xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางสายไหม ไดอารี่ (5) : คาซการ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยามเช้าของเมืองคาซการ์
ท้องฟ้าดำทะมึนดูน่ากลัว จากมองเห็นไกลๆตาค่อยๆเคลื่อนมาใกล้ สีดำนั้นไม่ใช่มวลเมฆของพายุฝนแต่เป็นทรายจำนวนมากที่ลมหอบมากลายเป็นพายุทราย หรือ Sand storm ที่พร้อมจะพัดกระหน่ำถล่มเมืองคาซการ์ในคลิปวีดีโอผุดขึ้นมาในสมอง

ภาพข่าวดังกล่าวเพิ่งเผยแพร่ออกมาไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่เราจะมาคาซการ์ทำเอาผวาเมื่อเห็นอากัปกิริยาของเพื่อนร่วมคณะที่กำลังจะออกจากอาคารสนามบิน

ไอ้หนุ่มไท่กั๋วแกออกจะเป็นคนเปิดเผยเกินไปแล้ว ไม่มีอะไรปิดบังอำพรางใบหน้า ถ้าเจอมรสุมพายุทรายระหว่างทางไปที่พักจะทำอย่างไร

ทางหนึ่งคิดอย่างหวาดๆแต่ทางหนึ่งก็จำต้องสาวเท้าลากกระเป๋าสัมภาระก้าวเดินตามคณะไป ปลุกพระในใจบอกตัวเอง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด คนเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งเลวร้ายใจดีสู้เสือไว้ยังไงก็ต้องผ่านมันออกไปให้ได้ จะกลัวอะไร

จากสนามบินจนถึงโรมแรมที่พัก ไม่รู้เวลาผ่านไปนานแค่ไหนจากฟ้าสลัวกลายเป็นมืดสนิท ไม่มีอะไรน่ากลัว ไม่มีพายุทราย มีแต่แสงไฟยามราตรีของเมืองที่ดูไปอ่อนโยนอบอุ่นเหมือนไฟของบ้านที่คุ้นเคย ค่อยปลอบโยนหัวใจที่ไหวหวาดให้รู้สึกว่าค่ำคืนนี้คงนอนหลับฝันดี

เช้าวันรุ่งขึ้น ลุกขึ้นมาชงชาเรียกความสดชื่นทดแทนกาแฟเช่นเคย จากนั้นเดินไปจัดแจงเปิดหน้าต่าง มุ่งหวังชื่นชมทิวทัศน์ของเมืองในมุมสูงแต่แล้วก็สตั๊นท์ไปสามวิกับสิ่งที่เห็นอยู่ไกลๆ

สุดขอบฟ้าไกล เห็นภูเขาสีขาวทอดตัวยาวเหยียด แดดยามเช้าของเมืองส่องสาดตึกรามบ้านช่องด้วยสีส้มอ่อนๆ ต้องเบิกตามองรำพึงรำพัน นี่จะสวยอะไรเบอร์นั้น

หนังสือนิยายจีนอิงประวัติศาสตร์ที่ติดตัวมาด้วยวางคู่กับถ้วยชา ถ่ายรูปและโพสต์ลงอินสตราแกรม แชร์ต่อไปเฟซบุ๊ค บอกบรรดาเพื่อนๆ อยากให้มาอยู่ด้วยกันจัง

ยิ่งคอนิยายจีนเหมือนๆกัน โมเม้นต์นี้ต้องประหวัดคิดถึงภารกิจของตัวเอกในนิยายที่ถูกส่งออกนอกด่านมายังแดนซีอวี้(ตะวันตก)อีกแล้ว หลังจากรอนแรมเดินทางไกล ตกระกำลำบากมาตลอดทางพอได้เห็นทิวทัศน์ที่ชวนให้หลงไหลเคลิบเคลิ้มอย่างลืมตัวเช่นนี้ เหนื่อยก็หายเป็นปลิดทิ้ง นับว่าธรรมชาติฟ้าดินปราณี อยากจะเหม่อมองอยู่อย่างนั้นทั้งวันไม่อยากจะไปไหน

จนใจที่โปรแกรมสำรวจเมืองคาซการ์วันนี้แน่นขนัดแต่ก็ล้วนน่าสนใจ

….

