นับว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของจีนในเวทีภูมิเศรษฐศาสตร์โลก เมื่อสามประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป คือ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกประเภทก่อตั้ง ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียหรือ เอไอไอบี ( AIIB – Asian Infrastructure Investment Bank)
ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน อังกฤษ เป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่แสดงเจตจำนงเข้าร่วมในเอไอไอบี
สหรัฐอเมริกาต้องเสียหน้ามาก เพราะประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นพันธมิตรที่แนบแน่น มีผลประโยชน์ผูกพันกันมาช้านาน แต่กลับปันใจไปให้คู่แข่งตัวฉกาจของตนในเวทีโลกอย่างจีน ทั้งๆ ที่ สหรัฐฯ เองได้แสดงท่าที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการมี เอไอไอบี และส่งคนไปเจรจากับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก อย่างเช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และออสเตรเลียไม่ให้เข้าร่วมกับจีนในการตั้งเอไอไอบีได้เป็นสำเร็จ ทำให้มีเพียงอินเดียประเทศเดียวที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เข้าร่วม ที่เหลือเป็นประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กในเอเชียแปซิฟิก 19 ประเทศรวมทั้งไทย
แต่จู่ๆ มิตรประเทศที่มองตาก็รู้ใจ โดยไม่ต้องเจรจาห้ามปรามหว่านล้อม วางใจได้ว่าจะไม่ไปร่วมกับจีน กลับชักแถวเข้าไปร่วมวงศ์ไพบูลย์กับพญามังกรเสียเอง
จีนกำหนดเงื่อนเวลาให้ประเทศต่างๆ ตอบรับเข้าเป็นสมาชิกก่อตั้งเอไอไอบี ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ หลังจากมีการเปิดตัวเซ็นสัญญาก่อตั้งเอไอไอบีระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง 20 ประเทศเมือเดือนตุลาคมปีที่แล้วที่กรุงปักกิ่ง
เอไอไอบี ก็คือองค์กรระดับโลกด้านการเงิน แบบเดียวกับ ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก การตั้งเอไอไอบีคือการถ่วงดุลอำนาจเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป โดยผ่านไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก
เอไอไอบีในระยะแรกจะมีเงินกองทุนห้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจีนจะลงเงินประมาณครึ่งหนึ่ง มีแผนจะเปิดดำเนินการปลายปีนี้ โดยมีสำนักงานใหญ่ที่ปักกิ่ง นับว่าจะให้เงินกู้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียแปซิฟิก
ไอเอ็มเอฟ หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก เป็นองค์กรโลกบาล ( Global organization) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยสหรัฐฯ และชาติตะวันตกผู้ชนะสงคราม วัตถุประสงค์ในตอนก่อตั้งนั้นก็เพื่อเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิก ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม โดยไอเอ็มเอฟทำหน้าที่กอบกู้ รักษาเสถียรภาพระบบการเงินโลก ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ
ส่วนธนาคารโลก ดูแลกระดูกสันหลังคือให้เงินกู้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศต่างๆ
ในปี พ.ศ.2509 สหรัฐฯ และญี่ปุ่นตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ เอดีบี ( Asian Development Bank) ทำหน้าที่เหมือนธนาคารโลก แต่เน้นการให้เงินกู้เพื่อการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น
ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกเป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพลของลัทธิทุนนิยมที่นำโดยสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก ในช่วงสงครามเย็น ธนาคารโลกมีบทบาทในการให้เงินกู้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อต่อต้านการแผ่ขยายของลัทธิสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตและจีนเป็นผู้นำ
หลังสงครามเย็นยุติลง โดยทุนนิยมเป็นผู้ชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลกปรับบทบาทครั้งใหญ่ถูกสหรัฐฯ ใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามเศรษฐกิจ แผ่ขยายลัทธิ “ โลกานุวัตร” ประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการใช้เงินของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกเพื่อแก้ไขวิกฤติการเงินอย่างฉับพลัน หรือลงทุนเพื่อการพัฒนาจะต้องยอมทำตามเงื่อนไขที่มาพร้อมกับเงินกู้
เงื่อนไขเหล่านี้ก็คือประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือต้อง “ ปฏิรูป” ระบบเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดตลาดในประเทศ ผ่อนคลายหรือยกเลิกการกำกับดูแล แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งล้วนเป็นเป้าหมายของ “ ฉันทมติวอชิงตัน”
จีนต้องการ “ เชื่อมต่อ” กับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียกลาง ซึ่งต้องใช้เงินทุนปีละ 8 แสนล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาระบบถนน ทางรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ ฯลฯ เกือบทุกประเทศขาดแคลนเงินทุน จะพึ่งธนาคารโลกหรือเอดีบี คงไม่ง่าย เพราะสหรัฐฯ คงไม่ยอมให้โครงการที่เป็นประโยชน์กับจีนเกิดได้ง่ายๆ
จีนก็เลยตั้งธนาคารโลกในเวอร์ชั่นเอเชียคือ เอไอไอบี ขึ้นมาเองเลย เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการ “ เชื่อมต่อ” และเพื่อแข่งขัน คานอำนาจกับธนาคารโลก ที่อยู่ใต้การกำกับของสหรัฐฯ
การที่ประเทศอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกเอไอไอบี โดยไม่เกรงใจสหรัฐฯ ก็คงเป็นเรืองผลประโยชน์ จากการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
การตัดสินใจดังกล่าว ยังเป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไปแล้ว