“ยิ่งลักษณ์” ยันมาแถลงเพื่อแสดงความบริสุทธิ์และขอความเป็นธรรมต่อ สนช. หวังไม่ถูกชี้นำจากใคร ลั่นตอบข้อสงสัยหมดแล้ว อ้างโยนอดีต รมต.แจง กมธ.เพราะดูแค่ภาพรวม ไม่ได้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบาย โวยถ้าอาศัยแค่ พ.ร.ป.ถอดถอนถือว่าจำกัดสิทธิ์ จวก “วิชา” ชี้นำทำคนไขว้เขวเข้าใจว่าตนผิด แถมข้อเสนอยุติโครงการก็มาหลังจากตนยุบสภาแล้ว โวยพยาน ป.ป.ช.มีแต่ปฏิปักษ์ โวไม่ได้ทำเสียหายแถมสร้างรายได้ชาวนา แถไม่ได้บิดเบือนกลไกตลาด โวยทำไมตนโดนอยู่คนเดียว เชื่อมีวาระซ่อนเร้น จี้มองให้ครบทุกมิติ ด้าน “พรเพชร” นัดพรุ่งนี้ 10 โมง เริ่ม “นิคม-สมศักดิ์-ปู”
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เพื่อรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจา โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แถลงปิดคดีว่า ตนมาวันนี้ เพื่อมาแถลงปิดคดีในเรื่องที่ถูกกล่าวหา เพื่อยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของตนและเพื่อขอความเป็นธรรมต่อสภาแห่งนี้ โดยเข้าใจดีถึงดุลพินิจที่เป็นเอกสิทธิ์ และเป็นอิสระของสมาชิกแต่ละคนในการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ เพียงหวังว่า สนช.ทุกคนจะได้ใช้ดุลยพินิจด้วยความถูกต้อง เที่ยงธรรม เป็นประจักษ์ต่อสาธารณชน และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยไม่จำยอมต่อการชี้นำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
“ขอชี้แจงในวันที่มาแถลงเปิดคดีได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวในรายละเอียดครบถ้วน ทั้งยังได้จัดเตรียม และแจกเอกสารข้อมูลสนับสนุน ที่ตอบทุกข้อสงสัย ดังนั้น ในขั้นตอนของการตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการนั้น ตนเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อการพิจารณาของสภาฯ หากผู้ที่ปฏิบัติงานในหน้าที่ คือ อดีตรัฐมนตรีที่เคยรับผิดชอบโดยตรงต่อโครงการนี้ จะได้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม และตอบข้อซักถาม เพราะในฐานะนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนให้นโยบายนั้นเป็นจริง ซึ่งในการดำเนินการตัดสินใจต่างๆ ก็เป็นไปในรูปแบบของคณะกรรมการ จึงทำให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รับรู้และรับทราบ ข้อเท็จจริง และสามารถที่จะมาชี้แจงต่อสภาแห่งนี้ ได้อย่างสมบูรณ์ และข้อบังคับของสภาก็เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงตอบคำถามของกรรมาธิการ จึงมอบหายให้ผู้อื่นมาตอบคำถาม ไม่ได้มีเจตนาเป็นอื่น” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า รายงานและสำนวนพร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งการแถลงเปิดและปิดคดี และการตอบข้อซักถามของผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อสังเกตอันเป็นข้อพิรุธที่ไม่สมควรให้ สนช.นำรายงานและสำนวนพร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาเป็นเหตุผลในการถอดถอนในคดีนี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สิ้นสุดแล้ว ไม่อาจถอดถอนได้ เหลือเพียง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจไว้ และขอยืนยันในคำโต้แย้งที่ได้แถลงคัดค้านคำแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช.ในข้อกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 270 และมาตรา 178
“การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะนำไปสู่การตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองของดิฉัน เป็นเวลา 5 ปี ถือเป็นการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีที่มาจากมาตรการตามรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ 2540 และฉบับ 2550 จะอาศัยเพียง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 เพียงอย่างเดียว โดยปราศจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่ไม่ได้ การดำเนินคดีเพื่อถอดถอนดิฉันจึงไม่สามารถดำเนินการได้ และหากดำเนินการต่อไปก็จะไม่เป็นธรรมต่อตัวดิฉัน และไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม และไม่เหลือตำแหน่งอะไร ที่จะให้ถอดถอนอีกแล้ว การดำเนินการที่ทำอยู่ถือเป็นการถอดถอนที่ซ้ำซ้อน ไม่ถูกต้องในข้อกฎหมาย และไม่เป็นธรรม เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยสถานะความเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของดิฉันสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และซึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจส่งเรื่องมาให้สภาถอดถอน เพราะจะถือเป็นการกระผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง”
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังโต้ตอบ ป.ป.ช.ว่าบิดเบือนเรื่องระยะเวลาการดำเนินคดีว่าใช้เวลาไต่สวน 1 ปี 10 เดือน เพราะข้อเท็จจริงมีการแจ้งข้อกล่าวหาใช้เวลาเพียง 21 วัน โดยคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 27/2557ลงวันที่ 28 มกราคม 2557 มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริง โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวน และมีนายวิชา มหาคุณ เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนคดีถอดถอนซึ่งคำสั่งนี้ ไม่มีข้อความใดๆ ที่ระบุถึงการดำเนินคดีถอดถอน และคดีอาญาต่อตน ไปเกี่ยวข้องกับคดีระบายข้าวของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ แต่ต่อมาอีก 2 วัน ป.ป.ช.ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 31 ม.ค. 2557 ในเรื่องการไต่สวนตนและการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนซึ่งรวมทั้งคดีอาญาและคดีถอดถอนเข้าด้วยกันดังนั้น กระบวนการไต่สวนจึงเริ่มนับตั้งแต่ วันที่ 28 ม.ค. 2557 ต่อมาวันที่ 19 ก.พ. 2557 ตนได้รับหนังสือลงนามโดยนายวิชาแจ้งให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาภายในวันที่ 27 ก.พ. 2557 ทำให้เห็นได้ว่านับตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.จนถึงวันที่ 19 ก.พ. คณะกรรมการ ป.ป.ช.ใช้เวลาเพียง 21 วัน และหลังจากนั้นอีก 80 วัน ป.ป.ช.ก็มีมติชี้มูลความผิดตน รวม 101 วัน หรือเพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น ไม่ใช่ 1 ปี 10 เดือนตามที่ ป.ป.ช.กล่าวอ้าง
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คำกล่าวของนายวิชาได้ชี้นำให้สภาและผู้ที่รับฟังทั่วไปไขว้เขวและเข้าใจว่าตนกระทำความผิด ทั้งๆ ที่เนื้อหาข้อเท็จจริงเหล่านั้นหลายประเด็นไม่ได้อยู่ในสำนวนนี้ เช่น กรณีข้าวหาย ที่หาว่าเลื่อนลอย และชี้นำต่อสังคมว่าข้าวในโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 2 ล้านตัน ในปี 2555 ได้หายไปแล้ว เพราะต้องการทำให้สาธารณะชนเข้าใจผิดว่าตน และรัฐบาลปล่อยปละละเลยทำให้ข้าวหายไป และพยายามให้เกิดความเชื่อว่าตนละเว้น ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น จนต้องมีหนังสือ ยุติหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นธรรมต่อตนอย่างยิ่ง และไม่พึงกระทำในฐานะที่นายวิชาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบในสำนวนคดีนี้ และเป็นผู้ที่ใช้กฎหมาย เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาทุกราย
“กรณีข้าวหาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีข้าวหายจำนวน 2 ล้านตันที่ ป.ป.ช.อ้าง หรือ 2.98 ล้านตัน ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไม่ยอมบันทึกบัญชีนั้น เมื่อครั้ง ป.ป.ช.ไต่สวนในเรื่องนี้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ อ.ต.ก. และ อคส. ได้ยืนยันถึงความมีอยู่จริงของข้าวทั้ง 2 กรณี ที่ได้นำพยานหลักฐานมาโต้แย้งเพื่อหักล้างว่าข้าวจำนวนดังกล่าวไม่สูญหายไป แต่ ป.ป.ช.กลับไม่รับฟัง หรือกรณีเรื่องจีทูจี ในข้อบังคับในคดีถอดถอน ข้อที่ 153 กำหนดให้การพิจารณาของสภาให้ยึดสำนวนที่ส่งมา แต่ ป.ป.ช.กลับนำคดีระบายข้าวแบบจีทูจีที่มีการกล่าวหาต่อผู้อื่นซึ่งเป็นเรื่องนอกสำนวนมาปนเปอยู่ในเนื้อหาคดีถอดถอน ทำให้บางท่านหลงเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับคดีของดิฉันในประเด็นนี้ ซึ่งทาง ป.ป.ช.ก็ยืนยันประเด็นที่ชี้มูลนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นคนละประเด็น และไม่เกี่ยวกับคดีถอดถอนนี้แต่อย่างใด อีกทั้งเอกสารคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ก็ได้ยืนยันในสำนวน ว่าในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมให้เกิดการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริต”
ส่วนกรณีที่นายวิชาอ้างถึงการที่ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ได้แถลงผลขาดทุนทางบัญชี ครั้งที่ 4 จำนวนประมาณ 5 แสนล้านบาทเศษนั้นก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นการขาดทุนตามตัวเลขดังกล่าว เนื่องจาก ยังมีข้อโต้แย้งทางบัญชี อีกทั้งยังมีข้าวในสต๊อคที่สามารถระบายได้อีกมาก การตั้งอนุกรรมการปิดบัญชี นอกจากจะแยกดูแลเรื่องข้าวโดยเฉพาะเป็นครั้งแรกยังเพื่อให้ ธ.ก.ส.สามารถบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุมภาระหนี้สิน ได้แก่ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบริหารโครงการ ไม่ใช่การปิดบัญชีกำไร-ขาดทุนในเชิงธุรกิจ และไม่ใช่เรื่องค่าเสียหายแต่ประการใด หากสนช.จะให้ความเป็นธรรมก็จะเห็นว่าไม่มีครั้งใดที่รายงานจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชี มีความเห็นให้ยุติโครงการรับจำนำข้าวเลย
ส่วนการแจ้งความของปลัดกระทรวงพาณิชย์ต่อพนักงานสอบสวน ล้วนเป็นการดำเนินคดี ตามสัญญาที่มีอยู่ที่รัฐบาลตนได้กำหนดไว้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อรัฐไว้แล้ว โดยกำหนดตัวผู้รับผิดชอบ คือ เจ้าของโกดัง เซอร์เวเยอร์ และเจ้าของโรงสีซึ่งเป็นกรณีทำนองเดียวกันกับ 276 คดีที่มีการดำเนินคดีไปแล้วในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ จึงไม่สามารถนำมาชี้ถึงความเสียหายในคดีนี้ได้ เนื่องจากสัญญาเหล่านั้นได้ระบุผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนแล้ว จึงไม่ใช่ความเสียหายต่อรัฐแต่ประการใด ส่วนหนังสือ สตง.ที่ส่งมา 4 ครั้ง 3 ฉบับแรกไม่ปรากฏในรายงาน และความเห็นของ ป.ป.ช. และไม่มีครั้งใดที่มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลต้องยุติ หรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ส่วนฉบับที่ 4 มีข้อเสนอให้พิจารณาทบทวน และยุติการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไป ก็เป็นเวลาภายหลังที่ตนได้ประกาศยุบสภาฯไปแล้ว ในฐานะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถดำเนินการใดๆ ที่มีผลผูกพันต่อรัฐบาลหน้า รวมถึงโครงการรับจำนำข้าวด้วย อีกทั้งช่วงเวลาคดีที่ ป.ป.ช.กล่าวหาตนนั้นอยู่ระหว่าง 9 ต.ค. 2555 ถึง 9 ธ.ค. 2556 แต่หนังสือ สตง.ฉบับที่4 ลงวันที่ 30 ม.ค. 2557 จึงอยู่นอกสำนวน