เช้าออกจากโรงแรมที่พัก นั่งรถเข้าเมืองไปตรงไปยังบริเวณเมืองเก่า เข้าร่วมพิธีเข้าเมืองผ่านประตูตะวันออกที่เรียกว่า จัตุรัสเยาวชน หรือ อา เร่อ ย่า ในภาษาถิ่น

ที่ประตูเมืองมีขบวนต้อนรับแบบพื้นเมืองเอิกเกริก อึกทึกครึกโครม เสียงปี่กลองมโหรีระรัวพร้อมกับศิลปการร่ายรำของเหล่าสาวงามขบวนแล้วขบวนเล่า กระตุ้นเลือดลมไอ้หนุ่มไท่กั๋วให้พลุ่งพล่าน น่าสนใจจริงๆเมืองนี้

เดินผ่านประตูเมืองรู้สึกย้อนยุคหลุดเข้าไปยังหลายพันปีก่อน ที่นี้เป็นเมืองเก่า รัฐบาลจีนกันไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สำหรับการศึกษาวิถีชีวิตของชาวเมืองคาซการ์ซึ่งก็เป็นชาวอุยกูร์เสียเป็นส่วนใหญ่เหมือนอูหลูมู่ฉี

เมืองเก่า วีถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดมานานหลายชั่วอายุคน อาจบางทีผ่านมานานนับร้อยปีพันปีของอารยธรรมเส้นทางสายไหมโบราณย่อมมีเสน่ห์ที่ยากจะพบพาน

ช่วงจังหวะที่เรามาถึงพอดีกับการเริ่มต้นชีวิตประจำวันของคนเมืองเก่า ลุงผู้สูงวัยนั่งอยู่กับหลานจิบน้ำชารอลูกค้าเข้ามาดูเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบแบบอาหรับ พ่อครัวสองสามคนกำลังขมักเขม้นกับการปั้นนานทรงกลมคล้ายซาลาเปายัดไส้แพะแล้วนำไปอบโอ่ง กลิ่นโชยหอมหวนชวนรับประทาน เพื่อนในคณะหลายคนอดรนทนยั่วยวนไม่ไหวควักเงินซื้อไปคนละลูกสองลูกในราคาไม่แพงแค่ 5 หยวน(25บาท)

ใกล้กันเป็นช่างทำเกือกม้าสองสามคนก็กำลังเริ่มงานของพวกเขาโดยมีเหล่านักข่าวสหประชาชาติมุงดูด้วยความสนใจ ที่นี่ยังใช้ม้าลาเป็นพาหนะหลักกันอีกหรือ

ความสงสัยใคร่รู้ทำให้เราต้องถามไกด์ท้องถิ่นที่ร่วมขบวนมาว่า นี่เป็นชีวิตจริงหรือการแสดง ไกด์หนุ่มบอกด้วยความภาคภูมิว่า เป็นวิถีชีวิตจริงที่ถึงแม้ว่าความเจริญจะแผ่ขยายมาแค่ไหนแต่คนคาซการ์ยังไม่ลืมวิถีเดิม ต่างพึ่งพาม้าลาในการใช้งาน หากคุณเดินต่อไปเรื่อยๆในเมืองเก่าก็จะเห็นเอง

จริงอย่างที่เขาว่า ถนนในหมู่บ้านเมืองเก่าไม่อนุญาตให้รถเข้ามาวิ่ง หรือ เป็นถนนคนเดิน แต่ลาเทียมเกวียน หรือ ม้าเทียมรถลากสามารถบรรทุกข้าวของผ่านเข้าออกวิ่งได้ตามสบาย

นอกจากร้านของช่างเหล็กที่ทำเกือกม้า ในเมืองเก่ายังมีร้านเครื่องเหล็กอีกหลายร้านที่รับทำสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน ที่ขายดีที่สุดไกด์บอกว่า เป็นเหล็กที่ใช้สำหรับทำอาหารพวกปิ้งย่างหรือเคบั๊บ อาหารยอดนิยมของคนซินเจียง

