เอเจนซีส์ - วอลล์สตรีทเจอร์นัลเผยสาเหตุที่ชาติชั้นนำของยุโรปแห่แหนเข้าร่วมธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ที่มีปักกิ่งเป็นเจ้าภาพ ทั้งที่วอชิงตันพยายามสกัดดาวรุ่ง เนื่องจากจีนให้สัญญาจะสถาบันแห่งใหม่จะปลอดจากการให้ชาติใดชาติหนึ่งมีอำนาจวีโต้ ขณะเดียวกัน ทั้งญี่ปุ่นและ ADB ต่างหันมาประสานเสียงว่า แบงก์น้องใหม่จากแดนมังกรจะเป็นพันธมิตรสำคัญในการสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลฉบับวันอังคาร (24 มี.ค.) รายงานโดยแหล่งข่าวบุคคลที่คลุกคลีกับการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) เปิดเผยว่า ผู้แทนการเจรจาของจีนเสนอต่อพันธมิตรใกล้ชิดบางชาติของสหรัฐฯ ในยุโรปในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะไม่มีชาติใดมีอำนาจวีโต้ในแบงก์ใหม่ และข้อเสนอนี้เองที่โน้มน้าวให้อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ยอมแตกคอกับอเมริกาและยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของ AIIB
ข้อเสนอดังกล่าวเท่ากับว่า จีนได้ฉีกแนวทางปฏิบัติที่มีมายาวนานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ทำให้อเมริกามักสามารถครอบงำบงการการตัดสินใจประเด็นสำคัญๆ ทั้งที่ถือหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียงไม่ถึง 20% ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ทั่วโลกไม่พอใจและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง
ความคืบหน้านี้ยังนำมาซึ่งชัยชนะที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับจีนในเวทีโลก นอกจากนั้น การวางแผนอย่างระมัดระวังของปักกิ่งยังทำให้ AIIB เป็นผู้ท้าทายสำคัญต่อการครอบงำของวอชิงตัน เหนือระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศนับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
เอสวาร์ ปราสาด นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ในสหรัฐฯ และอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านจีนของ IMF ชี้ว่า จีนกำลังเล่นเกมยาวอย่างมีประสิทธิภาพและใจเย็น
การตัดอำนาจวีโต้ยังเท่ากับว่า ปักกิ่งคลี่คลายความกังวลของอเมริกาและชาติอื่นเกี่ยวกับความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของ AIIB
ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือ จิน ลี่ฉวิน ที่ปักกิ่งคัดเลือกมาก่อตั้ง AIIB โดยจินชักชวนอดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกมาช่วยไขปัญหาธรรมาภิบาลและสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาตะวันตก
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ยังคงมีการเจรจาเกี่ยวกับวิธีการบริหารแบงก์และโครงสร้างคณะกรรมการ โดยถึงแม้ปักกิ่งไม่มีอำนาจวีโต้ แต่ยังคงสามารถควบคุมการตัดสินใจประเด็นสำคัญ และมีแนวโน้มว่า เรื่องนี้จะกระตุ้นความกังวลของอเมริกา อินเดีย และชาติอื่นๆ ว่า ที่สุดแล้ว AIIB จะกลายเป็นเครื่องมือนโยบายต่างประเทศของจีน
กระนั้น สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จิน ประธานชั่วคราวของ AIIB เปิดเผยว่า มีกว่า 35 ประเทศแสดงเจตนารมณ์ร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของแบงก์ในปลายเดือนนี้แล้ว ขณะที่เกาหลีใต้และออสเตรเลีย สองพันธมิตรสำคัญของวอชิงตันในเอเชีย-แปซิฟิก ถูกคาดหมายว่า จะเข้าร่วมภายในเส้นตายดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ AIIB ยังใกล้บรรลุเป้าหมายในการระดมทุนจดทะเบียน 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นจาก 50,000 ล้านดอลลาร์ที่ประกาศไว้แต่แรก
