xs
xsm
sm
md
lg

จีนซุ่มสร้างคนเก่งด้านการเงิน พร้อมรับตำแหน่งสำคัญสถาบันระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจิน ลี่ฉุน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นตัวเต็ง ที่อาจได้นั่งเก้าอี้ประธานไอเอเอบีคนแรก
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือ เอไอไอบี ใกล้จะเปิดดำเนินการในปลายปีนี้ตามแผนการ ที่กำหนดไว้

แม้จีน ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้งจนสำเร็จ ได้พยายามสร้างความมั่นใจแก่บรรดาชาติสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารแห่งนี้ว่า จีนจะแสวงหาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินระดับโลกมาขับเคลื่อนธนาคาร ไม่อาศัยผู้เชี่ยวชาญของจีนแต่เพียงลำพังก็ตาม ทว่าบุคลากรด้านการเงินระดับเซียน ที่แดนมังกรมีอยู่ในเวลานี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง กลุ่มบุคคลเหล่านี้ทำให้จีนเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพด้านการเงินบนเวทีโลกไม่น้อยหน้าชาติใด

ปัจจุบัน มีชาวจีนดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น นี่คือผลจากความพากเพียรมายาวนานนับสิบปีของพญามังกรในการบ่มเพาะ “ตัวแทนต่อรองอย่างมีชั้นเชิงทางการเงิน” ( financial diplomat)

รัฐบาลปักกิ่งได้สร้างกลุ่มนายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ ที่มีประสบการณ์และมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถให้ไปบริหารจัดการสถาบันการเงินข้ามชาติ แหล่งความรู้ความสามารถ ที่สดใหม่นี้อาจถูกดึงมาใช้ เพื่อการแสวงหาเป้าหมายตามความใฝ่ฝันของจีนในเอไอไอบีก็เป็นได้

ตัวแทนเหล่านี้ยังกำลังช่วยให้จีนมีปากมีเสียงมากขึ้นในสถาบันระดับโลกให้สมกับบทบาทในเศรษฐกิจโลกของจีนที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟได้ตกลง ที่จะรับคนจากประเทศจีนมาร่วมทำงาน

มืออาชีพแถวหน้าเหล่านี้มีอาทิ นายจิน ลีฉุน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นตัวเต็ง ที่อาจได้นั่งเก้าอี้ประธานไอเอเอบีคนแรก ปัจจุบัน เขาเป็นเลขาธิการใหญ่ของสำนักงานเลขานุการพหุภาคีชั่วคราวของไอเอเอบี

นายจาง เซิ่งมั่น ชาวจีนแผ่นดินใหญ่คนแรก ที่ได้รับตำแหน่งระดับสูงในสถาบันการเงินระดับโลก โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหาร ประจำจีนในปีพ.ศ. 2537 และก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการของธนาคารโลกในปีพ.ศ. 2540 จนกระทั่งถึงปีพ.ศ. 2548

นาย จัสติน หลิน อี้ฟู อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมีถิ่นกำเนิดในไต้หวัน ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกและรองประธานอาวุโสในปีพ.ศ. 2551

นายจู หมิน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟในปีพ.ศ. 2554 หลังจากเป็นที่ปรึกษาพิเศษให้แก่กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟได้ 1 ปี

รัฐบาลปักกิ่งใช้เวลาอยู่นานหลายปีในการมองหา“ตัวแทนต่อรองอย่างมีชั้นเชิงทางการเงิน” เช่นนี้ โดยมีแบบฉบับคือมองหาชาวจีนที่เกิดบนแผ่นดินใหญ่ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศ จากนั้น ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย อันทรงเกียรติในชาติตะวันตก และมีประสบการณ์การทำงานในธนาคารข้ามชาติ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น นายจางสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในนครเซี่ยงไฮ้ จากนั้น ไปศึกษาต่อในต่างประเทศอีกหลายสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยแมกกิลในแคนาดา โดยได้ปริญญาโทด้านการบริหารมา 2 ใบ หรือนายจู สำเร็จปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในปี พ.ศ. 2525 และสำเร็จปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากกมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ในเมืองบัลติมอร์ ของสหรัฐฯ

ขณะเดียวกันยังมีผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศมากขึ้น ที่กลับมาทำงานในประเทศ และกระหายโอกาสในการแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์

นายหลุยส์ คุยจ์ ( Louis Kuijs) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านจีนของรอแยล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ระบุว่า จึงไม่น่าประหลาดใจที่ขณะนี้มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนหลายคน ที่สามารถเข้าทำงานในตำแหน่งสำคัญในเวทีการเงินระหว่างประเทศ

ด้านนายเจี้ยนกวง เซิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำบริษัทหลักทรัพย์มิซูโฮ ซึ่งเคยทำงานกับไอเอ็มเอฟมองว่า จีนยังมีตัวแทนที่ทำงานตำแหน่งระดับอาวุโสในสถาบันระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ หรือ ธนาคารโลกน้อยไป อย่างไรก็ตาม จีนได้ส่งนักศึกษาหลายแสนคนไปเรียนเมืองนอก และมีคนจำนวนมาก ที่สามารถรับบทบาทสำคัญได้ทั้งในขณะนี้ หรือในอนาคต

นายแม็ต เฟอร์เชน ผู้ดำเนินโครงการด้านจีนและโลกกำลังพัฒนาประจำศูนย์นโยบายระดับโลกคาร์เนกี้-ชิงหวาระบุว่า นอกเหนือความสำเร็จในตำแหน่งระดับสูงแล้ว จีนยังมีคนรุ่นหนุ่มสาวมากมายที่สำเร็จปริญญาตรีในสหรัฐฯ และกำลังฝึกงานและทำงานในไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างทวีปอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เฟอร์เชนชี้ว่า การได้ตำแหน่งผู้นำในสถาบันการเงินระหว่างประเทศเหล่านี้อาจมีส่วนช่วยด้านภาพลักษณ์ของจีนในยามที่จีนกำลังพยายามขยายอิทธิพลและมุ่งมั่นทำงานในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือคนจีนรุ่นหนุ่มสาวเหล่านี้ก็มีความคิดของตนเองเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาและการเงินโลก ซึ่งก็มักแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากแนวคิด หรือความปรารถนาของรัฐบาลปักกิ่ง

ปัจจุบันมีชาวจีนมากกว่า 2 แสนคนที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากจำนวนราว 1 หมื่นคนในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2523-2533 ซึ่งเป็นสมัยที่นายจู หมิน และคนอื่น ๆ ไปสหรัฐฯ กัน

ด้วยปริมาณบุคลากรซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านการเงิน ที่เกิดขึ้นมามากมายเหล่านี้ จีนจึงมีแหล่งทรัพยากรบุคคลอย่างที่ต้องการในการสร้างความใฝ่ฝันให้เป็นจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น