xs
xsm
sm
md
lg

แทนซาเนียจัดโทษหนักชาวจีนค้างาช้างเถื่อน 1.8 ตัน นอนคุกยาว 35 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สองจำเลยชาวจีนที่ต้องโทษจำคุก 35 ปี ฐานลักลอบค้างาช้างเถื่อนในแทนซาเนีย (ภาพ ซินหวา)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ศาลในประเทศแทนซาเนียสั่งจำคุกสองชายชาวจีนคนละ 35 ปี ฐานลักลอบค้างาช้างเถื่อนหนัก 1.8 ตัน โดยนับเป็นบทลงโทษขั้นรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในคดีลักษณะดังกล่าวของดินแดนแอฟริกาตะวันออก

เดลี นิวส์ สื่อทางการแทนซาเนียเผย (21 มี.ค.) ว่าศาลแขวงท้องถิ่นของเมืองดาร์ เอส ซาลาม ได้พิพากษาโทษจำคุกนายหวง จิน อายุ 53 ปี และนายสี่ว์ ฝูเจี้ย อายุ 25 ปี จากความผิดฐานครอบครองงาช้าง มูลค่า 5,400 ล้านชิลลิง หรือราว 17.6 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้พิพากษาชี้แจงว่า จำเลยทั้งสองถูกจับกุมตัวได้ที่บ้านพักในเมืองดาร์ เอส ซาลาม เมื่อปี พ.ศ.2556 พร้อมของกลางเป็นงาช้าง 706 ชิ้น โดย ณ เวลานั้นจำเลยแต่ละรายไม่สามารถชดใช้ค่าปรับ จำนวน 54,350 ล้านชิลลิงได้ ทำให้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวนับแต่นั้นมา

“เมื่อพิจารณาหลักฐานและองค์ประกอบที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในชั้นศาล รวมถึงความสูญเสียอันใหญ่หลวงที่ประเทศ (แทนซาเนีย) ต้องเผชิญจากกรณีสังหารช้าง 226 ตัว จึงเป็นที่ชัดเจนว่าข้อกล่าวหานั้นเป็นภัยคุกคามประชากรช้างอย่างแท้จริง” สื่อท้องถิ่นอ้างคำกล่าวของนาย Cyprian Mkeha ผู้พิพากษาศาลฯ

รายงานข่าวเสริมว่า นายสี่ว์ในวัยหนุ่มถึงกับเกือบเป็นลมล้มพับกลางชั้นศาล หลังจากได้รับฟังคำตัดสินโทษจำคุกนาน 35 ปี

ทั้งนี้ ในเดือนต.ค. แทนซาเนียได้ตั้งข้อหาลักษณะเดียวกันกับนางหยัง เฟิง วัย 60 ปีเศษ เจ้าของฉายา “ราชินีงาช้าง” ซึ่งลักลอบค้างาช้าง 706 ชิ้น มูลค่า 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากแทนซาเนียไปยังประเทศจีน โดยปัจจุบันเธออยู่ระหว่างการควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมาย

นอกจากนั้นในเดือนธ.ค. ศาลแขวงทางตอนใต้ของแทนซาเนีย ก็ได้พิพากษาโทษจำคุกกลุ่มชายชาวจีนเป็นเวลา 20 ปี หลังจากพิสูจน์พบความผิดฐานลักลอบค้านอแรด

กรณีการรุกล้ำจับสัตว์ป่าได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเทศแถบแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา ซึ่งเป็นถิ่นฐานของแก๊งอาชญากรรมติดอาวุธครบมือ ที่ออกไล่ล่าฆ่าช้างเอางาฆ่าแรดเอานอ เพื่อส่งขายแก่ลูกค้าในเอเชีย

อ้างอิงผลการสำรวจสำมะโนประชากรช้าง ที่เผยแพร่ในเดือนมิ.ย. ปีก่อน ระบุว่าจำนวนช้างป่าในแทนซาเนียได้ลดลงฮวบฮาบจากราว 110,000 ตัวในปี พ.ศ.2552 เหลือเพียงราว 43,000 ตัวในปี พ.ศ.2557 โดยนักอนุรักษ์ตำหนิว่าเป็นผลพวงจากการล่าสัตว์ป่าเพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น