เอเจนซีส์ - ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี ต่างเดินตามหลังติดๆ เพื่อนสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างอังกฤษ โดยประกาศในวันอังคาร (17 มี.ค.) ถึงแผนการที่จะเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ที่มีจีนเป็นหัวเรี่ยวแรง แม้เผชิญแรงกดดันจากแดนอินทรีไม่ให้เข้าร่วมวง และหลังจากพอทราบสถานการณ์แล้วว่าคงทัดทานไม่ไหว วอชิงตันก็แก้เกี้ยว ด้วยการแถลงว่าเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละประเทศเอง
ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี ระบุความประสงค์เช่นนี้ในคำแถลงร่วมฉบับหนึ่งซึ่งนำออกเผยแพร่ในกรุงปารีส ขณะที่ในกรุงเบอร์ลิน ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกันกับรองนายกรัฐมนตรี หม่า ไข่ ของจีน ภายหลังการพบปะหารือกันในวันอังคาร (17) เช่นกัน รัฐมนตรีคลัง โวล์ฟกัง ชอยเบิล ของเยอรมนี กล่าวว่า ประเทศของเขาตลอดจนอิตาลีและฝรั่งเศส “ต้องการที่จะนำเอาประสบการณ์อันยาวนานของพวกเรา … เข้าไปช่วยธนาคารแห่งใหม่นี้ในการสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณอันหนักแน่นมั่นคง”
“เราต้องการที่จะสร้างคุณูปการให้แก่การพัฒนาในทางบวกของเศรษฐกิจเอเชีย ซึ่งบรรดาบริษัทเยอรมันต่างกำลังเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยอย่างแข็งขันอยู่แล้ว” เขากล่าว
ก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสบดี (12) ที่แล้ว อังกฤษกลายเป็นชาติจากอียูและจากโลกตะวันตกรายแรก ซึ่งประกาศจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง AIIB อันเป็นความเคลื่อนไหวที่เห็นกันว่าจะเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับจีน
ความเคลื่อนไหวของชาติยุโรปเหล่านี้ เป็นไปตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ของอังกฤษ ซึ่งระบุด้วยว่า การตัดสินใจของ 4ชาติยุโรปคราวนี้ ถือเป็นความล้มเหลวทางการทูตครั้งใหญ่ของอเมริกา ที่ได้แต่ทวงถามซ้ำเดิมว่า แบงก์เพื่อการพัฒนาน้องใหม่รายนี้ จะมีมาตรฐานสูงพอในด้านธรรมาภิบาล รวมทั้งการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือไม่
นอกจากนั้น AIIB ยังถูกมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของการแผ่ขยาย “อำนาจละมุน” ของจีนในภูมิภาค และเป็นไปได้ว่า ผู้สูญเสียเป็นใครไปไม่ได้นอกจากอเมริกา
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานว่า เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก กำลังพิจารณาเข้าร่วม AIIB เช่นกัน
ทางด้าน แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ให้สัมภาษณ์จากกรุงโซล ในวันอังคาร (17) โดยกล่าวว่า อเมริกายินดีกับการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องการความมั่นใจว่า ตั้งแต่เริ่มต้น AIIB ก็จะยึดถือมาตรฐานระดับสูงในด้านธรรมาภิบาล เทียบเท่าธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งอื่นๆ
“ทุกประเทศสามารถตัดสินใจว่า จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวด้วยการเข้าร่วมก่อนที่จะมีการชี้แจงแถลงไขเกี่ยวกับตราสารก่อตั้ง หรือรอให้เห็นภาพชัดเจนเมื่อธนาคารแห่งนี้เริ่มต้นดำเนินการเสียก่อน”
ทั้งนี้ จีนประกาศแผนการจัดตั้ง AIIB ที่จะมีทุนจดทะเบียน 50,000 ล้านดอลลาร์ ระหว่างการประชุมระดับผู้นำของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่กรุงปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการลงทุนในด้านการขนส่ง พลังงาน โทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในเอเชีย อย่างไรก็ตาม โลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯมองอย่างระแวงว่า แบงก์แห่งนี้จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของธนาคารโลกที่ครอบงำโดยสหรัฐฯ และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ซึ่งอยู่ในอิทธิพลของญี่ปุ่น
เมื่อต้นปีนี้ ปักกิ่งเผยว่า มี 26 ประเทศแล้วร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของ AIIB โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง และเสริมว่า จะจัดทำตราสารก่อตั้งให้แล้วเสร็จภายในปลายปีนี้
ปัจจุบัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ยังไม่ได้เข้าร่วมใน AIIB อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบอตต์ เปิดเผยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายเร็วๆ นี้ว่า แคนเบอร์ราจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในธนาคารน้องใหม่แห่งนี้หรือไม่
ทางฝ่ายโซลเผยว่า กำลังหารือกับจีนและประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับแนวโน้มการเข้าร่วม AIIB ส่วนญี่ปุ่น ยังไม่มีแนวโน้มที่จะร่วมวงด้วย แต่ทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธานของเอดีบี ก็ได้ให้สัมภาษณ์นิกเกอิ เอเชียน รีวิวว่า สองสถาบันรัเกำลังหารือกันและอาจร่วมมือกันในอนาคตเมื่อ AIIB เริ่มต้นดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
จีนระบุว่า ประเทศต่างๆ สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของ AIIB ได้จนถึงวันที่ 31 เดือนนี้ และเสริมว่า ได้ส่งคำเชิญนี้ไปยังญี่ปุ่นด้วย