xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“หยวนจีน” สกุลเงินเดียวที่รอวันทรงอิทธิพลโลกเช่นดอลลาร์สหรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประชาชนกำลังยืนเทียบดูค่าสกุลเงินต่างประเทศ ระหว่างดอลลาร์สหรัฐ เงินหยวนจีน และริงกิตมาเลเซีย ในร้านแลกเปลี่ยนเงินฯ แห่งหนึ่งที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม (ภาพจากแฟ้มรอยเตอร์ส)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์/ MGR Online - ก้าวสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมาของเงินหยวนในการเข้าร่วมเป็นสกุลเงินหลักของโลก เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ประกาศเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ว่าสกุลเงินหยวนของจีนจะเข้าร่วมในตะกร้าสกุลเงินของไอเอ็มเอฟ (ตะกร้าเงินเอสดีอาร์) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ, ยูโร, เยนของญี่ปุ่น และปอนด์ของอังกฤษนั้น ถือเป็นข่าวใหญ่ซึ่งอาจจะไม่เกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์นัก เช่นเดียวกับที่นักลงทุนส่วนใหญ่ ก็มีการคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

นักวิเคราะห์บทบาทเงินหยวนในตะกร้าเงินสำรองระหว่างประเทศ (special drawing rights - SDR) ได้ชี้ว่าที่ผ่านมานั้น สาเหตุซึ่งทำให้สกุลเงินหยวนไม่ผ่านหลักเกณฑ์ที่จะเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศของไอเอ็มเอฟ ได้แก่ ความกังวลจากการที่จีนใช้นโยบายไม่ลอยตัว และตรึงค่าเงินหยวนของตนเอง เพื่อให้มีค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง หวังช่วยเศรษฐกิจด้านการส่งออก ดังนั้นการที่เงินหยวนจะได้เป็นสกุลเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างถาวรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปฏิรูปทางการเงินของจีน

ซินหัวอ้างรายงานคำประกาศของของคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟ ซึ่งเป็นตัวแทนจากสมาชิกทั้งหมด 188 ประเทศ ว่า เงินหยวนผ่านหลักเกณฑ์ทั้งหมดของไอเอ็มเอฟ เข้าสู่ตะกร้าสกุลเงินหลักที่ประกอบไปด้วย เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินเยน และเงินปอนด์ มีอัตราส่วนในเอสดีอาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ10.92 ขณะที่เงินดอลลาร์มีสัดส่วนที่ร้อยละ 41.73 เงินยูโรที่ร้อยละ 30.93 เงินเยนที่ร้อยละ 8.33 และเงินปอนด์ที่ร้อยละ 8.09 โดยจะร่วมอยู่ในสกุลเงินหลักโลกอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม ปีหน้า (2016) อันเป็นวันฉลองวันชาติจีน

รายงานข่าวกล่าวว่า การเพิ่มสกุลเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าเงินเอสดีอาร์นี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 35 ปีที่ผ่านมา ของสกุลเงินในตะกร้าฯ และบทบาทในตะกร้าเงินโลกของจีน จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น รองรับการทะยานขึ้นนำเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจทวีปเอเชีย นอกจากที่มีสกุลเงินญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว

“นี่คือก้าวสำคัญในการรวมเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ระบบการเงินโลก”นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าว และเสริมว่าการปฏิรูประบบการเงินของจีนในหลายปีที่ผ่านมา นำมาซึ่งระบบการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้นและจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั้งจีนและโลก แนะนำให้จีนเร่งดำเนินการเพื่อขจัดข้อกำหนดเข้มงวดในการเปิดเสรีสกุลเงินหยวน

บทความวิเคราะห์ในเซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ รายงานว่า เงินหยวนจะเทียบชั้นในการเป็นสกุลเงินทรงอิทธิพลของโลกเช่นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐหรือไม่ ยังต้องดูกันต่อไป

ติง อี้ฟาน นักวิเคราะห์อาวุโสจากศูนย์วิจัยและพัฒนา ประจำสภาแห่งรัฐ และเป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือชื่อ Dollar Hegemony กล่าวว่า สกุลเงินหยวนได้รับการรับรองจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบในการที่จะเป็นสกุลเงินสำรองฯ ที่แท้จริง

