xs
xsm
sm
md
lg

ภาพถ่ายดาวเทียมเผยจีนเร่งสร้าง ‘ลานบิน’ ทางการทหารบนหมู่เกาะพิพาททะเลจีนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สองภาพถ่ายดาวเทียมแสดงความก้าวหน้าของการก่อสร้างลานบิน บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยภาพบน วันที่ 6 ก.พ. และภาพล่าง วันที่ 23 มี.ค. 2558 (ภาพ เจนส์ ดีเฟนซ์ วีคลีย์)
รอยเตอร์ส - พญามังกรรุกคืบผืนทะเลจีนใต้ เร่งมือสร้าง ‘ลานบิน’ เพื่อการใช้งานของกองทัพบนหมู่เกาะพิพาท สร้างความวิตกกังวลต่อเนื่องแก่คู่ปรับอย่างสหรัฐอเมริกาและเพื่อนบ้านในเอเชีย ด้านทูตจีนแดนมะกันตอกกลับสหรัฐฯ ไม่มีสิทธิ์สอดแนมชาวบ้าน

เจนส์ ดีเฟนซ์ วีคลีย์ (Jane’s Defence Weekly) นิตยสารด้านกิจการทหารของอังกฤษเผย (16 เม.ย.) ชุดภาพถ่ายดาวเทียมจากกองป้องกันและกิจการอวกาศแห่งแอร์บัส (Airbus Defence and Space) ที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 23 มี.ค. โดยแสดงภาพการก่อสร้างลานบินบริเวณแนวปะการังเฟียรี ครอส รีฟ หมู่เกาะสแปรตลีย์อันเป็นข้อพิพาทระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไต้หวันอยู่ในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้มีการตีพิมพ์ชุดภาพฯ ในเดือนมี.ค. เผยกระบวนการทำงานลักษณะเดียวกัน บริเวณแนวปะการังซูบูของเกาะสแปรตลีย์ ซึ่งหากการถมทะเลทั้งสองแนวดังกล่าวเชื่อมต่อเข้าด้วยกันสำเร็จ ก็จะเกิดพื้นที่ว่างเพียงพอสำหรับลานบินความยาวหลายพันเมตร

ขณะเดียวกันยังมีชุดภาพอื่นๆ ที่ชี้ว่าจีนกำลังขยับขยายลานบินอีกหนึ่งแห่งบนหมู่เกาะพาราเซลของทะเลจีนใต้อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นเส้นทางลำเลียงขนส่งสินค้าสายสำคัญ ซึ่งมีมูลค่าการค้าขายกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแต่ละปี
ภาพถ่ายดาวเทียม (17 มี.ค.) เผยภาพเรือจีนกำลังขุดลอกทรายบริเวณแนวปะการังเสื่อมโทรมของหมู่เกาะสแปรตลีย์ (ภาพ เอเอฟพี)
ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CSIS) ของสหรัฐฯ ระบุการพิจารณาชุดภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดว่า การก่อสร้างรันเวย์เดินหน้าไปแล้วราวหนึ่งในสามจากความยาวทั้งสิ้น 3,110 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับอากาศยานสู้รบและอากาศยานขนส่งทางการทหาร

ซีเอสไอเอสเสริมว่าการถมทะเลอาจช่วยจีนตอกย้ำการอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองพื้นที่พิพาท ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ไกลจากชายฝั่งจีนมากกว่า 1,600 กิโลเมตร โดยจะทำให้จีนสามารถออกลาดตระเวณทางอากาศและทางทะเลในระยะทางไกลยิ่งขึ้น
ภาพถ่ายดาวเทียม (16 มี.ค.) แสดงเรือจีนกำลังขุดลอกทราย (ภาพ เอเอฟพี)
ด้านประธานคณะกรรมาธิการการทหารแห่งวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา จอห์น แม็คเคน กล่าวว่า กรณีความเคลื่อนไหวดังกล่าวของจีนนั้น “ก้าวร้าว” และคณะผู้นำสหรัฐฯ ภายใต้การดำเนินงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็จำเป็นต้องแสดงบทบาทเคลื่อนกำลังสู่ภูมิภาคเอเชียอันมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศในเอเชียที่วิตกกังวลกับอิทธิพลจีน

นายแม็คเคนยังอ้างข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐฯ เดือนก.พ.ว่า กระบวนการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยมากขึ้นของจีน มีเป้าหมายแข่งขันกับความแข็งแกร่งของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันควรรักษาผลประโยชน์ทางการทหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไว้ให้ได้

ขณะที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงว่า พฤติกรรมรุกรานน่านน้ำทะเลจีนใต้ของจีนได้สุมทุมความตึงเครียดภายในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยสหรัฐฯ ไม่เชื่อว่าการถมทะเลขนาดใหญ่พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันตั้งใจให้เกิดป้อมปราการทางการทหารบนพื้นที่พิพาทนี้ สอดคล้องกับความปรารถนาสันติสุขและเสถียรภาพของภูมิภาคท้องถิ่น
ภาพถ่ายดาวเทียม (16 มี.ค.) กองเรือจีนกำลังขุดลอกทรายบริเวณแนวปะการังเสื่อมโทรมของหมู่เกาะสแปรตลีย์ (ภาพ เอเอฟพี)
อนึ่งนายชุย เทียนไข่ เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ กล่าว ณ ที่ประชุมในกรุงวอชิงตันวานนี้ ระบุเป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่แผนงานถมทะเลจะเกี่ยวโยงกับโครงสร้างอำนวยความสะดวกแก่กองทัพทหาร

“ไม่ควรเข้าใจผิดว่าใครก็ตามสามารถกำหนดสถานภาพเดิมให้กับจีน หรือละเมิดอำนาจอธิปไตยของจีนซ้ำไปซ้ำมาโดยปราศจากนัยยะสำคัญ”

ทูตชุยยังตอกกลับต่อด้วยการอ้างอิงกิจกรรมทางอากาศของอเมริกา พร้อมแจกแจงว่า ‘อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล’ (UN Convention on Law of the Sea) ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นผู้ร่วมลงนาม มิได้มอบสิทธิ์ให้ใครมาจัดการ “สอดแนมอย่างใกล้ชิดและละเอียดถี่ถ้วนในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของประเทศอื่น”
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงการก่อสร้างลานบินของจีน บริเวณแนวปะการังเฟียรี ครอส รีฟ ของหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ (ภาพ รอยเตอร์ส)
ภาพถ่ายดาวเทียมสองชิ้นที่เปรียบเทียบสภาพแนวปะการังเฟียรี ครอส รีฟ โดยภาพซ้ายบันทึกเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2557 ส่วนภาพขวาบันทึกเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2558 (ภาพ รอยเตอร์ส)

กำลังโหลดความคิดเห็น