xs
xsm
sm
md
lg

ลดค่าหยวน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สงครามค่าเงิน” ตะกร้าเงิน IMF หนุนส่งออกพยุงเศรษฐกิจในประเทศ

ต้องยอมรับว่าเริ่มต้นปี 2559 ด้วยความ “ผันผวน” ของค่าเงิน โดยมี “หยวน” เป็นสกุลจุดประกาย เมื่อธนาคารกลางจีน (PBOC) ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับลดอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนลงไปอยู่ที่ 6.5032 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.59 ตามด้วยการประกาศห่างกันเพียง 2 วัน ธนาคารประชาชนจีน (People’s Bank of China) ปรับลดค่ากลางของสกุลเงินหยวนอย่างเป็นทางการลง 0.51% เหลือ 6.5646 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี

เมื่อปี 2558 จีนก็สร้างปรากฏการณ์เขย่าโลกด้วยการปรับลดค่าเงินหยวนลง 1.86% แบบสายฟ้าแลบเมื่อวันอังคารที่ 11 ส.ค.58 โดยกำหนดค่ากลางในการซื้อขายสกุลเงินหยวนที่ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันถัดมายังได้ปรับลดค่าเงินหยวนลงอีก 1.62% โดยกำหนดค่ากลางการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่ 12 ส.ค. ที่ 6.3306 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ และวันที่ 13 ส.ค.ปรับลดอัตราเงินหยวนลงที่ 6.4010 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ สรุปในระยะเวลา 3 วัน ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงของเงินหยวนอ่อนค่าลงกว่า 4.6% ถือเป็นการปรับลดค่าเงินจีนครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี นับจากปี 2548 ที่จีนได้ประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินจีนกับดอลลาร์สหรัฐ และใช้ระบบค่าเงินลอยตัวแบบมีการจัดการ

ก่อนหน้านี้ จีนกำหนดค่ากลาง หรืออัตราอ้างอิงของอัตราแลกเปลี่ยนหยวนจากโพลของผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาด (market-makers) แต่ธนาคารกลางจีนประกาศเปลี่ยนแปลงวิธีการกำหนดค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยนจากตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนตอนปิดตลาดของวันก่อนหน้า อุปสงค์ และอุปทานในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราหลัก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า จีนปรับลดค่าเงินหยวนส่งผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดโลก พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าระบบเศรษฐกิจไทย ยังคงมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จึงไม่น่าเป็นห่วง ทั้งนี้ ได้ส่งสารให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.เตรียมมาตรการรองรับ และมีเครื่องมือที่ใช้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

“มีการพูดคุยกับทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาโดยตลอด เชื่อว่าจะมีผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น และมีการเตรียมมาตรการรองรับไว้อยู่แล้ว” นายสมคิด กล่าว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยอมรับว่าปี 2559 เป็นปีที่ “ยาก” ต่อการคาดการณ์ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน ในสถานการณ์ปกติ ณ สิ้นปี 59 ค่าเงินบาทมีโอกาสจะอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“สำหรับปีนี้แล้วขอย้ำว่าเงินบาทมีโอกาสทั้งอ่อนค่า และแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่ายากสำหรับผู้ส่งออก และผู้นำเข้าในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน” นายอมรเทพ กล่าว

ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดปัจจัยต่างประเทศที่จะกดดันทิศทางค่าเงินบาท คือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Fed จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งปีขึ้นประมาณ 3-4 ครั้ง ประมาณ .075%-1.25% ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ได้อีก แม้การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่นักลงทุนยังมีความกังวลต่อความผันผวนของตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของจีน ที่คาดว่าจะส่งผลให้นักลงทุนเข้าถือดอลลาร์สหรัฐในฐานะ “สินทรัพย์ปลอดภัย” มากขึ้น

ส่วนปัจจัยในประเทศไทยยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว มีโอกาสที่การส่งออกจะยังคงหดตัว หากประเทศเพื่อนบ้านใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือการปล่อยให้ค่าเงินออก หรือทำสงครามค่าเงินด้วยแล้ว ก็ส่งผลกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกำหนดค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปตามทิศทางเดียวกับภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการผ่อนคลายมาตรการทุนเคลื่อนย้ายต่อเนื่องจากที่ทำในปีก่อนมากกว่าการลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่คาด ค่าเงินบาทจะเดินมาถึงทางแยก จะอ่อนค่าแรง หรือจะวกกลับมาแข็งค่าได้ คือ มีโอกาสได้ทั้งอ่อนค่าถึง 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นไปถึง 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คือ ถ้าเงินบาทลงไปถึง 40 บาท ก็ต่อเมื่อสงครามค่าเงินปะทุขึ้น นำโดยจีนที่ลดค่าเงินหยวนแรง

แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย โดย “จันทวรรณ สุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. จะออกมายืนยันว่า การที่จีนดำเนินนโยบายเงินหยวนอ่อนค่าจะไม่กระทบต่อไทย อีกทั้งการเปลี่ยนวิธีการกำหนดค่ากลางของเงินหยวนใหม่ให้สอดคล้องต่อกลไกตลาดมากขึ้น จะทำให้ค่าเงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น น่าจะเป็นผลดีต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินหยวนน่าจะมีผลบวกที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการค้าภายในภูมิภาคด้วย ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ยอมรับว่า ตลาดการเงินโลกที่อาจเผชิญต่อความผันผวนที่สูงขึ้นได้ในช่วงนี้ ผู้ประกอบการจึงควรติดตามสถานการณ์ และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดทอนผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นได้ โดย ธปท. จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงิน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด

