รอยเตอร์ - กองทัพเรือจีนเปิดตัวอู่เรือลอยน้ำเคลื่อนที่ (self-propelled floating dock) แห่งแรก ซึ่งสามารถเดินทางออกไปซ่อมแซมเรือรบที่อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งได้ นับเป็นความพยายามล่าสุดของจีนที่จะพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือให้มีความทันสมัย
หนังสือพิมพ์พีแอลเอ เดลี สื่อของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน รายงานวันนี้ (1 มี.ค.) ว่า อู่เรือหัวชวน หมายเลข 1 (Huachuan No.1) จะช่วยซ่อมแซมเรือรบที่เสียหายให้กลับมีประสิทธิภาพในการต่อสู้เต็มกำลัง “ภายในเวลาอันรวดเร็ว” และถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในพื้นที่สู้รบทางทะเลโดยเฉพาะ
“อู่เรือลอยน้ำถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้การซ่อมแซมเรือรบขนาดใหญ่ๆ ไม่ต้องพึ่งพาอู่เรือริมชายฝั่งเสมอไป แต่สามารถทำได้แม้จะอยู่กลางทะเล”
สื่อฉบับนี้ระบุว่า การมีอู่เรือลอยน้ำจะช่วยให้เรือรบที่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยไม่ต้องถูกปลดประจำการชั่วคราว ส่วนเรือที่เสียหายหนักก็ไม่จำเป็นต้องนำกลับเข้าฝั่ง
อู่เรือแห่งนี้สามารถซ่อมได้ตั้งแต่เรือลาดตระเวน เรือพิฆาต เรื่อยไปจนถึงเรือดำน้ำ ยกเว้นเพียงเรือบรรทุกเครื่องบินเท่านั้น และยังสามารถต้านทานคลื่นได้สูงสุด 2 เมตร
ปักกิ่งทุ่มงบประมาณนับพันล้านดอลลาร์ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธในประเทศ เพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายในการแผ่อิทธิพลตั้งแต่น่านน้ำทะเลจีนใต้ไปจรดมหาสมุทรอินเดีย
จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแต่ละปี แต่จุดยืนเช่นนี้ก็ทำให้จีนต้องบาดหมางกับเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนอยู่เช่นกัน
รัฐบาลจีนจัดสรรงบอุดหนุนกองทัพสูงถึง 886,900 ล้านหยวน (ราว 4.8 ล้านล้านบาท) ในปี 2015 นอกจากนี้ยังมุ่งขยายการส่งออกเทคโนโลยีต้นทุนต่ำไปยังตลาดต่างประเทศ