MGR ONLINE--ช่วงนี้ สามพญามหาอำนาจโลก สหรัฐฯ จีน รัสเซีย ประชันเขี้ยวเล็บทางทหารกันอย่างไม่ลดราวาศอก การแข่งขันด้านอาวุธในเอเชียร้อนฉ่าขึ้นมาอีกเมื่อสหรัฐฯรุกเข้ามาคุยกับพันธมิตรเกาหลีใต้เรื่องแผนการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในบรรยากาศชั้นสูง (Terminal High Altitude Area Defense - THAAD) ในคาบสมุทรเกาหลี เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ที่กำลังทดสอบขีปนาวุธอย่างท้าทายยิ่ง โดยในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โสมแดงได้ทำการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่สี่ ต่อมาช่วงปลายเดือนเม.ย. ยังได้ทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางอีก 2 ครั้ง จากการเปิดเผยของกองทัพสหรัฐฯ
ผู้ที่ร้อนตัวที่สุดคือ จีนและรัสเซีย เนื่องจากระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD มีขอบข่ายปฏิบัติการกว้างไกลครอบคลุมถึงดินแดนบางส่วนของแผ่นดินใหญ่และแดนหมีขาว
เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จีนและรัสเซีย ได้ทดสอบยานรบความเร็วเหนือเสียง หรือยานซูเปอร์โซนิก (hypersonic glider vehicle/HGV) เพื่อเตรียมรับมือกับแผนการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ
เว็บไซต์ข่าวค่ายหนังสือพิมพ์ประชาชน หรือ พีเพิล เดลี กระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกข่าวเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ประกาศความสำเร็จในการทดลองเที่ยวบินของยานรบซูเปอร์โซนิกรุ่นใหม่ คือ DF-ZF ซึ่งมีอัตราเร็ว 5 มัค* (6,174 กม./ชั่วโมง) ถึง 10 มัค (12,348 กม./ชม.) โดยเป็นการทดลองครั้งที่ 7 ที่อู๋ไจ้ มณฑลซันซี ในสัปดาห์ก่อนหน้าการรายงานข่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มสื่อสหรัฐฯได้ออกมาแสดงความวิตกเกี่ยวกับการทดลองฯนี้ และได้อ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนทากอน กล่าวถึงการทดลองยานซูเปอร์โซนิกของจีนว่าเป็น “ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่อาจติดหัวรบนิวเคลียร์และอาวุธในรูปแบบ” ที่สามารถโจมตีทั่วโลก หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ กลัวว่า จีนอาจจะใช้ DF-ZF “เผด็จศึกอาวุธนิวเคลียร์โดยที่ระบบป้องกันขีปนาวุธรุ่นใหม่ๆก็ทำอะไรไม่ได้” จากรายงานข่าวของ เว็บไซต์ข่าว วอชิงตัน ฟรี เบคอน
ทางจีนนั้นโดยโฆษกกระทรวงกลาโหมได้แถลงยืนยันการทดลองขีปนาวุธที่พุ่งซัดด้วยความเร็วเหนือเสียงนี้ตั้งแต่เมื่อต้นปีที่แล้ว และว่าการทดลองฯนี้ไม่ได้มีเป้าหมายโจมตีประเทศใด เป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น
นอกจากนี้ วอชิงตัน ฟรี เบคอน อ้างอิงแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันพุธ(20 เม.ย.) ว่า กองทัพจีนได้ทำการทดลองยิงขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป รุ่น ตงเฟิง-41 (DF-41) เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นการทดลองครั้งที่ 7
ตงเฟิง-41 มีพิสัยการยิงไกลอย่างน้อย 12,000 กม.ซึ่งสามารถโจมตีทุกเขตในสหรัฐฯ ภายในเวลาประมาณ 30 นาที ระบบขีปนาวุธตงเฟิง-41 มียานลำเลียงสองเครื่องติดตั้งระบบ MIRV โดยยานแต่ละลำสามารถติดตั้งหัวรบได้หลายหัว รวมทั้งหัวรบนิวเคลียร์ หัวรบเหล่านี้สามารถโจมตีเป้าหมายอย่างอิสระ
ด้านพญามังกรได้ยืนยันข่าวการทดลอง ตงเฟิง -41 และโต้สหรัฐฯที่ออกข่าวโวยเรื่องการทดลองขีปนาวุธจีน ว่าเป็นการทดลองขีปนาวุธตามปกติ ซึ่งก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรม
“ข่าว เบคอน” ยังเผยว่าสามวันก่อนหน้าที่จีนทำการทดลอง DF-ZF พญาหมีขาวก็ทดลองยานซูเปอร์โซนิก 3M22 Zircon ซึ่งเป็นการทดลองครั้งที่ 2
