xs
xsm
sm
md
lg

พิมพ์เขียวเศรษฐกิจจีน ปี 59 เน้น “ปฏิรูปด้านอุปทาน” รื้อโครงสร้างแก้ปัญหาซบเซา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานจีนทำงานอยู่บนชั้นดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์ โดยมีหมู่อาคารที่พักอาศัยของนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เป็นฉากหลัง เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2558 (ภาพ รอยเตอร์ส)
ไชน่า เดลี - เหล่าผู้นำแดนมังกรวางหมากเศรษฐกิจรอบใหม่ มุ่งเป้าหมาย “การปฏิรูปด้านอุปทาน” เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่ซบเซาหนักของประเทศ

กลุ่มผู้ระดับสูงซึ่งกำลังประชุมเคร่งเครียด เพื่อเตรียมเดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (ปี 2559-63) ได้ประกาศ ‘ยุทธศาสตร์ครอบคลุม’ ก้าวนำการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจจีนอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อวันจันทร์ (21 ธ.ค.) ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดกล่าวระหว่างร่วมการประชุมว่าด้วยการทำงานเศรษฐกิจส่วนกลาง ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกับการประชุมว่าด้วยการทำงานเขตเมืองส่วนกลางว่า “สิ่งสำคัญในปีหน้าคือ การปฏิรูปด้านอุปทาน (supply-side reform) หรือชุดนโยบายด้านอุปทาน ซึ่งจะช่วยปลดปล่อยอุปสงค์ และกระตุ้นผลิตภาพใหม่ๆ ออกมา”

เศรษฐกรจีนทั้งหลายมองว่า จีนจะเบนเข็มทิศไม่เอาแต่แสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการใช้มาตรการเงินตราต่างๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุน การบริโภค และการส่งออกอย่างที่ผ่านมาอีกต่อไป แต่ตรงกันข้ามรัฐบาลจีนจะเน้นนโยบายใหม่ด้านอุปทาน มุ่งช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงสนับสนุน และโละทิ้งธุรกิจที่ล้าสมัย

คณะประชุมฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาจะดำเนินนโยบายซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมานานในปีหน้า รวมถึงการตัดลดภาษี การเพิ่มตัวกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมบางประเภท การปฏิรูปกฎระเบียบข้อบังคับ และการช่วยเหลือประชาชนชาวจีนหลายร้อยล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจน

นิตยสารเอ้าท์ลุค (Outlook) ที่มีเนื้อหาหลักด้านการเมือง ระบุว่าการปฏิรูปด้านอุปทานจะครอบคลุมสองประเด็นใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจีนอย่างจริงจัง ด้วยการขจัดกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ล้นเกินความจำเป็น

ส่วนอีกหนึ่งนั้นคือ การปฏิรูปเชิงสถาบันและการใช้นวัตกรรม ที่มิใช่มาตรการทางการเงินเพียงอย่างเดียว มาส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ อาทิ การสนับสนุนเงินช่วยเหลือการขายบ้านและที่อยู่อาศัยเปล่าแก่แรงงานต่างถิ่นจากชนบท

นอกจากนั้นเอ้าท์ลุคเผยว่า สิ่งสำคัญยิ่งกว่าของการปฏิรูปด้านอุปทานคือ การปรับปรุงอำนาจของรัฐบาลจีนในการบริหารจัดการธุรกิจ และการอำนวยความสะดวกสบายด้านนโยบายแก่กลุ่มนักลงทุนภาคเอกชน

นายปา ซูซ่ง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำสมาคมการธนาคารแห่งประเทศจีน กล่าวว่านับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำระดับสูงหยิบยกเรื่องการปฏิรูปด้านอุปทานมาเป็นแนวทางสำหรับอนาคตและการปรับรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งหมด

นายกวน ฉวน อาจารย์จากสำนักวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง มองว่าการปฏิรูปด้านอุปทานจะเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาวมากกว่าการกระตุ้นในระยะสั้น โดยมุ่งตรงสู่ผลิตภาพที่เพิ่มสูงขึ้น และลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานลง

“อุตสาหกรรมที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดจะถูกปรับเปลี่ยนและพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการบริโภค โลจิสติกส์ การแพทย์ และการดูแลสุขภาพ ที่จะมีอัตราการเติบโตแข็งแกร่งมากขึ้น” กวนกล่าว

ด้านหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของเอชเอสบีซี โฮลด์ดิ้ง นายฉี่ว์ หงปิน ระบุว่าการปฏิรูปด้านอุปทานจะกินเวลายาวไปถึงปี 2563 โดยมีการสร้างความเป็นเมือง การยกระดับอุตสาหกรรม การเปิดเสรีทางการเงิน และการลงทุนสีเขียว เป็นพันธกิจสำคัญ

“ถือว่าจีนส่ง ‘สัญญาณบวก’ อย่างมาก จากการสัญญาจะพยายามปฏิรูปด้านอุปทาน” จู ไห่ปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของ เจพี มอร์แกน เชส กล่าว
เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์แล่นผ่านกลุ่มเรือลากจูง ท่ามกลางหมอกหนาของอ่าววิคตอเรีย เกาะฮ่องกง (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
การปฏิรูปด้านอุปทานเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง?

ประเทศจีนนั้นเคยชินกับการพึ่งพาฟันเฟืองหลัก 3 ประการ อันได้แก่ การลงทุน การส่งออก และการบริโภค ซึ่งล้วนถูกจัดให้อยู่ในด้านอุปสงค์ (demand-side) มาขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทว่าหากประสิทธิภาพของฟันเฟืองเหล่านั้นลดลง รัฐบาลก็จะเริ่มปฏิรูปด้านอุปทานและการใช้ปัจจัยการผลิต รวมถึงเงินทุน แหล่งทรัพยากร แรงงานฝีมือดี เครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยีต่างๆ

การปฏิรูปด้านอุปทานนั้นมีเป้าหมายเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการให้อิสระด้านผลิตภาพ และเพิ่มการแข่งขันด้านอุปทาน โดยมาตรการที่จะนำมาใช้ประกอบด้วยการลดกำลังการผลิตอุตสาหกรรมส่วนเกิน การลดจำนวนบ้านและที่อยู่อาศัยส่วนเกิน การลดค่าใช้จ่ายการผลิตสินค้าหรือทำธุรกิจ และนโยบายสนับสนุนอื่นๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น