รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เยี่ยมชมเรือบรรทุกเครื่องบินเพียงลำเดียวของจีนในสัปดาห์นี้ กองทัพแดนมังกรระบุ ในขณะที่มหาอำนาจทั้งสองกำลังพยายามรักษาความสัมพันธ์ทางทหาร แม้จะมีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นในเรื่องการอ้างสิทธิของปักกิ่งในน่านน้ำพิพาทในทะเลจีนใต้ก็ตาม
การเยี่ยมเยือนดังกล่าวโดยคณะผู้บังคับการเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เรือเหลียวหนิง อดีตเรือบรรทุกเครื่องบินของสหภาพโซเวียตที่ถูกปรับปรุงใหม่ มีขึ้นในขณะที่วอชิงตันกำลังพิจารณาเรื่องการแล่นเรือรบผ่านน่านน้ำสากลที่จีนอ้างสิทธิ ความเคลื่อนไหวที่จะกระตุ้นโทสะปักกิ่ง
คณะผู้บังคับการเรือสหรัฐฯ กลุ่มนี้ได้แลกเปลี่ยนทัศนะกับเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งเดียวกันของจีนในหัวข้อต่างๆ เช่น “การฝึกฝนและการจัดการบุคคลากร การสนับสนุนทางการแพทย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบิน” บล็อกอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือจีน ระบุเมื่อค่ำวันจันทร์ (19)
การเยือนครั้งนี้ไม่ได้ถูกปิดบังอย่างกว้างขวางในสื่อจีนจนกระทั่งวันนี้ (21)
เมื่อวันอังคาร (20) คณะผู้แทนสหรัฐฯ ชุดนี้ได้ไปเยือนโรงเรียนเรือดำน้ำของกองทัพเรือจีน บล็อกดังกล่าวระบุ โดยเป็นส่วนหนึ่งการเยือนกันและกันนานหนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่เจ้าหน้าที่กองทัพเรือจีนไปเยือนสหรัฐฯแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทวีความตึงเครียดขึ้นจากการอ้างสิทธิทางดินแดนของปักกิ่งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางเรือที่มีมูลค่าถึงปีละ 5 ล้านล้านดอลลาร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไต้หวัน และบรูไนก็อ้างสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน
วอชิงตันกำลังพิจารณาดำเนินปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือภายในอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้นในทะเลแห่งนี้ แต่ไม่ได้บอกว่าพวกเขาจะทำเช่นนั้นเมื่อไหร่
ชัค เฮเกล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯไปเยือนเรือเหลียวหนิงทางเป็นทางการครั้งแรกในปี 2014 ความเคลื่อนไหวดังกล่าวในเวลานั้นถูกมองว่าเป็นความพยายามเพื่อแสดงความโปร่งใสของกองทัพจีน
ถึงกระนั้นโครงการเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนซึ่งเป็นความลับของรัฐนั้นก็แทบไม่มีข้อมูลใดออกมาเลย
สื่อจีนจะเคยเปรยๆ ว่ามีการสร้างเรือลำใหม่ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ระบุในรายงานเมื่อต้นปีนี้ว่า ปักกิ่งอาจสร้างเรือบรรทุกบินได้หลายลำตลอดช่วง 15 ปีข้างหน้า
เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นองค์ประกอบสำคัญมากในการพัฒนาขีดความสามารถด้านปฏิบัติการในทะเลลึกของจีนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ ในขณะที่แดนมังกรหันมาใช้ท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในข้อพิพาททางทะเล