ศูนย์ข่าวขอนแก่น - คนอีสานครองแชมป์ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีสูงสุดในประเทศ 14,000 รายต่อปีพบเพศชายสูงสุด ช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เผยเทศบาลนครขอนแก่นจับมือ ม.ขอนแก่น ตรวจคัดกรองผู้ป่วยในชุมชน พร้อมกำหนดมาตรการเฝ้าระวังเต็มที่ ย้ำชัดห้ามกินของดิบ โดยเฉพาะก้อยปลา กุ้งจ่อม ลาบก้อย
วันนี้ (10 ก.ค.58) ที่หอประชุมโรงเรียนเทศบาลบ้านโนทัน เขตเทศบาลนครขอนแก่น นายศิวโรจน์ มุ่งหมายผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดโครงการ “เทศบาลนี้มีรัก” ครั้งที่ 2 และ “วาระอีสานต้านภัยมะเร็งท่อน้ำดี กับมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีสัญจร ครั้งที่ 27” ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.), มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อตรวจคัดกรองคนในชุมชนเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า การเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคต่างๆให้กับชุมชน โดยเฉพาะการให้บริการด้านสาธารณสุข เป็นนโยบายสำคัญที่เทศบาลนครขอนแก่นให้บริการและดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้มะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ ทั้งเกิดขึ้นมากในภาคอีสาน จึงจัดกิจกรรมร่วมกันทุกฝ่าย ในรูปแบบจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่นำร่องในชุมชนเทศบาลโนนทัน ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเขตเทศบาล เพื่อแก้ปัญหาและให้บริการรูปแบบต่างๆอย่างรวดเร็ว
โดยกำหนดแผนงาน 6 รูปแบบ ประกอบด้วยสถานีคลายทุกข์, สถานีรักสุขภาพ, สถานีเพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย, สถานีรักสิ่งแวดล้อม, สถานีความปลอดภัย และสถานีคลายเครียด ซึ่งสถานีรักสุขภาพที่จัดให้ตรวจสุขภาพทั่วไป และตรวจเฉพาะทางของมะเร็งท่อน้ำดี เป็นสถานีที่ได้รับความสนใจจากชาวชุมชนมากที่สุด
“ตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีวันนี้ มีประชาชนขอตรวจมากถึง 500 คน ซึ่งมะเร็งท่อน้ำดีในไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว สาเหตุเกิดจากการรับประทานปลาน้ำจืดมีเกล็ดแบบสุกๆดิบๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ ซึ่งคนอีสานหามารับประทานกันแบบสุกๆดิบๆ ทั้งประกอบอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะก้อยปลา , กุ้งจ่อม หรือแม้กระทั่งอาหารอีสานชื่อดัง อย่างลาบ-ก้อย ที่มักปรุงสุกๆดิบๆ ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้ง่าย” นายธีระศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รองประธานมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทย ในสัดส่วนเพิ่มขึ้นถือเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขสำคัญ ต้องเร่งแก้ไข เริ่มที่กระบวนการให้ความรู้ การตรวจคัดกรอง และการรักษา จากสถิติข้อมูลปีที่ผ่านมาพบว่าภาคอีสานของไทย พบผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีมากถึง 14,000 ราย อีกทั้งยังมีกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีมากถึง 6 ล้านคนต่อปี
จำเป็นต้องประสานความร่วมมือทั้งในส่วนโรงพยาบาลต่างๆ รวมไปถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น นำเครื่องอัลตราซาวด์ระบบคอมพิวเตอร์มาตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหาผู้ป่วยระยะแรกเริ่ม เมื่อพบจะส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมไปถึงโรงพยาบาลหลักที่รักษาโรคนี้โดยเฉพาะคือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่รองรับการส่งต่อรักษามาจากโรงพยาบาลต่างๆในภาคอีสาน
อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งท่อน้ำดี ถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ ตรวจคัดกรองด้วยการอัลตราซาวด์ตับปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อยับยั้งผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวให้เข้าสู่ขั้นตอนของการผ่าตัดจนนำไปสู่การหายขาดของโรคได้ในที่สุด