เอเอฟพี - ท่ามกลางภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจแดนมังกร ซึ่งสร้างความปั่นป่วนไปทั่วตลาดโลกเมื่อไม่นานนี้ ทำให้นักลงทุนจับตามองว่า ปักกิ่งจะบังคับหางเสือของเรือเศรษฐกิจลำมหึมา ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอย่างไร
วานนี้ (3 ก.พ.) นายสีว์ เซ่าสือ ประธานคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ ว่ากำหนดไว้ที่ระหว่างร้อยละ 6.5 ถึงร้อยละ 7 พร้อมยอมรับ “เศรษฐกิจจีนยังเผชิญแรงกดดันขาลง ที่อาจขยายวงกว้างออกไปอีก”
“การดำเนินธุรกิจยังคงอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก และบางส่วนก็อาจเจอความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ” นายสีว์กล่าว “แต่เราก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ได้”
นายสีว์เผยว่า จีนจะหันไปแก้ไขปัญหาเรื้อรัง อาทิ กำลังการผลิตส่วนเกินของโรงงานอุตสาหกรรม และบรรดาบริษัท “ซอมบี้” ที่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานในระดับต่ำหรือย่ำแย่ และส่งผลร้ายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก นิวส์ ระบุว่า เป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษที่จีนตั้งเป้าหมายการเติบโตฯ ด้วยตัวเลขหลายระดับแทนตัวเลขเดี่ยวๆ โดย ไอริส พัง นักเศรษฐศาสตร์จากนาติซีส์ ธนาคารในฝรั่งเศสกล่าวว่า เป้าหมายที่มีหลายระดับ ช่วยเว้นที่ว่างให้นักวางนโยบายได้บริหารความคิดสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ก่อนหน้านี้คณะผู้นำจีนเคยเกริ่นว่า พวกเขาอาจผละออกจากการยึดมั่นเป้าหมายที่เข้มงวด โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง กล่าวเมื่อปีก่อนว่า “ปักกิ่งไม่จำเป็นต้องรักษาเป้าหมายใดๆ ไว้จนทำให้ตัวตาย”
นายใหญ่รัฐบาลจีนกล่าวอีกว่า การเติบโตที่ชะลอตัวลงเป็น “ผลลัพธ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง” ขณะเคลื่อนย้ายเศรษฐกิจจีนสู่ “จุดดุลยภาพใหม่” (new normal) ซึ่งให้ความสำคัญกับการขยายตัวที่ “ช้าแต่มั่นคง”
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนซึ่งถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เติบโต ณ จุดต่ำสุดในรอบ 25 ปี ที่ร้อยละ 6.9 ในปี พ.ศ.2558 ส่วนตัวเลขภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนแรกของปีนี้ก็หดตัวมากที่สุดในรอบสามปี
ปัจจุบันจีนได้พยายามเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจของตัวเอง จากที่เน้นการลงทุนและการส่งออก ไปสู่ความต้องการอุปโภคบริโภคของประชาชนภายในประเทศเป็นหลัก ทว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมต้องพบเจออุปสรรค และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนก็สร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนทั่วโลกไม่น้อย
ปักกิ่งตั้งเป้าหมายใหญ่ในปี พ.ศ.2564 ซึ่งตรงกับวาระพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งครบ 100 ปี ว่าเป็นเส้นตายของภารกิจการบรรลุ “สังคมมั่งคั่งระดับปานกลาง” ที่มุ่งเพิ่มรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้นเท่าตัวจากปี 2553
นายกฯ หลี่กล่าวว่า จีนควรพยุงการเติบโตฯ ไว้ที่ร้อยละ 6.5 หรือมากกว่าในช่วงห้าปีถัดจากนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
อย่างไรก็ดี นายหยัง เจ้า นักวิเคราะห์จากธนาคารนอมูระ บอกว่าเป้าหมายของปี พ.ศ.2559 ดู “ท้าทายเกินไป” สำหรับจีน เพราะกระแสลมปะทะ (headwind)* ที่รุนแรง และการขาดแคลนความชัดเจนว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใด
“เรายังคงคำทำนายเดิม ว่าการเติบโตที่แท้จริงจะชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ในปีนี้”
*headwind หมายถึง ลมปะทะด้านหน้า ที่มักส่งผลให้การเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของวัตถุเป็นไปอย่างยากลำบากกว่าปกติ โดย ณ ที่นี้ อุปมาว่าจีนต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆ ที่บั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