xs
xsm
sm
md
lg

สกัดไม่อยู่! สหรัฐฯ เปลี่ยนใจชวน AIIB ร่วมมือ “เวิลด์แบงก์-เอดีบี” ดีกว่าเป็นคู่แข่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2014 (แฟ้มภาพ)
รอยเตอร์ – สหรัฐฯ เสนอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาที่จีนริเริ่มหันมาร่วมมือกับสถาบันการเงินของตะวันตก เช่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ดีกว่าจะมุ่งเป็น “คู่แข่ง” กัน หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานเมื่อวานนี้ (22 มี.ค.)

สหรัฐฯ ซึ่งหวั่นวิตกกับการขยายอิทธิพลทางการทูตของจีน เคยออกมาเตือนให้ทุกประเทศ “คิดให้รอบคอบ” ก่อนจะร่วมเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank – AIIB) ซึ่งเชื่อว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับเวิลด์แบงก์ และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ต่อไปในอนาคต

แต่ถึงสหรัฐฯ จะพยายามปลุกความเคลือบแคลงสงสัยแค่ไหน อังกฤษก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมกับเอไอไอบีแล้วเมื่อต้นเดือนนี้ ส่วนฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี ก็ตบเท้าตามไปติดๆ

โหลว จี้เหว่ย รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของจีน แถลงเมื่อวานนี้ (22) ว่า เอไอไอบีซึ่งมีทุนจดทะเบียน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มี 27 ประเทศแสดงความจำนงร่วมเป็นสมาชิกแล้ว และจะสามารถปล่อยกู้เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาได้ภายในสิ้นปีนี้

จากรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์นัล นาธาน ชีทส์ ปลัดกระกระทรวงการคลังสหรัฐฯฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ระบุว่า “สหรัฐฯ ยินดีต้อนรับสถาบันการเงินพหุภาคีแห่งใหม่ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่โครงสร้างระบบการเงินโลก”
คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ร่วมเสวนาในหัวข้อ Sound Monetary Policy in the New Normal ระหว่างการประชุม ไชนา ดีเวลลอปเมนต์ ฟอรัม ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง วานนี้ (22 มี.ค.)
อย่างไรก็ดี ชีทส์ให้สัมภาษณ์กับวอลล์สตรีทว่าจะเป็นการดียิ่งกว่าหากเอไอไอบีลงทุนปล่อยกู้ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น เวิลด์แบงก์ หรือเอดีบี เพราะจะทำให้ธนาคารแห่งใหม่มีบทบาท “เติมเต็ม” มากกว่าจะมาแข่งขันกับสถาบันการเงินที่มีอยู่ก่อน

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อรายงานชิ้นนี้

ด้าน จิม ยังคิม ประธานเวิลด์แบงก์ เผยวานนี้ (22) ว่า ขณะนี้เวิลด์แบงก์กำลังหารือร่วมกับเอไอไอบี “ว่าจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดได้อย่างไรบ้าง... เราปรารถนาที่จะแบ่งปันความรู้ และร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ทั่วเอเชีย”

ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯในเอเชีย-แปซิฟิก ยังคงสงวนท่าทีไม่สมัครเข้าร่วมเอไอไอบีในขณะนี้

ผู้นำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และเอดีบี ได้แถลงต่อเวทีเสวนาด้านนโยบายการเงินที่กรุงปักกิ่งวานนี้ (22) ว่า พวกเขากำลังหารือ และเต็มใจอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับเอไอไอบีต่อไปในอนาคต

ธนาคารเอไอไอบีเปิดตัวขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียทั้งในด้านการขนส่ง พลังงาน โทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานอื่น

กำลังโหลดความคิดเห็น