พร้อมระบุว่าในรายงาน “ก็มีส่วนที่ชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าของโครงการด้วยเช่นกัน”




กำลังโหลดความคิดเห็น