สำหรับวอชิงตัน เมื่อเล็งเห็นว่าไม่สามารถต้านทานกระแส AIIB ได้ คณะบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา จึงกลับลำเสนอให้แบงก์น้องใหม่มาแรงของจีนร่วมโครงการต่างๆ กับสถาบันที่วอชิงตันสนับสนุน เช่น ธนาคารโลก รวมทั้งใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ในทำนองเดียวกันซึ่งมีอเมริกาเป็นผู้ผลักดัน
ด้านญี่ปุ่น ล่าสุด รัฐมนตรีคลัง ทาโร่ อาโสะ แถลงเมื่อวันอังคาร (24) ว่า จะเป็นการดีมากหาก AIIB ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ตอบสนองความต้องการในการระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว ได้ออกตัวว่า โตเกียวไม่พร้อมเข้าร่วมกับธนาคารแห่งนี้ภายในเส้นตายวันที่ 31 ที่จะถึง เนื่องจากมองว่า AIIB ยังขาดความโปร่งใสในด้านการบริหาร
อาโสะยังย้ำความกังวลของญี่ปุ่นในเรื่องความสามารถของ AIIB ในการจัดการหนี้อย่างยั่งยืน รวมถึงการรับมือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากอาจส่งผลต่อเงินกู้ที่ ADB ธนาคารโลก และสถาบันอื่นๆ ปล่อยอยู่ในขณะนี้
วันเดียวกันนั้น ทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธาน ADB ออกมาขานรับว่า AIIB จะเป็นหุ้นส่วนสำคัญมากกว่าคู่แข่ง และ ADB พร้อมร่วมมือ หาก AIIB มีแนวทางการปล่อยสินเชื่อที่สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และอื่นๆ
ทั้งนี้ การที่พันธมิตรยุโรปของสหรัฐฯต่างไม่ฟังเสียงทัดทานของวอชิงตัน จนกระทั่งอเมริกาและพันธมิตรใกล้ชิดในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ยังต้องปรับเปลี่ยนท่าทีการต่อต้าน AIIB ของตนให้แนบเนียนมากขึ้นเช่นนี้ เห็นกันว่าเกิดจากการวางแผนอย่างรอบคอบของปักกิ่ง ซึ่งเร่งเพิ่มบทบาทของจีนในระดับสากล
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอแนวคิดในการตั้งแบงก์ใหม่แห่งนี้ตั้งแต่ปลายปี 2013 โดยแจกแจงเหตุผลว่าเพื่อทำหน้าที่ระดมทุนให้แก่โครงการโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียที่มีความต้องการมากกว่าเงินทุนที่ IMF, ADB และธนาคารโลกสามารถจัดหาให้ และจีนยังไขข้อข้องใจของพันธมิตรของอเมริกา โดยยืนยันว่า ต้องการปฏิบัติตามมาตรฐานระดับโลก รวมทั้งจะเปิดโอกาสให้บริษัทตะวันตกมีส่วนร่วมในโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ในเอเชียด้วย
ปักกิ่งคาดหวังว่า จะสามารถสรุปกฎเกณฑ์พื้นฐานในการบริหาร AIIB ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน และเริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการปลายปีนี้
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นต่างๆ ที่ไม่มีข้อสรุป อาทิ การจัดสรรหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียงในหมู่สมาชิกผู้ก่อตั้ง โดยทางเลือกหนึ่งคือ แบ่งหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียง 75% ให้สมาชิกในเอเชียที่มีอย่างน้อย 27 ชาติโดยพิจารณาจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของแต่ละชาติ ซึ่งจะเท่ากับว่า จีนได้ถือหุ้นใหญ่โดยไม่ต้องออกแรงใดๆ ส่วนอีก 25% จัดสรรให้สมาชิกนอกเอเชีย
ส่วนอีกประเด็นที่ยังคั่งค้างคือ โครงสร้างกรรมการบริหาร ซึ่งวอชิงตันกดดันให้ปักกิ่งใช้รูปแบบเดียวกับ IMF และธนาคารโลกที่เรียกว่า resident director โดยกรรมการเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากและมีสิทธิ์ออกเสียงในโครงการและนโยบายใหม่ๆ ในองค์กร รวมทั้งทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทว่า จีนไม่เห็นด้วย และต้องการใช้รูปแบบคณะบริหารซึ่งอาจเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของตนนั่งในตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลในแบงก์
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลายคนมองว่า ระบบ resident director ทั้งล้าสมัยและทำให้การตัดสินใจล่าช้า โดยอ้างอิงว่า ธนาคารโลกเองยังกำลังเริ่มทบทวนแนวทางนี้