xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อความสำเร็จจากนโยบายลูกคนเดียวกำลังย้อนกลับมาเล่นงานจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กฤต วาณิชย์เสริมกุล

เด็กชายนั่งบนบ่าของผู้เป็นพ่อขณะถ่ายรูปอยู่ด้านหน้าภาพประธานเหมา เจ๋อตง บริเวณประตูเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง วันที่ 2 ต.ค. 2554 (ภาพ รอยเตอร์ส)
หลังจากการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 5 เสร็จสิ้นลงเมื่อวันพฤหัสบดี (29 ต.ค.) ที่ผ่านมา คำประกาศเรื่อง “จีนจะยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว” ก็แพร่สะพัดสู่สาธารณะ เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วทั้งในและนอกประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจีนไม่มีทางจะหนีพ้นจากปัญหาความไม่สมดุลด้านประชากรที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอันใกล้ โดยบางท่านชี้ว่าจีนต้องใช้เวลาถึง 100 ปี กว่าที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรสู่สมดุล

การวางแผนครอบครัวอันเข้มงวดนั้น เริ่มใช้ครั้งแรกด้วยฐานะมาตรการทดลองชั่วคราวในยุคผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ปี 2522 โดยกำหนดให้พ่อแม่ในเขตเมืองมีลูกได้เพียงคนเดียว ยกเว้นครอบครัวในเขตชนบทสามารถมีลูกคนที่สองได้หากลูกคนแรกเป็นผู้หญิง รวมถึงชนกลุ่มน้อยสามารถมีลูกได้มากกว่าหนึ่งคน

เป้าหมายสำคัญของผู้นำจีนมาจากแนวคิด “มีลูกมาก ยากจน” นำไปสู่การควบคุมจำนวนประชากรที่กำลังขยับขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง แหล่งทรัพยากร และพื้นที่เพาะปลูกอันมีจำกัดของประเทศจีนในเวลานั้น

รัฐบาลจีนบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวอย่างเข้มงวด สามีภรรยาคู่ใดที่ฝ่าฝืนกฎแอบมีทายาทเพิ่มโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องถูกลงโทษปรับเงินตามระดับรายได้สุทธิ บางครอบครัวที่เป็นชาวชนบทอาจถูกยึดข้าวสารอาหารแห้งและผลผลิตทางการเกษตรแทนเงินค่าปรับ หรือบางครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานในภาครัฐ ก็อาจถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปี นโยบายฯ ได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้จีนทะยานสู่บัลลังก์มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกในวันนี้ ทว่าอีกด้านหนึ่งมันก็ประสบความสำเร็จไปไกลเกินกว่าที่ควรและกำลังแปรสภาพเป็นหอกแหลมกลับมาทิ่มแทงเศรษฐกิจและสังคมที่ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นผู้ฟูมฟักเลี้ยงดู

แม้ตัวเลขสถิติของทางการจีนระบุว่านโยบายลูกคนเดียวได้ช่วยลดการกำเนิดประชากรถึง 400 ล้านคน แต่ขณะเดียวกันมันก็ก่อปัญหาหลากหลายประการ อาทิ การทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ ความไม่สมดุลทางเพศชาย-หญิง การขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้สูงอายุ ฯลฯ ล้วนแล้วส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศจีน

คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ออกแถลงการณ์จะยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว เพื่อยกระดับพัฒนาการด้านประชากร โดยสำนักข่าวซินหวารายงานว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการ จะเกิดขึ้นหลังจากสภานิติบัญญัติลงมติอนุมัติระหว่างการประชุมประจำปีในเดือนมี.ค. ปี 2559

ด้านสำนักงานวางแผนครอบครัวและสาธารณสุขแห่งชาติของจีน ประเมินว่าชาวจีนราว 90 ล้านครอบครัว จะผ่านคุณสมบัติการมีลูกคนที่สองได้ตามนโยบายใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรจีนที่ตัวเลขล่าสุดเมื่อสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1.37 พันล้านคน ขึ้นไปอยู่ที่ 1.45 พันล้านคนภายในปี 2573
หลี่ เหยียน กับลูกสาวคนแรกที่นอนหน้าแนบท้องลูกคนที่สองในเมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุย วันที่ 20 ก.พ. 2557 (ภาพ รอยเตอร์ส)
แต่กลุ่มนักประชากรศาสตร์กังวลว่า การยกเลิกฯอาจช้าเกินจะกระตุ้นอัตราการเกิดของประชากรจีนที่กำลังลดดิ่งลง โดยดูจากช่วงปลายปี 2556 แม้จีนจะอนุญาตให้ครอบครัวที่สามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นลูกคนเดียวมีลูกคนที่สองได้ แต่ข้อมูลจากรัฐบาลเผยว่าจนถึงเดือนก.ย. ที่ผ่านมา มีคู่สามีภรรยาเพียง 1.76 ล้านคู่ จากที่มีสิทธิตามกฎหมายทั้งหมด 11 ล้านคู่ ยื่นขอมีทายาทอีกคนเท่านั้น

พ่อแม่ชาวจีนส่วนมากส่ายหน้ากับการมีลูกคนที่สอง ด้วยเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ตามหัวเมืองซึ่งสำรวจพบยอดสูงกว่า 40,000-100,000 หยวน (ราว 2-5 แสนบาท) ต่อปี ไม่ว่าจะค่าเสื้อผ้า อาหาร การเรียนทั้งในและนอกเวลา บวกกับค่าบ้านที่อยู่อาศัยก็เพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นอีกหนึ่งภาระหนักอึ้งบนบ่าทั้งสองข้าง