หนุนภาคการส่งออก

เศรษฐกิจจีนเริ่มส่อเค้า “ชะลอตัว” อย่างชัดเจนตั้งแต่กลางปี 2558 ที่ผ่านมา จนรัฐบาลจีนต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินจากรัฐบาลผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ จัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบราง ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม หรือ SME ควบคู่กับการดำเนินนโยบายการเงิน-การคลัง ทั้งด้านภาษี, ลดค่าเงิน

วันที่ 10 ธันวาคม 58 กรมศุลกากรจีนรายงานตัวเลขการนำเข้าและส่งออกประจำเดือนพฤศจิกายน จีนมีการนำเข้าและส่งออกรวมคิดเป็นมูลค่า 2.8376 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 36.2% ซึ่งถือเป็นมูลค่าการนำเข้าและส่งออกรวมต่อเดือนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 1.5333 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีมูลค่าการนำเข้า 1.3043 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 37.7% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนคาดการณ์ว่า ตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2558 ซึ่งจะประกาศในไม่ช้านี้จะไม่ “พลาดเป้า” อย่างแน่นอน

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น จีนพยายามนำเสนอรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ “ดุลยภาพใหม่” หรือโมเดล “new normal” ซึ่งหมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวปานกลางแต่ยั่งยืน เพราะในช่วงก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างร้อนแรงจนเป็นเหตุให้เงินเฟ้อพุ่งสูงกว่าเป้าหมาย แต่ผลที่ตามมาย่อมสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ และที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งคือ จีนกำลังใช้นโยบายอัตราการแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อม โดยการทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง

การกดเงินหยวนให้อ่อนค่าลงนั้นจะสร้างผลบวกต่อภาคการส่งออก เพราะจะทำให้ผู้ส่งออกจีนสามารถแข่งขันได้มากขึ้นกับคู่แข่งสินค้าเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งนั้น การอ่อนค่าของเงินหยวนจะทำให้ผู้นำเข้าของจีนต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่แพงขึ้น ทำให้ต้องลดการนำเข้าลง

ปรับรับค่าหยวนรับ IMF

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ The International Monetary Fund : IMF ประกาศรับเงินหยวนของจีนเข้าสู่ตะกร้าเงินถือเป็นทุนสำรองได้เหมือนอีก 4 สกุล คือ เงินสกุลดอลลาร์ของสหรัฐฯ, เงินเยนญี่ปุ่น, เงินยูโร และเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการรวมเอาเศรษฐกิจของจีนเข้าสู่ระบบการเงินของโลก

เงินหยวน หรือเรียกเป็นทางการว่า เหรินหมินบี้ จะเข้าร่วมอยู่ในตะกร้าเงินของ IMF นับเป็นสกุลที่ 5 ที่ IMF ใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยจะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 นางลาการ์ด ระบุสาเหตุที่ IMF ยอมรับเงินหยวน เพราะเมื่อปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จีนได้มีความก้าวหน้าในการปฏิรูประบบการเงินของตน อีกทั้งเมื่อปี 2257 จีนได้เรียกร้องให้ IMF นำเงินหยวนเข้าไปอยู่ใน Special Drawing Rights

“การยอมรับเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าเงินนั้น ไอเอ็มเอฟมีความหวังว่าจะช่วยจีนให้เปิดตัวเองเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของโลกมากขึ้น รวมทั้งจะช่วยให้เกิดความเติบโต และมีเสถียรภาพไม่เพียงแต่เศรษฐกิจจีนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงระบบเศรษฐกิจโลกทั้งมวล” นางลาการ์ด กล่าว

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ IMF เพิ่มเงินสกุลหยวนของจีนไว้ในตะกร้าเงินหลักทุนสำรองระหว่างประเทศ SDR (Special Drawing Right) เป็นสิ่งที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้อยู่แล้ว หลังจากทั่วโลกใช้เงินหยวนในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับไทย ธปท.ได้มีการเตรียมการมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งการเปิดสำนักงานผู้แทนที่กรุงปักกิ่ง การที่ ธปท.ลงทุนในตราสารหนี้เงินสกุลหยวน และมีเงินหยวนอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วน โดยเชื่อว่าในอนาคตเงินหยวนจะเข้ามามีบทบาทต่อการค้า และการลงทุนโลกมากขึ้น มีสภาพคล่องเงินหยวนมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยที่น่าจะได้ผลดีจากการที่นักลงทุนจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ส่วน ธปท.จะเพิ่มสกุลเงินหยวนในทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้นคงต้องใช้เวลาในการพิจารณาบทบาทของเงินหยวนอีกระยะหนึ่ง

Special drawing rights (XDR หรือ SDR) เป็นเงินทุนสำรองที่ IMF เป็นผู้ถือไว้ จะมีการทบทวนทุก 5 ปี จากครั้งล่าสุด ปี 2010 พบว่า เงินดอลลาร์สหรัฐ U.S. dollars ($) 41.9%, เงินยูโร (€) 37.4%, เงินปอนด์สเตอร์ลิง (£) 11.3% และเงินเยนญี่ปุ่น (¥) 9.4% เมื่อ IMF ตัดสินใจนำเงินหยวน (¥) เข้าสู่ตะกร้าก็คิดเป็น 10.92%

กำลังโหลดความคิดเห็น