รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online - องค์การสหประชาชาติออกโรงเตือนโดยระบุว่าความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ “โบโกฮารัม” ในภูมิภาค “ทะเลสาบชาด” อาจกลายเป็นเชื้อไฟที่ผลักดันให้ประชาชนจำนวนหลายล้านคนในภูมิภาคแห่งนี้ของทวีปแอฟริกาต้องอพยพละทิ้งบ้านเรือนของตน และอาจมุ่งหน้าสู่ยุโรป เป็นการซ้ำเติมวิกฤตผู้อพยพอันเลวร้ายที่ชาติในยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้
ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ทั้งไนจีเรีย ไนเจอร์ ชาด และแคเมอรูน ได้ร่วมกันเปิดปฏิบัติการทางทหารตั้งแต่ช่วงต้นปีเพื่อผลักดันนักรบอิสลามิสต์กลุ่มดังกล่าวออกจากแหล่งซ่องสุมหลักทางภาคเหนือของไนจีเรียที่กลุ่มติดอาวุธสุดโต่งนี้ใช้เป็นฐานในการก่อเหตุรุนแรงตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เพื่อจุดมุ่งหมายในการสถาปนาการปกครองแบบรัฐอิสลามเต็มขั้น
อย่างไรก็ดี ปฏิบัติการทางทหารร่วมของประเทศในภูมิภาคทะเลสาบชาด กลับผลักดันให้สมาชิกกลุ่มโบโกฮารัม โหมก่อเหตุรุนแรงหนักขึ้น ทั้งในรูปของการสังหารหมู่ชาวบ้าน และการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย จนส่งผลให้ล่าสุดรัฐบาลของชาด ต้องออกมาประกาศภาวะฉุกเฉินในวันจันทร์ (9 พ.ย.) ที่ผ่านมา ในพื้นที่ที่ติดต่อกับทะเลสาบดังกล่าว
ด้านสำนักงานสหประชาชาติเพื่อการประสานงานกิจการด้านมนุษยธรรม (OCHA) เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2013 เป็นต้นมา มีประชาชนมากกว่า 2.5 ล้านคนต้องอพยพหนีตายออกจากบ้านเรือนของตนใน 4 ประเทศรอบทะเลสาบชาด
โทบี แลนเซอร์ ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติประจำภูมิภาคซาเฮล ซึ่งหมายถึงดินแดนในทวีปแอฟริกาส่วนที่อยู่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา เตือนว่า ผู้อพยพหนีตายจากความรุนแรงที่ก่อโดยกลุ่มโบโกฮารัมอาจผลักดันให้เกิดคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่จากแอฟริกาที่มุ่งหน้าข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าสู่ทวีปยุโรป ยังไม่รวมกับผู้อพยพจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของทวีปแอฟริกา ที่ต้องการอพยพหนีความอดอยากยากจน ภัยแล้ง และความไม่สงบทางการเมือง รวมถึงการขาดโอกาสทางสังคมโดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว
แลนเซอร์พูดถึงเรื่องดังกล่าวก่อนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-แอฟริกา (EU-Africa summit) ว่าด้วยปัญหาผู้อพยพที่จัดขึ้นที่ประเทศมอลตา ซึ่งเป็นที่คาดกันว่าทางอียูจะประกาศตั้งกองทุนมูลค่า 1,800 ล้านยูโรเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เป็นต้นตอของปัญหาผู้อพยพในแอฟริกา
ทั้งนี้ ข้อมูลของสหประชาชาติระบุด้วยว่า ในจำนวนผู้อพยพหนีตายจากความรุนแรงที่ก่อโดยกลุ่มโบโกฮารัมที่มีจำนวนมากกว่า 2.5 ล้านคนแล้วนั้น เป็นผู้อพยพจากไนจีเรีย ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดความรุนแรงนี้มากที่สุดถึง 2.1 ล้านคน ขณะที่ผู้หญิงและเด็กในภูมิภาครอบทะเลสาบชาดได้ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มสุดโต่งดังกล่าวในการลักพาตัว การค้ามนุษย์ การข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศ การถูกบังคับใช้แรงงานทาส ตลอดจนถูกบังคับให้ทำหน้าที่เป็นมือระเบิดฆ่าตัวตาย