เดินมาถึงตรงกึ่งกลางของหมู่บ้านเมืองเก่า พวกเขาชักชวนเราให้แวะ จิบน้ำชา และ นาน เป็นของว่าง ที่บ้านเก่าหลังหนึ่งที่วันนี้เปิดเป็นเกสต์เฮ้าส์ ที่พักให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกับเมืองเก่าและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวคาซการ์สามารถนอนค้างแรมเพื่อความใกล้ชิดสนิทสนม

แรกที่มุดเข้าไปในห้องพักที่ตกแต่งเหมือนอยู่ในกระโจม นั่งจิบชา และ ของว่าง ยังมีคำถามในใจว่า จะมีใครสักกี่คนมาพัก แต่ภายหลังเดินชมและศึกษาเมืองเก่า พบว่า หากต้องการสัมผัสวิถีชีวิตของคนที่นี่ต้องใช้เวลาตลอดทั้งวันหรือมากกว่านั้น พักที่นี่จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

….

หลังอาหารกลางวัน เราเดินชมเมืองเก่าอีกฝาก

เริ่มต้นที่ ตรอกอาถู เป็นย่านอีกย่านหนึ่งที่คึกคักกว่าเมื่อช่วงเช้าเนื่องจากมีลักษณะเป็นตลาดผู้คนมาจับจ่ายเดินดูสินค้าที่บรรดาช่างฝีมือทั้งหลายถ่ายทอดวิทยายุทธ์ออกมาเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ล้ำค่าจนถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม เพียงแค่เดินชมก็คล้ายพลัดหลงเข้าไปในยุคเส้นทางสายไหมโบราณตอนรุ่งเรือง

เดินไปตามทางอย่างเพลิดเพลินเวลาผ่านไปรวดเร็วเข้าสู่ตรอกปาเก๋อ ที่นี่มีโรงน้ำชามีชื่อแห่งหนึ่งอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี กิจการคึกคักมาก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นซึ่งไม่ว่าจะยากดีมีจนทุกคนต่างสวมเสื้อสูทแบบเดียวกันเดินขึ้นลงโรงน้ำชาขวักไขว่

ในมือแต่ละคนกำเงินหยวนคนละ 5 หยวน 10 หยวนไว้จ่ายค่ากาน้ำชาให้เจ้าของร้านที่ตั้งโต๊ะรอเก็บเงินแล้วเลือกทำเล รอคนยกกาน้ำชาไปเสิร์ฟตามที่นั่งซึ่งก็มีทั้งแบบเป็นพื้นยกสูงให้นั่งล้อมวงกันได้หลายๆคน หรือ นั่งโต๊ะธรรมดา

ตรงกลางลานที่ขนาดไม่กว้างมากนักแบ่งไว้สำหรับให้แขก-ลูกค้าลุกขึ้นมาร้องรำ สนุกไปกับดนตรีพื้นบ้านที่มีนักดนตรีรุ่นลายครามบรรเลงอย่างช่ำชอง บรรยากาศครื้นเครง ผสมกับเสียงพูดคุย กันอย่างออกรส มันเป็นความบันเทิง ความผ่อนคลายในคราเดียวกัน

บรรยากาศเช่นนี้จะดีแค่ไหนหากเป็นฤดูหนาวที่ข้างนอกหนาวเหน็บ หิมะโปรยปราย ได้จิบชากับสหายผู้รู้ใจ ชีวิตเรียบง่ายเช่นนี้ใครๆก็ปราถนา นั่นเป็นภาพฝัน แต่ที่เราเป็นอยู่ตอนนี้คือช่วงฤดูใบไม้ผลิ แดดจัด อุณหภูมิของช่วงบ่ายค่อนข้างร้อน คนเดินไปเดินมากันทั้งวัน บนโรงน้ำชาต้องถอดรองเท้า

อารมณ์ที่ควรรื่นรมย์เต็มเปี่ยมก็บ่มิสมลงเพียงเพราะกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์บ้างเล็กน้อย