นอกจากนี้ การที่ ป.ป.ช.อ้างว่าให้ความเป็นธรรม โดยไม่ตัดพยานหลักฐานฝ่ายตนนั้นไม่เป็นความจริง เพราะตนเสนอพยานบุคคลเพียง 18 ราย แต่ ป.ป.ช. ตัดพยานเหลือเพียง 6 รายที่ ป.ป.ช.รับฟังในชั้นไต่สวน ไม่ใช่เสนอเป็นพันราย ดังที่นายวิชากล่าวอ้าง และพยานที่ถูกตัดไปล้วนเกี่ยวข้องในประเด็นสำคัญทั้งสิ้น การตัดพยานหลักฐานเป็นการปิดกั้นโอกาสตนที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนการไต่สวน ส่วนพยานของ ป.ป.ช.มีเพียง 7 ปากเท่านั้น และในจำนวนดังกล่าวมีพยานบุคคลถึงจำนวน 4 ปากที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองโดยตรงต่อรัฐบาลตน เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายวรงค์ เดชกิจวิกรม ซึ่งเป็นฝ่ายค้านทางการเมือง ดังนั้นทาง สนช.จะเชื่อถือและยึดสำนวนและความเห็นของ ป.ป.ช.ได้อย่างไร
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังยืนกรานว่า โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียหาย แต่ในทางกลับกันก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเรื่องของรายได้ของผู้มีรายได้น้อย คือ ชาวนา และนำไปสู่การใช้จ่ายที่ต่อเนื่อง เป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ สำนักเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลังคำนวณว่าโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2554/55 และ 2555/56 สามารถทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น เป็นจำนวน 3 แสนกว่าล้านบาท คิดเป็นกว่า 2.7% ของจีดีพีของประเทศในแต่ละปี ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวมีการใช้งบประมาณไม่เกิน 5% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะสมไม่เกินเลย สามารถดูแลเกษตรกรจำนวนกว่า 23% ของประชากรทั้งประเทศ ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และยังสามารถส่งผลต่อการหมุนเวียนที่ดีของเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย ส่วนหนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ในระดับเพียง 45% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60% จึงสรุปได้ว่า วินัยการคลังของรัฐบาลช่วงที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีมีความเข้มแข็งและมั่นคง และนอกจากจะไม่มีการเพิ่มประเภทภาษีแล้ว กลับลดอัตราภาษีที่สำคัญลงในหลายกรณี โดยรายได้ของรัฐบาลยังคงเป็นไปตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ส่วนที่กล่าวหาว่าโครงการรับจำนำข้าวขาดทุน และเสียหายมากขึ้น แล้วทำไมยังทำโครงการต่อ การปิดบัญชีของคณะกรรมการปิดบัญชีฯนั้น ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ ทั้งในเรื่องปริมาณสต๊อกที่ไม่รวมจำนวนที่ อ.ต.ก.และ อคส. ยืนยันว่า มีอยู่จริง จำนวนถึง 2.98 ล้านตัน และราคา ที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าสต๊อก จะเห็นว่าต่อให้แตกต่างกันก็ยังมีผลที่อาจเรียกว่าการขาดทุนทางบัญชีสะสมที่สูงอยู่ การที่นำตัวเลขของแต่ละปีการผลิตมาบวกรวมกันหลายๆ ปี แล้วเรียกว่าการขาดทุนทางบัญชีสะสมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ถ้าหากนำตัวเลขการปิดบัญชี 3 ปีมาเทียบก็ต้องนำเอาประโยชน์ที่พี่น้องชาวนาได้รับ รายได้เพิ่มขึ้น และประโยชน์เศรษฐกิจในช่วง 3 ปีมาเทียบด้วยซึ่งจะพบว่าประโยชน์ที่ได้รับโดยรวมมีมูลค่าสูงกว่ามาก เมื่อเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวมีคุณประโยชน์คุ้มค่าต่อประเทศชาติ มากกว่าเงินที่นำมาใช้ในโครงการ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะยุติโครงการ
“ขอยืนยันว่ารัฐบาลดิฉันมีความจริงใจต่อการปราบปรามทุจริต โดยมีการกำหนดมาตรการเงื่อนไข ที่เป็นกลไกในการดำเนินการอย่างชัดเจน โครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้บิดเบือนกลไกตลาดข้าวตามที่มีการกล่าวหา เพราะชาวนานำข้าวมาจำนำในโครงการประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิตรวมในประเทศ จึงยังมีข้าวอยู่ในตลาดอีกกว่าครึ่งซึ่งเอกชนสามารถค้าขายได้ตามปกติ ข้าวในส่วนที่เข้ามาอยู่ในมือของรัฐบาล ประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิตนั้นก็นำออกกระบายตามระบบการประมูล และยุทธศาสตร์การระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ โดยมุ่งที่จะให้มีการแข่งขันในเรื่องราคา และมีพ่อค้าเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก จึงไม่ใช่การผูกขาด และเป็นการทำให้ตลาดข้าวโลกมีความเข้มแข็ง และเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่การทำลายกลไกตลาด และยังส่งผลให้ราคาข้าวไทยในตลาดสูงขึ้น รวมถึงกรณีข้าวหาย ข้าวปลอมปน ข้าวเสื่อม ไม่ใช่ความเสียหายต่อรัฐ และได้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายไว้ โดยกำหนดตัวผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนตามลักษณะของสัญญา สอดคล้องกับรายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่ว่าหากมีการสูญหาย หรือสินค้าเสื่อมคุณภาพ เพราะความบกพร่อง หน่วยงานดังกล่าวจะต้องชดใช้ให้แก่รัฐ จากหลักประกันที่วางไว้ในอัตราร้อยละร้อยของมูลค่าสินค้าในคลังสินค้า” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันว่า ตนและครม.ไม่เคยละเลยปัญหาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพราะเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้ให้นโยบายที่จะป้องกันปัญหาการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวว่าให้เป็นไปโดยโปร่งใสและตรวจสอบได้อีกทั้ง กขช.ได้มีมติ 13 ข้อเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต มีการออกมาตรการเสริม มาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการทุจริต รวมทั้งตั้งคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบปัญหาการทุจริต มีการตั้งคณะทำงานในการตรวจนับสินค้าคงเหลือทั่วประเทศ ภายหลังได้รับทราบรายงาน เมื่อมีปัญหาในการปฏิบัติก็ได้มีการปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐบาล และตนไม่ได้ละเลย เพิกเฉย ต่อ ข้อชี้แนะ จากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง ป.ป.ช. แต่หนังสือ ป.ป.ช.ที่ให้ยกเลิกโครงการก็มาหลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ทราบดีว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นสัญญาประชาคม และมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐบาลต้องปฏิบัติ
“หากจะให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลดิฉันแล้ว จะเห็นได้ว่านับแต่มีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจนวาระที่รัฐบาลสิ้นสุดลง ดิฉันในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ไม่เคยละเลยเพิกเฉยในการตรวจสอบฝ่ายปฏิบัติ ให้ดำเนินโครงการ โดยไม่ให้เกิดการทุจริตและเสียหาย แต่ดิฉันก็มีข้อสงสัยว่า โครงการรับจำนำข้าวดำเนินการในรูปคณะบุคคล เป็นมติคณะรัฐมนตรี มติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ แต่เหตุใดดิฉันจึงถูกดำเนินคดีโดยลำพัง ทั้งที่รัฐธรรมนูญและกฎหมาย มิได้บัญญัติความรับผิดชอบ เช่นนั้น การดำเนินคดีดิฉันโดยลำพังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเป็นวาระซ่อนเร้น อยู่ภายใต้การดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อดิฉัน เป็นวาระทางการเมืองที่เห็นชัดว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 แล้ว ในวันรุ่งขึ้น วันที่ 8 พ.