รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online – ภาคธุรกิจจีนส่ง “จดหมายเปิดผนึก”ถึงรัฐบาลอังโกลาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโชเซ เอดูอาร์โด ดอส ซานโตส เรียกร้องทางการของอดีตดินแดนอาณานิคมของโปรตุเกสแห่งนี้ ให้เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัยของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักธุรกิจจากแดนมังกร หลังเกิดเหตุลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะหลัง ถือเป็นความตึงเครียดที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักระหว่างจีนกับอังโกลาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของแดนมังกรในทวีปแอฟริกา
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวซึ่งถูกร่างขึ้น โดยสมาชิกระดับสูงของ “หอการค้าจีน” ในอังโกลา และถูกส่งในเวลาต่อมาไปยังทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงมหาดไทยของอังโกลา ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลอังโกลาจะต้องตระหนักถึงความสำคัญ ของการลงทุนจากต่างประเทศและควรดำเนินมาตรการที่จำเป็นอย่างทันทีทันใดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของบรรดานักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงชาวจีน จากการตกเป็นเหยื่อของ “คลื่นแห่งการลักพาตัว”
รายงานข่าวระบุว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของภาคธุรกิจจีน มีขึ้นหลังจากที่เหตุลักพาตัวชาวต่างชาติซึ่งรวมถึงชาวจีนในอังโกลาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง จากผลพวงของภาวะเศรษฐกิจอังโกลาที่อยู่ในช่วง “ขาลง” จากการที่ “น้ำมัน” ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอังโกลาและเป็นแหล่งที่มาถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของเงินตราต่างประเทศในประเทศนี้ มีราคาในตลาดโลกตกต่ำ ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
ที่ผ่านมา แก๊งลักพาตัวชาวต่างชาติเพื่อเรียกค่าไถ่ในอังโกลา มักตั้งราคาของค่าไถ่เอาไว้สูงถึง 100 ล้านควาซา (คิดเป็นเงินไทยราว 26.5 ล้านบาท) สำหรับตัวประกันแต่ละราย สร้างความเดือดร้อนให้กับบริษัทเอกชนต่างชาติที่ต้องยอมเสียเงินค่าไถ่ดังกล่าว เพื่อแลกกับความปลอดภัยของบุคลากรของตน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอังโกลา แทบไม่เคยจับกุมสมาชิกขบวนการลักพาตัวชาวต่างชาติเหล่านี้ได้เลย
ทั้งนี้ นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองนาน 27 ปีในอังโกลาสิ้นสุดลงเมื่อปี 2002 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ขยายบทบาทและอิทธิพลของตน เข้าสู่ดินแดนทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการให้เงินช่วยเหลือกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 716,950ล้านบาท) สำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอังโกลา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในบรรดาประเทศแอฟริกา ที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา
ขณะที่บริษัทเอกชนของจีนกว่า 400 แห่ง และบรรษัทที่อยู่ในความควบคุมของทางการจีนอีกราว 50 แห่งได้เข้าไปดำเนินกิจการในอังโกลาในเวลานี้