xs
xsm
sm
md
lg

โรงแรมผู้ป่วยมะเร็ง "ตัวช่วย" ท่ามกลางวิกฤตด้านสุขภาพแดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลี่ เซียวเหอ ให้สัมภาษณ์นักข่าวในห้องพักของโรงแรมพิเศษสำหรับผู้ป่วยมะเร็งในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2558 – เอพี
ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - อัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านมในจีนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ มันเป็นวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพ ที่กำลังท้าทายระบบการรักษาพยาบาล ที่ไม่ได้เตรียมการมาก่อน

ทุกวันนี้มีผู้ป่วยมะเร็งมากมายดั้นด้นเดินทางจากบ้าน ซึ่งตั้งอยู่ในท้องถิ่นห่างไกล เพื่อมารักษาที่โรงพยาบาลมีชื่อเสียงในเมืองใหญ่ เช่น โรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็งในกรุงปักกิ่ง หรือที่นครเซี่ยงไฮ้ เพราะไม่เชื่อมั่นว่า จะได้รับการรักษาที่ดีพอจากโรงพยาบาลในภูมิลำเนา

ในแต่ละวันโรงพยาบาลในเมืองใหญ่มีผู้ป่วยมะเร็งมารอรับการรักษาหลายร้อยคนจนแน่นแผนก ล้นมายังระเบียง และต้องรอคอยอย่างอดทนอยู่นานหลายชั่วโมงกว่าจะถึงคิวเรียกเข้าไปพบหมอ คนไข้บางคนยังมีกระเป๋าเดินทางล้อลากวางอยู่ข้างกาย แสดงว่า เดินทางมาไกลจริง ๆ

ทว่าปัญหายังไม่จบเพียงแค่นั้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งยังต้องเข้ารับการฉายรังสี หรือเคมีบำบัด ซึ่งต้องรอคิวยาว ขณะที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับ
ญาติของหญิงผู้ป่วยรายหนึ่งกำลังล้างชามอาหารในโรงแรมพิเศษที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2558 – เอพี
ในภาวะวิกฤต ที่ยากจะหันหน้าพึ่งใคร ธุรกิจโรงแรมพิเศษสำหรับลูกค้า ที่ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะก็ผุดขึ้นเรียงรายใกล้กับโรงพยาบาลนั่นเอง

หลี่ เซียวเหอ หญิง วัย 43 ปี พูดจาอ่อนโยน เป็นแขกรายหนึ่งที่เข้าพักในโรงแรมประเภทนี้ในกรุงปักกิ่ง เธอเดินทางมาจากมณฑลเหอหนัน และกำลังรอเข้ารับเคมีบำบัด เพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งใช้เวลา 84 วัน

โรงแรมแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็งที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีนแค่เดินข้ามถนนก็ถึง แม้ภายในห้องจะเล็กแคบ แต่ก็สะอาด สะดวกสบาย แสงแดดส่องถึง และมีห้องครัว ซึ่งใช้ร่วมกับผู้เข้ามาพักคนอื่น โดยสามีของหลี่ปรุงอาหารให้เธอรับประทานที่นั่น

“ การรักษาในโรงพยาบาลที่บ้านฉันต่างกัน เราจึงมาที่นี่” เธอเล่า
ชุย เสี่ยวโป๋  อาจารย์ด้านเวชศาสตร์สังคม แห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2558 – เอพี
“ ถ้ารักษาที่โรงพยาบาลที่บ้านฉันจะได้รับค่ารักษาจากระบบประกันสุขภาพร้อยละ 85 ของค่ารักษาทั้งหมด ถ้าฉันได้ค่ารักษาสักครึ่งหนึ่งที่นี่ก็คงจะดี แต่ก็นั่นแหละค่ะ ฉันยอมเพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง”

โรงแรมผู้ป่วยมะเร็งเหล่านี้ส่วนใหญ่เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ แม้ไม่มีพยาบาลไว้ให้ แต่จัดสถานที่พักให้คนไข้ได้อยู่ใกล้กับแพทย์ มีห้องครัวสำหรับทำอาหารเอง และได้พูดคุยแบ่งปันคำแนะนำกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ ที่มาพัก สำหรับราคาค่าห้องอยู่ในราวคืนละ 7 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณกว่า 200 บาท

แม้โรงแรมผู้ป่วยมะเร็งจัดอยู่ในข่ายธุรกิจสีเทา แต่พวกหมอก็มักแนะนำให้คนไข้มาพัก ขณะที่สำนักข่าวของรัฐเองก็เขียนบทความเชียร์เกี่ยวกับบริการที่ช่วยเติมเต็มความต้องการของผู้ป่วย

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า อัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในจีนเพิ่มถึงร้อยละ 16 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในกรุงปักกิ่งอัตราผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มถึงร้อยละ 60 จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตเพิ่มจากราว 50 ต่อ 100,000 คน ในปี 2543 ถึงเกือบ 60 ต่อ 100,000 คนในอีก 12 ปีต่อมา ขณะที่อัตราผู้ป่วยมะเร็งเต้านมก็เพิ่มสูงขึ้นในหมู่ผู้หญิงจีน คร่าชีวิตในแต่ละปีมากเกือบเท่ากับโรคมะเร็งปอด
กั๋วะ ซิงหลัน (กลาง) กำลังรับประทานอาหารกับญาติพี่น้องในห้องเช่าใกล้โรงพยาบาลในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2558 ระหว่างเดินทางมาตรวจปอดประจำปี หลังจากโรคมะเร็งปอดทุเลาแล้ว –เอพี
แองเจล่า แพร็ตต์ หัวหน้างานฝ่ายรณรงค์ควบคุมบุหรี่ในจีนขององค์การอนามัยโลกระบุว่า อัตราการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมลพิษในอากาศมีส่วนทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

ขณะที่ชุย เสี่ยวโป๋ อาจารย์ด้านเวชศาสตร์สังคม แห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงปักกิ่ง ซึ่งเพิ่งปลดเกษียณกล่าวว่า การป่วยโรคมะเร็งเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ใช่จากมลพิษในอากาศเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้น อัตราชาวจีนป่วยโรคมะเร็ง ที่เพิ่มขึ้นยังมีสาเหตุประการหนึ่งมาจากจีนเป็นสังคม ที่มีผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วยนั่นเอง

ด้านเฉิน ซูหง เจ้าของโรงแรมพิเศษสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเล่าว่า ผู้ต้องการเช่าห้องพักของเธอ ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็งในกรุงปักกิ่งมีจำนวนสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเธอเริ่มต้นทำธุรกิจนี้ด้วยห้องเช่าเพียงห้องเดียว ซึ่งลุงของเธอทิ้งไว้ให้ หลังจากเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดด้วยวัยเพียง 59 ปี และปัจจุบันเฉินเช่าห้องพัก 10 ห้อง ทำเป็นโรงแรมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

“ ถ้ารัฐบาลบอกว่า ห้ามทำ ฉันก็จะไม่ทำ แต่มีผู้คนเป็นมะเร็งกันมากเหลือเกิน และต้องการโรงแรมที่พัก” เธอกล่าวในตอนสุดท้ายของการให้สัมภาษณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น