ค. 2557 จะเป็นการบังเอิญหรือไม่ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลต่อทันที และวันนี้ฝ่ายกรรมการ ป.ป.ช.ก็มาอ้างความบังเอิญอีกเช่นกัน ที่มาชี้มูลคดีระบายข้าวจีทูจี เพื่อชี้นำสังคมและกดดันสภา เพื่อให้เห็นว่าดิฉันมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและประธานกขช.อย่างครบถ้วน ตามขั้นตอนของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ทุกข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตนไม่เคยคิดโกง ไม่ปล่อยปละละเลย หรือมีพฤติกรรมใดๆ ที่กระทำส่อไปในทางทุจริตอย่างที่ ป.ป.ช.กล่าวหา การมาขอความเป็นธรรมในที่นี้ไม่เพียงเพื่อตัวเอง แต่อยากขอโอกาสให้คนจนให้ชาวนาชาวไร่ได้มีชีวิตทีดีขึ้นเหมือนคนอื่น ได้ลืมตาอ้าปาก ได้รับรายได้ที่เป็นธรรมคุ้มค่าเหนื่อยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เราจะให้ชาวนาของเราหลังหักไม่ได้ เราจึงไม่ควรที่จะปล่อยให้เขาเหล่านั้น ใช้ชีวิตตามยถากรรม เพราะหนี้สิน และไม่พอจะกินเลย โดยโครงการรับจำนำข้าวเป็นระยะแรกเริ่มที่จะทำให้ชาวนามีรายได้เพียงพอ ระยะต่อไปจะมีการเร่งดำเนินการพัฒนาพันธุ์ข้าว เกษตรโซนนิ่ง แก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ เชื่อว่าเมื่อมาตรการต่างๆ สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ราคาสินค้าเกษตรของไทยทั้งระบบ ก็จะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
“ขอย้ำว่าเราอย่ามองเหรียญเพียงด้านใดด้านหนึ่ง โดยไม่มองให้ครบทุกมิติ ทั้งด้านรายได้ และโอกาสที่หายไปของชาวนา ตลอดจนประโยชน์ของเศรษฐกิจประเทศโดยรวม และการลดช่องว่าง ระหว่างคนรวย คนจน ความเหลื่อมล้ำในสังคมหากเทียบโครงการรับจำนำข้าว กับการแจกเงินโดยตรง ที่นอกจากจะไม่ส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวแล้ว กลับเป็นการให้คนรอรับความช่วยเหลือ เพียงเพราะไม่ยอมที่จะขาดทุนกับคนจน การคิดเช่นนี้เมื่อไหร่พี่น้องชาวนาจะยืนบนขาตัวเองได้ ดิฉันเติบโตมาในต่างจังหวัด เมื่อขันอาสาเข้ามาทำงานก็ได้รับโอกาสจากประชาชน จึงตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ต้องการเห็นประเทศชาติมีความขัดแย้งทางการเมืองจนต้องใช้วิธีการทำลายล้างที่ไร้หลักการ และขาดความเป็นธรรมอย่างที่ตัวเองประสบอยู่ โดยพร้อมเสมอที่จะพิสูจน์ตนเองในการทำงาน แต่ก็ต้องขอความเป็นธรรม เพื่อที่ทุกคนจะได้เห็นว่าบ้านเมืองมีกฎหมาย และการบังคับใช้ที่เป็นธรรม อันเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นนิติธรรม และเพื่อให้การปฏิรูปและความปรองดองที่แท้จริงเกิดขึ้น อันจะนำมาซึ่งความสุขสันติมาสู่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว
จากนั้นนายพรเพชรได้ชี้แจงถึงกระบวนการลงมติถอดถอนว่าจะมีขึ้นในวันที่ 23 ม.ค. เวลา 10.00 น. เริ่มจากการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีต ส.ว.ก่อน จากนั้นจะเป็นกรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีต ส.ส. และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงขอความกรุณาสมาชิกมาให้พร้อมเพรียงกันตามเวลากำหนดด้วย