ไชน่าเดลี่รายงาน (21 ก.พ.) ผลสำรวจนโยบายผ่อนปรนมาตรการครอบครัวฯ พบว่า แม่ในจีน ส่วนใหญ่มีความสุขมากกว่าเมื่อมีลูกคนที่สอง แต่ไม่ต้องการมีลูกคนที่สาม แม้ทางการเปิดโอกาสให้ในอนาคต
ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยเว็บไซต์สื่อแม่และเด็กจีน mama.cn กับกลุ่มอาสาสมัคร Muruai ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ได้เผยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ หลังจากสำรวจความคิดเห็นมารดา จำนวนราว 4,200 คน พบว่า ร้อยละ 63 ตอบว่ามีความสุขมากกว่าหลังจากมีลูกคนที่สอง ขณะที่ร้อยละ 67 ตอบว่าไม่รู้สึกเสียใจเลยที่ตัดสินใจมีลูกเพิ่มอีก
สำหรับเหตุผลหลักของความสุขที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีลูกคนที่สองนี้ มีอาทิ การที่เด็กๆ มีเพื่อนเล่นด้วยกัน และการมีครบทั้งลูกชายและลูกสาว
เกือบครึ่งของแม่ที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่า สามีของตนยังเต็มใจที่จะช่วยเหลือเลี้ยงลูกๆ มากขึ้นด้วย หลังมีลูกคนที่สอง
สำหรับปัจจัยที่ทำให้บางคนตอบว่าไม่มีความสุขนั้น มีอาทิ ปัญหาการเงิน การเลี้ยงดูส่งเสีย และแรงกดดันทางการเงินกับเวลา
ราวร้อยละ 72 บอกว่าเมื่อมีลูกคนที่สอง ทำให้การดูแลพ่อเฒ่าแม่เฒ่าของตนลดน้อยลง
จากการสำรวจยังพบว่า มารดาร้อยละ 70 ไม่คิดจะมีลูกคนที่สามแล้ว แม้ว่านโยบายของรัฐบาลในอนาคตจะเปิดทางให้มีได้โดยไม่จำกัดก็ตาม ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ก็มาจากภาระทางการเงิน การเลี้ยงดูนั่นเอง
ทางการจีนริเริ่มใช้นโยบายลูกคนเดียวตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 โดยกำหนดให้พ่อแม่ในเขตเมืองมีลูกได้เพียงคนเดียว ยกเว้นครอบครัวในเขตชนบทสามารถมีลูกคนที่สองได้หากลูกคนแรกเป็นผู้หญิง รวมถึงชนกลุ่มน้อยสามารถมีลูกได้มากกว่าหนึ่งคน
สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจะต้องถูกลงโทษปรับเงินตามระดับรายได้สุทธิ บางครอบครัวที่เป็นชาวชนบทอาจถูกยึดข้าวสารอาหารแห้งและผลผลิตทางการเกษตรแทนเงินค่าปรับ หรือบางครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานในภาครัฐ ก็อาจถูกปลดออกจากตำแหน่ง
เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า ตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปี ของการดำเนินนโยบายฯ มันได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญ ที่เอื้อให้จีนทะยานสู่บัลลังก์มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกในปัจจุบัน และยังช่วยลดการกำเนิดประชากรรายใหม่ถึง 400 ล้านคน
อย่างไรก็ดี นโยบายลูกคนเดียวก็ก่อปัญหาหลายประการ อาทิ การทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ ความไม่สมดุลทางเพศชาย-หญิง การขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้สูงอายุ ฯลฯ ที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ
พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ประกาศยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวที่ใช้มานานหลายทศวรรษในปี 2015 และอนุญาตให้คู่สามีภรรยาทั่วประเทศสามารถมีลูกคนที่สองได้อย่างเสรี โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การแก้ไขปัญหาด้านประชากรอันฉุดรั้งการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