MGR ONLINE--พญามังกรประกาศความสำเร็จในการทดลองยิงจรวดหรือยานขนส่งยานอวกาศรุ่นใหม่ล่าสุด ลองมาร์ช-7 หรือ ฉางเจิง-7 ในคืนวันเสาร์ (25 มิ.ย.) พร้อมกับเผยแผนส่ง “จอมพลังเฮอร์คิวลิส” จรวดขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดคือ ลองมาร์ช 5 ภายในปลายปีนี้
ทั้งนี้ ก้าวแรกของความสำเร็จในภารกิจส่งยานอวกาศไปปฏิบัติการนอกโลกนั้น ขึ้นกับจรวดขนส่ง จีนได้พัฒนาจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช (Long March) หรือชื่อจีนคือ ฉางเจิง (长征/Changzheng ชื่อย่อ CZ) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960
จรวดขนส่ง ลองมาร์ช 5 จะบรรทุกน้ำหนักได้ถึง 25 ตัน เข้าสู่วงโคจรวงโคจรระยะต่ำ (Low Earth Orbit) โดยจะยิงขึ้นจากศูนย์ส่งดาวเทียมเหวินชางในมณฑลไหร่หนัน (ไหหลำ) นาย เหวิน จิ้งจง เจ้าหน้าที่อาวุโสของศูนย์ส่งอาวเทียมซีชาง กล่าวในที่ประชุมข่าวหลังจากที่ส่งจรวดขนส่งลองมาร์ช 7 สำเร็จ
สำหรับลองมาร์ช 7 เป็นจรวดขนส่งรุ่นใหม่ของจีน มีขนาด 600 ตันนี้ ความสูง 53.1 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของโมดูลหลัก 3.35 เมตร บรรทุกน้ำหนักสูงสุดขณะวิ่งขึ้น (maximum take-off weight) เท่ากับ 597 ตัน ความสามารถในการบรรทุกน้ำหนักวงโคจรระยะต่ำ (Low Earth Orbit) เท่ากับ 13.5 ตัน
ลองมาร์ช 7 จะใช้เชื้อเพลิงเหลวแบบใหม่ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเชื้อเพลิงที่ใช้กับยานขนส่งฯรุ่นก่อนหน้า ลองมาร์ช 7 จะบรรทุกห้องทดลองของปฏิบัติการยานอวกาศในรุ่นต่อไป พร้อมกับดาวเทียมขนาดเล็กอีกหลายชุด และในอนาคตก็จะมีบทบาทในการส่งยานบรรทุกสิ่งของไปยังสถานีอวกาศของจีน
“การทดลองจรวดขนส่งครั้งนี้ เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการขุดค้นทางอวกาศจีน” นักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจรวดขนส่งฉางเจิง บอกกับเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์
สำหรับเหวินชาง ในมณฑลไห่หนัน เป็น 1 ใน 4 ศูนย์ส่งดาวเทียมน้องใหม่ล่าสุดของของจีน ส่วนศูนย์ส่งดาวเทียมจีนอีก 3 แห่ง คือ ศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียน ตั้งอยู่ใจกลางทะเลทรายโกบี ในมณฑลกันซู่, ศูนย์ส่งดาวเทียวซีชางตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาที่ห่างไกลในมณฑลเสฉวน และศูนย์ส่งดาวเทียมแห่งที่ 3 คือ ไท่หยวน ในมณฑลซันซี ซึ่งไม่เปิดให้สาธารชนเข้าไปชมการส่งดาวเทียม เนื่องจากความวิตกด้านการทหาร
นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอจัดตั้งศูนย์ส่งดาวเทียมที่ไห่หนันเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เนื่องจากอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรมากกว่า และช่วยประหยัดเชื้อเพลิงในการส่งดาวเทียมมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับการส่งดาวเทียมจากศูนย์ฯอื่นๆ
นอกจากนี้การขนส่งยานอวกาศและชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆศูนย์การผลิตฯในเทียนจิน โดยทางเรือไปยังไห่หนันยังสะดวกมากกว่าอีกด้วย และเศษชิ้นส่วนจรวดที่แตกออกมา ก็จะหล่นไปในมหาสมุทร แทนที่จะตกในเขตในแผ่นดินที่มีประชากนอาศัยอยู่
แต่รัฐบาลก็ผลัดเลื่อนแผนการตั้งศูนย์ส่งดาวเทียมที่ไห่หนัน เพราะกลัวว่าไห่หนันจะตกเป็นเป้าหมายการรุกรานจากต่างชาติได้ง่าย
ในที่สุด จีนก็เริ่มก่อสร้างศูนย์ส่งดาวเทียมเหวินชางในปี 2552 ในเมืองชายฝั่งหลงโหลว