บีบีซีนิวส์/เอเอฟพี - ยอดนำเข้าของจีนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตกลงเกือบๆ 19% เนื่องจากอุปสงค์ที่กำลังหดตัว ขณะที่ยอดส่งออกก็ทำได้แย่กว่าที่พวกนักเศรษฐศาสตร์คาดหมายกัน จึงทำให้แดนมังกรได้เปรียบดุลการค้าสูงสุดเป็นสถิติ ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกแห่งนี้ยังคงอยู่ในสภาพย่ำแย่ลงเรื่อยๆ
ตามตัวเลขที่เผยแพร่โดยสำนักงานศุลกากรจีนในวันอาทิตย์ (8 พ.ย.) ยอดนำเข้าของเดือนตุลาคม ลดลง 18.8% จากระยะเดียวกันของปีที่แล้ว มายืนอยู่ที่ 130,800 ล้านดอลลาร์ ถึงแม้ดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนกันยายนซึ่งตกถึง 20.4% แต่ก็ทำให้การนำเข้าของแดนมังกร ซึ่งมีฐานะเป็นเทรดเดอร์ผู้ค้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก หล่นลงเป็นเวลา 12 เดือนติดต่อกันแล้ว
ขณะเดียวกัน ดีมานด์ความต้องการของต่างชาติซึ่งยังคงถดถอยก็ทำให้การส่งออกของจีนในเดือนตุลาคมหดลง 6.9% มาอยู่ที่ระดับ 192,400 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นการตกต่อเนื่องเดือนที่ 4 อีกทั้งติดลบแรงกว่าค่ามัธยฐานจากการคาดการณ์ของพวกนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งสำรวจไว้โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กซึ่งอยู่ที่ ลบ 3.2%
สภาวการณ์เช่นนี้ ทำให้จีนมียอดได้เปรียบดุลการค้าประจำเดือนตุลาคม 61,600 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2014 ถึง 36% อีกทั้งยังเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดอย่างน้อยนับตั้งแต่ปี 1995 ซึ่งเป็นปีแรกที่ทางบลูมเบิร์กเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลตัวเลขนี้
ทางการผู้รับผิดชอบของจีนกำลังพยายามทำให้เศรษฐกิจของตนชี้นำโดยการบริโภคมากขึ้นและพึ่งพาการส่งออกน้อยลง ทว่า การที่ยอดนำเข้าได้ตกลงมาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าดีมานด์ภายในประเทศยังไม่ได้แข็งแกร่งถึงขนาดที่ปักกิ่งปรารถนา
พรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นผู้ปกครองจีนได้กำหนดเป้าหมายเอาไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นปีนี้ว่า การค้าควรจะเติบโตด้วยอัตรา 6% ทว่า ในระยะ 10 เดือนแรกของปีนี้การค้าของแดนมังกรกลับลดต่ำลงมาราว 8%
หลิว หลี่กัง นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเอเอ็นแซด แบงก์ ให้ความเห็นว่า อุปสงค์ความต้องการภายในประเทศที่ยังคงอ่อนตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกซึ่งลดฮวบฮาบจะยังคงส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของการนำเข้าของแดนมังกร ขณะที่ภาคการส่งออกก็จะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคอันหนักหน่วงเช่นเดียวกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้ส่งสัญญาณออกมาว่า ผู้กำหนดนโยบายของแดนมังกรสามารถยอมรับได้ หากการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในอัตราที่เชื่องช้ากว่าเป้าหมาย 7% ซึ่งตั้งเอาไว้ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เขากล่าวว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปีในตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ (ปี 2016-2020) ไม่ควรอยู่ต่ำกว่า 6.5% ถ้าหากจีนต้องการทำให้ได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ว่าภายในปี 2020 ขนาดจีดีพีของตนจะเติบใหญ่ขึ้นมาเป็น 2 เท่าตัวของที่เคยทำไว้เมื่อปี 2010
ในเดือนที่แล้ว จีนได้เปิดเผยว่าเศรษฐกิจของตนขยายตัวได้ต่ำลง โดยอยู่ที่ 6.9% ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกเมือปี 2008-09
ถึงแม้ตัวเลข 6.9% นี้ยังคงดีกว่าที่พวกนักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์กันไว้ แต่ก็ยังส่งผลในทางบีบคั้นกดดันรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่การแถลงข้อมูลตัวเลขในภาคอุตสาหกรรมการผลิต, ภาวะเงินเฟ้อ และข้อมูลทางการค้าก่อนหน้านี้ล้วนแต่อยู่ในสภาพน่าผิดหวัง