รายงานคณะกรรมาธิการความมั่นคงและเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯในกรุงวอชิงตันระบุถึงการพัฒนา DF-ZF ว่ามีการทดลองครั้งแรกในเดือน ม.ค. 2557 และได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะพร้อมประจำการในปี พ.ศ. 2563 ขณะนี้จีนยังกำลังพัฒนายานซูเปอร์โซนิกเวอร์ชั่นใหม่ที่ทรงพลังกว่า ซึ่งอาจเปิดตัวในปี พ.ศ. 2568
นิตยสารด้านการป้องกันและการทูตสหรัฐฯ The National Interest รายงานการคาดการณ์ว่ายาน 3M22 ของพญาหมีขาว จะเข้าสู่ขั้นการผลิตในปีพ.ศ. 2561
มังกร-หมีขาว ประกาศขยายความร่วมมือทางทหาร
พญามังกรและพญาหมีขาว ประกาศชัดเจนเรื่องจับมือกันต่อกรกับพญาอินทรี เมื่อวันศุกร์ที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งรัสเซีย นาย เซอร์เก ลาฟลอฟ เยือนปักกิ่ง และได้ออกมาแถลงพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศจีน นาย หวัง อี้ ว่าแผนการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯในเกาหลีใต้ จะ “ทำลายดุลยภาพทางยุทธศาสตร์” ในอาณาบริเวณ
“สหรัฐฯไม่อาจใช้การทดลองขีปนาวุธของเปียงยาง เป็นข้ออ้างในการขยายกองกำลังในอาณาบริเวณ” รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ลาฟรอฟ กล่าวในการแถลงข่าวร่วมฯที่กรุงปักกิ่ง
ด้านสหรัฐฯที่กำลังนัดคุยกับโสมขาวเรื่องการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธฯ กล่าวว่า THAAD สามารถทำลายขีปนาวุธนำวิถีในระยะสุดท้ายก่อนที่จะโจมตีถึงเป้าหมาย โดยเป็น “มาตรการป้องกัน” การยั่วยุจากเกาหลีเหนือ
แต่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางทหารชี้ว่า ระบบเรดาร์อันซับซ้อนของสหรัฐฯที่จะติดตั้งในคาบสมุทรเกาหลี มีรัศมีปฏิบัติกว้างไกลไปถึงดินแดนบางส่วนของจีนและรัสเซีย
รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ กล่าวว่าการติดตั้งระบบ THAAD นั้น เกินขอบเขตของความจำเป็นในการป้องกัน และ “ส่งผลกระทบโดยตรง” ต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงของทั้งจีนและรัสเซีย
หวัง อี้ ยังกล่าวว่า คาบสมุทรเกาหลีตกอยู่ในสถานการณ์ “เสี่ยงอันตรายมาก” และเรียกร้องการใช้มาตรคว่ำบาตรของสหประชาชาติ เพื่อหยุดเกาหลีเหนือพัฒนาโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์ ขณะเดียวกันทุกฝ่ายก็ต้องหยุดยั้งการเคลื่อนไหวที่จะทำให้สถานการณ์บานปลาย
ในการแถลงข่าวร่วมฯรัฐมนตรีจีนและรัสเซีย เรียกร้องการกลับมาถกเถียงการแก้ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีบนเวทีการเจรจา 6 ฝ่าย ที่หยุดชะงักมานาน ได้แก่ สองเกาหลี จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
จีนยังได้เรียกเสียงสนับสนุนจากรัสเซีย ในศึกวิวาทะกับฟิลิปปินส์กรณีพิพาทกรรมสิทธิ์ดินแดนที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ ทะเลจีนใต้ และลาฟรอฟก็กล่าวสนับสนุนปักกิ่ง และว่าความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นี้ ไม่ควรทำให้กลายเป็นประเด็น “นานาชาติ” หรือมีการแทรกแซงจากผู้เล่นภายนอก
อีกด้านหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกลาโหมจีน รัสเซีย ยังมีการแถลงร่วมกันในกรุงมอสโคว่า ทั้งสองจะขยายการซ้อมรบระหว่างกองทัพ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันและความมั่นคง
สำหรับการมาเยือนปักกิ่งของรัฐมนตรีแดนหมีขาวครั้งนี้ ยังเป็นการเตรียมการสำหรับการเยือนจีนของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ในเดือนมิ.ย.นี้ด้วย
*มัค (Mach) เป็นหน่วยวัดความเร็วจรวดและเครื่องบิน หนึ่งมัคเท่ากับหนึ่งเท่าของความเร็วเสียง ซึ่งมีอัตราเร็วประมาณ 343.2 เมตรต่อวินาที หรือเกือบ 1,235 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราเร็วมากกว่าหนึ่งมัค เป็นความเร็วเหนือเสียงระดับซูเปอร์โซนิก (Supersonic speed) ด้วยอัตราเร็วขนาดนี้เครื่องบินออกไปเสียงยังมาไม่ถึง และอัตราเร็วมากกว่า 5 มัค เป็นระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic speed)