“ตอนนี้เศรษฐกิจไม่มีความแน่นอน การมีลูกอีกคนเป็นสิ่งที่ต้องคิดอย่างถี่ถ้วน” อู๋ ถิงถิง คุณแม่ยังสาวกับลูกสาววัยหนึ่งขวบในเมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้งกล่าว “ผู้คนเลยคิดถึงเรื่องของลูกที่มีอยู่มากกว่า ... อาจใช้เงินไปกับการศึกษาหรือการเดินทางท่องโลก”

นอกจากนั้นบรรดาพ่อแม่ที่ต่างเป็นลูกคนเดียวมาก่อน ก็มีทัศนคติการสร้างครอบครัวแตกต่างจากบรรพบุรุษที่เน้นครอบครัวใหญ่ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ลู่ เจี๋ยหวา กล่าวว่าคู่สามีภรรยาที่เกิดในยุคทศวรรษ 1980 และ 1990 มองครอบครัวขนาดเล็กเป็นเรื่องปกติ และไม่เต็มใจจะมีลูกอีกคนเท่าไรนัก

อัตราการเกิดใหม่ที่ตกต่ำลงนั้น จะผลักดันอายุเฉลี่ยของประชากรจีนให้เพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้จีนเกิดอาการ “แก่ก่อนรวย” ตัวเลขคาดการณ์ระบุว่า ราวปี 2593 ชาวจีน 500 ล้านคน จะมีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรจีนทั้งหมด สวนทางกับการหดตัวลงของประชากรวัยแรงงานที่ต้องแบกรับภาระดูแลคนเฒ่าคนชรา

ภาวะอากงอาม่าขยายตัวฉับพลัน เป็นปัญหาที่จีนอาจรับมือไม่ได้ดีเหมือนเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น ซึ่งมีฐานะร่ำรวย ระบบประกันสุขภาพ การรักษาพยาบาล การช่วยเหลือคนชรา และอื่นๆ ดีกว่า จีนที่ทุบ “ชามข้าวเหล็ก” (iron rice bowls) ทิ้งไป จะพบปรากฏการณ์ “ชั่วรุ่น 4-2-1” คือคนรุ่นที่ได้รับการประคบประหงมจากปู่-ย่า ตา-ยาย (4) และพ่อ-แม่ (2) และลูก (1) เมื่อเด็กๆ ลูกคนเดียวเติบโตแต่งงานมีครอบครัวก็ต้องแบกภาระเลี้ยงดูคนแก่ถึง 12 คน อันเป็นแรงกดดันในอนาคตที่จินตนาการไม่ออก ยิ่งทุกวันนี้ชาวจีนหลายร้อยล้านคนละทิ้งเรือกสวนไร่นาในชนบทอันเป็นถิ่นที่อยู่ของคนเฒ่าคนแก่ย้ายมาทำงานอยู่ในเขตเมืองด้วย

ขณะเดียวกันจำนวนประชากรวัยทำงานอายุ 15-64 ปี ก็ทยอยลดลง เช่นปี 2557 ที่ลดลงกว่า 3.71 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะลดลงอีก 11 ล้านคนระหว่างปี 2558-2563 เป็นข้อวิตกของคณะผู้นำจีนที่พึ่งพาแรงงานมหาศาลขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยนโยบายลูกคนเดียวที่ให้ลูกเดียวแก่คนเมืองชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษามากขึ้น แต่ให้ลูกสองแก่คนชนบทบางส่วนนั้น กลายเป็นการบิดเบือนลักษณะประชากร ที่จีนต้องการอย่างแท้จริงเพื่อใช้ไต่เต้าสู่สถานะประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากนั้นอีกหนึ่งปัญหาคือ ความไม่สมดุลทางเพศระหว่างชายและหญิง ด้วยค่านิยมแต่โบราณกาลที่ชื่นชอบลูกชายไว้สืบทอดสายสกุล ก็นำไปสู่การทำแท้งเถื่อนเพื่อเลือกเพศจนสัดส่วนบิดเบี้ยวอย่างรุนแรง ปัจจุบันจีนมีอัตราส่วนเด็กชาย 115 คน ต่อเด็กหญิง 100 คน ต่างจากอัตราส่วนปกติเด็กชาย 107 คน ต่อเด็กหญิง 100 คน ซึ่งทำให้มีแนวโน้มว่าต่อไปชายจีนที่ตอนนี้มีมากกว่าหญิงจีนอยู่ราว 25 ล้านคน จะหาภรรยามาเป็นคู่ชีวิตไม่ได้

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนลงความเห็นว่า กว่าที่การยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวคราวนี้ จะสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม ก็ต้องรออีกนานโข โดยหนึ่งในนั้น คือนายกัว จื้อกัง ศาสตราจารย์จากสถาบันสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนว่า โครงสร้างประชากรจีนต้องใช้เวลาอีก 100 ปี กว่าเข้าสู่จุดสมดุล

“หากประเทศจีนฟันฝ่าช่วงยากเย็นระหว่างปี 2573-2613 ไปได้ ก็เชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านด้านประชากรจะเสร็จสมบูรณ์ แต่ถ้าหากไม่สำเร็จ ประชากรวัยชราจะยิ่งสร้างปัญหาทางสังคมเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน”

กำลังโหลดความคิดเห็น