เอเอฟพี/MGROnline - จีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวอย่างเป็นทางการในวันเสาร์ (26 ธ.ค.) พร้อมกับเข็นกฎใหม่ ที่อนุญาตให้คู่สามีภรรยาสามารถมีลูกคนที่สองได้อย่างอิสระ เป็นไปตามความพยายามของรัฐบาล ที่จะแก้ไขปัญหาคนชราล้นเมือง และแรงงานหดหาย
สำนักข่าวซินหวารายงาน (27 ธ.ค.) ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งถูกเกริ่นออกมาครั้งแรกในเดือนต.ค. โดยพรรคคอมมิวนิสต์ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2559 นี้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สามีภรรยา ‘ทุกคู่’ สามารถมีลูกเพิ่มได้อีกหนึ่งคนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ทางการจีนริเริ่มใช้นโยบายลูกคนเดียวตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 โดยกำหนดให้พ่อแม่ในเขตเมืองมีลูกได้เพียงคนเดียว ยกเว้นครอบครัวในเขตชนบทสามารถมีลูกคนที่สองได้หากลูกคนแรกเป็นผู้หญิง รวมถึงชนกลุ่มน้อยสามารถมีลูกได้มากกว่าหนึ่งคน
สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจะต้องถูกลงโทษปรับเงินตามระดับรายได้สุทธิ บางครอบครัวที่เป็นชาวชนบทอาจถูกยึดข้าวสารอาหารแห้งและผลผลิตทางการเกษตรแทนเงินค่าปรับ หรือบางครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานในภาครัฐ ก็อาจถูกปลดออกจากตำแหน่ง
เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า ตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปี ของการดำเนินนโยบายฯ มันได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญ ที่เอื้อให้จีนทะยานสู่บัลลังก์มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกในปัจจุบัน และยังช่วยลดการกำเนิดประชากรรายใหม่ถึง 400 ล้านคน
อย่างไรก็ดี นโยบายลูกคนเดียวก็ก่อปัญหาหลายประการ อาทิ การทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ ความไม่สมดุลทางเพศชาย-หญิง การขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้สูงอายุ ฯลฯ ที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ
แม้ว่าจีนจะอนุญาตให้ครอบครัว ที่สามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นลูกคนเดียวมีลูกคนที่สองได้ ในช่วงปลายปี 2556 แต่ข้อมูลจากรัฐบาลเผยว่าจนถึงเดือนก.ย. ที่ผ่านมา มีสามีภรรยาเพียง 1.76 ล้านคู่ จากที่มีสิทธิตามกฎหมายทั้งหมด 11 ล้านคู่ ยื่นขอมีทายาทอีกคนเท่านั้น
ด้านผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า การยกเลิกนโยบายฯ และเปิดทางให้มีลูกอีกคนนั้นมา “ช้าเกินไป” ที่จะแก้วิกฤตประชากรที่ส่อเค้าลางความเสียหาย และว่ารัฐบาลจีนก็ไม่ได้ดูตั้งใจจะรื้อกลไกการบังคับใช้กฎ เพื่อการควบคุมการสืบพันธุ์อย่างจริงจัง เพราะยังคงห่วงแหนผลประโยชน์ของพวกพ้องข้าราชการและเจ้าหน้าที่