เอเจนซี--ขณะนี้มีกระแสข่าวรายงานว่า ข้าวปลอมทำจากพลาสติก ที่เคยพบอยู่ในตลาดจีน ได้ระบาดไปยังประเทศเอเชียแล้ว ทั้งอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ข่าวลือล่าสุดระบุว่า ข้าวปลอมบุกเข้าไปในสิงคโปร์ แต่ เดอะ สเตรท ไทม์ส ฉบับเมื่อวันอังคาร(19 พ.ค.)ที่ผ่านมา โต้ในรายงานข่าวที่พาดหัวว่า “ข้าวปลอมทำจากพลาสติก แพร่เข้าไปในตลาดเอเชีย แต่ยังไม่พบในสิงคโปร์”
ข้าวปลอมดังกล่าวทำจากมันฝรั่ง มันเทศ และเรซินสังเคราะห์ รายงานข่าวจาก อินเตอร์เนชั่นนัล บิสซิเนส ไทม์ส ระบุว่า ข้าวปลอมเหล่านี้ มีลักษณะเหมือนกับข้าวธรรมชาติอย่างชนิดแยกไม่ออกเลย พบในตลาดเมืองไท่หยวน มณฑลส่านซี ของจีน
นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวแพร่สะพัดบนอินเทอร์เน็ตว่า ขณะนี้ข้าวปลอมกำลุงบุกตลาดประเทศเอเชีย
ด้านกลุ่มเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามปรามกระแสวิตกของผู้บริโภค อาทิ โฆษกหน่วยควบคุมดูแลอาการและผลิตภัณฑ์เกษตรแห่งสิงคโปร์ (Agri-Food & Veterinary Authority /AVA) บอกกับสื่อ เดอะ สเตรท ไทม์ส เกี่ยวกับข่าวลือข้าวปลอมที่ระบาดเข้ามาในแดนลอดช่องว่า “เจ้าหน้าดำเนินการตรวจสอบเป็นกิจวัตร ข้าวนำเข้าจะถูกตรวจสอบและสุ่มตัวอย่าง เพื่อประกันมาตรการความปลอดภัย และขณะนี้เรายังไม่ได้รับรายงานกรณีข้าวปลอมเลย”
กระทรวงอุตสาหกรรมด้านเกษตรและการเกษตรแห่งมาเลเซีย (Agriculture and Agro-based Industry Ministry) นาย Ismail Sabri Yaakob ยืนยันเช่นกันว่ายังไม่พบข้าวเคลือบเรซิน พร้อมกับกล่าวว่าหากมีก็น่าจะขายกันตามร้านค้าเล็กๆ มากกว่าในซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ และเจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำการแยกแยะข้าวจริงและข้าวปลอมแก่ผู้บริโภค
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการกินข้าวปลอม ส่งผลต่อสุขภาพ โดยจะทำลายระบบการย่อย
เช่นนี้แล้ว ผู้บริโภคจะสามารถหลีกเลี่ยงข้าวปลอมอย่างไร? ข้อแนะนำจาก Oryza.com ระบุ ข้าวปลอมจะยังแข็งเมื่อหุงสุกแล้ว และเมื่อนำมาทำข้าวต้มหรือซุป ก็จะเหมือนพลาสติกเหนียวๆ และไหม้เหมือนพลาสติกเมื่อโดนความร้อน
ทั้งนี้ หลายปีมานี้จีนผจญมรสุมอื้อฉาวความปลอดภัยอาหาร โดยมีกรณีอื้อฉาวที่ฮือฮาที่สุดในปี 2551 เด็กจีนราว 300,000 คน ล้มป่วย และ 6 คน เสียชีวิต เนื่องจากกินนมผสมเมลามีน ปีถัดมา ก็ยังมีรายงานข่าวพบสารเมลามีนในไข่จีน ทั้งนี้ เมลามีน เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกและปุ๋ย ผู้ที่ได้รับสารเมลามีน จะเป็นโรคนิ่วในไต.