รอยเตอร์ - เดนมาร์กแซงหน้าสวิตเซอร์แลนด์ขึ้นไปเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก จากรายงานที่มีการเปิดเผยในวันพุธ (16 มี.ค.) ซึ่งเรียกร้องให้บรรดาชาติต่างๆ อย่ามัวคำนึงถึงแต่ความมั่งคั่ง เพื่อหันมาจัดการกับความไม่เท่าเทียมของผู้คน รวมถึงต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม
จากรายงานที่เตรียมมาโดยเครือข่ายการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีเอสเอ็น) ร่วมกับสถาบันโลกของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แสดงให้เห็นว่า ซีเรีย อัฟกานิสถาน กับอีก 8 ประเทศที่อยู่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา คือ 10 สถานที่ซึ่งมีความสุขน้อยที่สุดในโลกสำหรับการใช้ชีวิต
10 อันดับแรกในปีนี้ ได้แก่ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สวีเดน โดยในปีที่แล้วเดนมาร์กอยู่อันดับ 3 ตามหลังสวิตเซอร์แลนด์ กับไอซ์แลนด์
ส่วนทางด้าน 10 อันดับบ๊วย เรียงจากสูงไปหาต่ำ ได้แก่ มาดากัสการ์ แทนซาเนีย ไลบีเรีย กินี รวันดา เบนิน อัฟกานิสถาน โตโก ซีเรีย และอันดับท้ายสุดก้นตารางคือ บุรุนดี
“นี่เป็นเหมือนข้อความที่หนักแน่นถึงประเทศของผมอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ร่ำรวย มีมหาเศรษฐีจำนวนมากตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีความสุขเพิ่มขึ้นเลย” ศาสตราจารย์ เจฟฟรีย์ แซคส์ จากเอสดีเอสเอ็น กล่าว
แซคส์ หนึ่งในผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ บอกกับรอยเตอร์ขณะให้สัมภาษณ์ที่กรุงโรมว่า ความแตกต่างระหว่างประเทศที่ผู้คนมีความสุข กับประเทศที่ไม่มีความสุขนั้น สามารถวัดได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ เราสามารถทำความเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แล้วก็ลงมือทำอะไรสักอย่าง
“ข้อความสำหรับอเมริกานั้นชัดเจนมาก สำหรับสังคมที่เอาแต่วิ่งไล่ตามเงิน เรามัวแต่ไล่ตามสิ่งผิด โครงสร้างทางสังคมของเรากำลังเสื่อมโทรม ความเชื่อใจกันทางสังคมนั้นย่ำแย่ ศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลนั้นเหี่ยวเฉา” แซคส์กล่าว
ด้วยการมุ่งเป้าสำรวจโดยได้รับการหนุนหลังจากหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อชี้วัดและทำความเข้าใจในเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี รายงานฉบับนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ได้จัดอันดับ 157 ประเทศ ตามระดับของความสุขโดยใช้ปัจจัยต่างๆ เช่น จีดีพี จำนวนอายุขัย ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีการคิดคะแนนจากการนับจำนวนปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงเรื่องการปลอดจากทุจริตทั้งในรัฐบาลและธุรกิจต่างๆ
รายงานฉบับนี้ระบุว่า เมื่อใดที่ประเทศใส่ใจแต่เพียงด้านเดียว อาทิ พัฒนาเศรษฐกิจโดยละเลยเรื่องสังคมและสภาพแวดล้อม ผลที่ได้จะสวนทางต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ถึงขนาดที่จะอันตรายต่อการครองชีพ
มีการระบุอีกว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลายประเทศประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคม ส่งผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
รายงานลักษณะนี้มีขึ้นครั้งแรกในปี 2012 เพื่อสนับสนุนการประชุมของยูเอ็นเรื่องความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้ตอนนี้มี 5 ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน เอกวาดอร์ สกอตแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวเนซุเอลา ได้แต่งตั้งรัฐมนตรีความสุขขึ้นมา พร้อมทั้งให้เรื่องนี้เป็นเป้าหมายสำคัญของการวางนโยบายสาธารณะ
การสำรวจในปี 2016 แสดงให้เห็นว่ามี 3 ประเทศ ได้แก่ ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ ญี่ปุ่น ล้วนสามารถรักษาระดับความสุขไว้ได้เท่าเดิม ด้วยการสนับสนุนทางสังคมและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แม้จะเกิดเหตุที่สร้างความตื่นตระหนก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจหลังปี 2007 รวมถึงแผ่นดินไหวในปี 2011
แซคส์ได้ชี้ให้เห็นว่า คอสตาริกา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 14 นั้นสามารถแซงหน้าประเทศที่ร่ำรวยได้หลายประเทศ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าสังคมที่แข้มแข็งและมีความสุขสามารถเกิดขึ้นได้ แม้จะไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