เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - พญามังกรกำลังสร้างกองเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยมีแผนส่งไปประจำการณ์ไม่เฉพาะแค่ในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทกรรมสิทธิ์กับหลายชาติเท่านั้น แต่ยังมีไว้ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ในต่างแดนอีกด้วย
สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานว่า จากการเปิดเผยของพลเรือตรี อิ่น จั๋ว ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองแห่งชาติ และคณะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงไซเบอร์ของกองทัพเรือจีน จุดประสงค์ในการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนก็เพื่อปกป้องอธิปไตยของหมู่เกาะและแนวปะการัง สิทธิทางทะเล และผลประโยชน์ในต่างแดน ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงจำนวนชาวจีน ที่เดินทางไปต่างประเทศ และการไปลงทุนโดยตรง ตลอดจนความจำเป็นในการปกป้องชนเชื้อสายจีน ที่อาศัยในต่างแดน
ข่าวดังกล่าวสอดคล้องกับการยืนยันของกระทรวงกลาโหมจีนในปีนี้ที่ว่า จีนกำลังต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง ซึ่งยังเป็นเรือ ที่จีนสร้างเองทั้งหมดเป็นลำแรกอีกด้วย
สำนักข่าวซินหวาระบุว่า นับตั้งแต่จีนเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเปิดประเทศเมื่อ 30 กว่าปีก่อน การลงทุนโดยตรงของต่างชาติในจีนคิดสัดส่วนเป็นนักลงทุนเชื้อสายจีน ที่อาศัยในต่างประเทศ มากถึงร้อยละ 60
นอกจากนั้น ในช่วงแรก ๆ ภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ความสัมพันธ์iระหว่างจีนกับชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตึงเครียด เนื่องจากบางชาติในภูมิภาคนี้คอยเฝ้าระวังปักกิ่ง ที่ให้การสนับสนุนขบวนการคอมมิวนิสต์ในท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็มีการกดขี่ชนเชื้อสายจีน ที่กุมเศรษฐกิจในประเทศ
พลเรือตรีอิ่นระบุว่า ปัจจุบันจีนมีการลงทุนใน 155 ประเทศ และพลเมืองจีนเดินทางไปต่างประเทศจำนวน 120 ล้านคนในปีที่แล้ว ฉะนั้น เรือบรรทุกเครื่องบินจึงมีความจำเป็นในการปกป้องทรัพย์สินและพลเมืองของจีนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนมิได้มีไว้เพื่อรุกราน หรือคุกคามชาติเพื่อนบ้าน โดยหลักการ “ป้องกันตนเองเชิงรุก” ของจีนจะไม่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ หลังจากเข้าประจำการณ์ในปี 2555 เรือเหลียวหนิง ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกและลำเดียวของจีนจนถึงปัจจุบัน ได้ทำการฝึกซ้อม ในทะเลจีนใต้เป็นบางครั้ง โดยถูกใช้ในภารกิจการฝึกซ้อมเป็นหลัก มากกว่ามีบทบาทในการสู้รบ
ด้านนาย หนี เล่อสยง นักวิเคราะห์ทางทหาร ซึ่งอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้มองว่า จีนไม่น่าจะส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าไปในทะเลจีนใต้ในอนาคตอันใกล้ เพราะการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินจะเป็นการประกาศในเชิงการทูต ที่แข็งกร้าว เป็นการแสดงอำนาจของชาติหนึ่ง และความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะใช้กำลัง