“ข้อเท็จจริงคือเงินหยวนเป็นสกุลเงินเดียว ที่มีศักยภาพในอนาคตพอจะผงาดท้าทายเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความจริงเป็นเช่นนั้น แม้ตอนนี้จะยังไม่สมบูรณ์พร้อม” ติง อี้ฟานกล่าวและว่า เงินหยวนยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี จึงทาบเคียงกับดอลลาร์ได้ ซึ่งก็อาจจะราวปี ค.ศ. 2050

แม้ว่า บทบาทสำคัญที่แท้จริงของเอสดีอาร์จะถูกจำกัดไว้มาก แต่การได้อยู่ในตะกร้าเงินโลก ก็ถือว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติที่ดี

จู กวงเหยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของจีนเปิดเผยถึงความเชื่อมั่นว่าเงินหยวนจะถูกควบคุมโดยกลไกตลาดในวันข้างหน้า ซึ่งเงินหยวนจะสะท้อนมูลค่าตลาดได้อย่างสมบูรณ์ แต่การเปลี่ยนผ่านจากระบบลอยตัวค่าเงินหยวนภายใต้การควบคุมของรัฐบาลได้อย่างสมบูรณ์นั้นจำเป็นต้องใช้เวลา

จู จุ้น หัวหน้าส่วนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารกลางจีน กล่าวว่า การได้รวมอยู่ในตะกร้าเงินฯ ถือเป็นหลักชัยสำคัญของเงินหยวนในการก้าวสู่สากล และเป็นจุดเริ่มต้นสู่การปฏิรูปการเงินของจีน

วิกฤติหนี้ซับไพร์ม ในปี 2008 ซึ่งบานปลายเป็นวิกฤติการเงินโลก ทำให้ทั่วโลกรวมถึงจีนนั้น มีความกังวลและวิจารณ์สกุลเงินดอลลาร์อย่างหนัก หลังสหรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมจัดการวิกฤติดังกล่าว รัฐบาลจีนยังได้ตำหนิมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐ (QE : Quantitative Easing) ที่แก้ปัญหาด้วยการนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

เหมา เจิ่นหัว คณบดีแห่งสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า จีนปรารถนาที่จะให้สกุลเงินหยวน ได้รับการยอมรับเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศ และเมื่อได้รับการประกาศให้รวมอยู่ในตะกร้าเงินฯ จะทำให้จีนมีศักยภาพการเงินหลายอย่างเช่นสหรัฐฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกสิ่งยังเป็นเพียงเริ่มต้น ประชาชนหรือนักลงทุน จะสามารถใช้เงินหยวนในการสร้างผลประโยชน์ระยะยาวหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินเศรษฐกิจของจีน ประกอบกับความแนบแน่นกับตลาดการเงินทั้งหลาย

เช่นเดียวกับ หวัง เถา นักเศรษฐศาสตร์จากยูบีเอส กล่าวว่า ขณะที่การเข้าอยู่ในตะกร้าเงินเป็นเหมือนหลักหมายสำคัญ แต่การพัฒนาต่อไปของตลาดการเงินจีน พร้อมไปกับการปฏิรูปฯ กลับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการยืนตำแหน่งในสถานะสกุลเงินระหว่างประเทศ

พร้อมกับการรับสถานะสกุลเงินของโลก จิน หลี่ชุน ประธานธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) กล่าวว่า ในเดือนธันวาคมนี้ ธนาคารฯ จะเปิดดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการในสหราชอาณาจักร และเยอรมนี

สอดรับกับโจนาธาน เฟนบี้ ผู้อำนวยการ Trusted Sources ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งมองว่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จีนมีความมั่นใจมากขึ้น ที่จะก้าวออกสู่โลกในทุกวิถีทาง แสวงหาโอกาสที่ใหญ่กว่าเดิม ทั้งในกิจการระดับโลก และองค์กรระหว่างประเทศ



กำลังโหลดความคิดเห็น