---

เย็นค่ำ ก่อนจะสิ้นสุดวัน เหมือนฟ้าดินจะหยั่งรู้ จิตใจคนที่พลุ่งพล่านมาทั้งวันควรกลับคืนสู่ความสุขสงบ คาราวานคณะนักข่าวเข้าถูกพาเข้าศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ใจกลางเมืองคาซการ์ นั่นคือมัสยิดอ้ายถีก่าเอ๋อ(艾提尕尔)

มัสยิดอ้ายถีก่าเอ๋อ เป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในจีนด้วยพื้นที่กว่า 16,800 ตารางเมตร และ เก่าแก่มากถูกวางโครงสร้างมาตั้งแต่ปีค.ศ. 996แล้วมาก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 1442 จากการออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สะท้อนถึงอารยธรรมของอุยกูร์ และความแข็งแกร่งของศาสนามุสลิมในคาซการ์

ภายในมีลานขนาดใหญ่ก่อนไปถึงตัวมัสยิดดูสงบร่มรื่นด้วยต้นไม้ หลังคาสีฟ้าอ่อน ตัดกับสีเขียวของเสาทรงสี่เหลี่ยมแกะสลักสวยงาม ผนังมีลวดลายของกระเบื้องวิจิตรบรรจง บนพื้นปูพรหมนั่งไว้ด้วยชาวบ้านที่มาอฐิษฐานขอพร สวดมนต์ ทุกๆวันศุกร์จะมีมุสลิมจากทั่วทุกมุมเมืองคัซการ์และใกล้เคียงเดินทางมาที่นี่กว่า10,000 คนหรือบางครั้งมากถึง20,000 คน

ในสถานที่ทั้งเก่าแก่ และ ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ เพียงหลับตามีสมาธิ ใจก็เป็นสุขแล้ว.

----------
(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในวันพฤหัสบดี)

อ่านย้อนหลัง : ตอนที่ 1 เส้นทางสายไหมไดอารี่:ไม่ถึงซินเจียงไม่รู้ความไพศาลของผืนแผ่นดิน

:ตอนที่ 2 เส้นทางสายไหมไดอารี่(2) : ล้อหมุน

ตอนที่3 : เส้นทางสายไหม ไดอารี่ (3) อูหลู่มู่ฉีวัฒนธรรมพันปีมีอยู่ทุกที่ ทุกเวลา

ตอนที่ 4 เส้นทางสายไหมไดอารี่(4) : หุยชางจี๋ และ ความฝันครั้งใหม่

ขบวนสาวงามในพีธีต้อนรับแขกผู้มาเยือนของเมืองเก่า


ช่างทำเกือกม้า
พ่อค้าเนื้อแพะ

ร้านจำหน่ายวัสดุตกแต่งบ้านทำจากเหล็ก
เครื่องปั้นดินเผาสไตล์อาหรับ
ร้านขายแพรพรรณในเมืองเก่า
ลาเทียมรถลากของชาวบ้าน
ครูพาเด็กนักเรียนในเมืองเก่ามาเรียนนอกห้องเรียน
ตามรายทางของเมืองเก่า

เด็กๆในเมืองเก่าวันนี้
ดอกไม้แห้งและเครื่องหอม สินค้าขายดี
น้ำตาลที่นี่หน้าตาแปลกๆ
ยาอายุวัฒนะ
สินค้าขายดีที่สุด เครื่องมือสำหรับเคบั๊บ
ร้านขายเครื่องใช้ทองแดง
พ่อค้าเสนอขายของที่ระลึกแก่ลูกค้า
ช่างทำเครื่องดนตรีพื้นเมือง
ช่างทำกาน้ำทองแดง ฝีมือระดับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
พ่อค้าหมวกยุค4G
ไม่มีเซเว่น มีแต่ร้านขายของชำแบบดั้งเดิม
โรงน้ำชาอายุร้อยปี
บรรยากาศในโรงน้ำชา
มัสยิดอ้ายถีก่าเอ๋อ  เป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในจีน




กำลังโหลดความคิดเห็น