xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นร้องจีนเคารพ กม.ระหว่างประเทศใน “ข้อพิพาททางทะเล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ญี่ปุ่นเรียกร้องในวันนี้ (12 ก.พ.) ให้จีนเคารพกฎหมายระหว่างประเทศในข้อพิพาททางดินแดน ขณะที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอภิปรายซึ่งนับเป็นความพยายามล่าสุดที่จะรวบรวมข้อคิดเห็นจากนานาชาติเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศของตนกับจีน

“ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เราต่างได้เห็นความขัดแย้งและความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นในน่านน้ำต่างๆ ของเอเชีย” ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวในคำปราศรัยหลักในช่วงเปิดการประชุมนาน 2 วันนี้ซึ่งมีเจ้าหน้าการทูตและนักวิชาการหลายคนเข้าร่วม

“สิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับสันติภาพและเสถียรภาพในน่านน้ำของเอเชีย ณ ตอนนี้ก็คือ การบังคับใช้หลักนิติธรรมที่เข้มงวดกว่านี้” เขากล่าว

การประชุมอภิปรายนัดนี้ซึ่งมีนักวิชาการจากจีน, เวียดนาม และชาติตะวันตกบางประเทศเข้าร่วม มีขึ้นในขณะที่ปักกิ่งกำลังพัวพันกับความขัดแย้งทางดินแดนต่างๆ ในภูมิภาค

ปักกิ่งและโตเกียวขัดแย้งกันในเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งญี่ปุ่นครอบครองอยู่และเรียกว่า “เซ็นกากุ” แต่จีนก็อ้างกรรมสิทธิ์ในชื่อว่า “เตี้ยวอี๋ว์”

นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา โตเกียวและปักกิ่งมักกระแทกกระทั้นกันทางการทูตจากประเด็นดังกล่าว โดยเรือและเครื่องบินของทางการจีนมักจะไปฉวัดเฉวียนทดสอบกองกำลังของญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6) เรือจีน 2 ลำแล่นเข้ามาในน่านน้ำของหมู่เกาะดังกล่าวของญี่ปุ่น

การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของญี่ปุ่นที่จะแสดงจุดยืนของตนในข้อพิพาทนี้ ในแบบที่เป็นไปตามหลักคิดทางวิชาการ

ในวันนี้ (12) ชิเงอิ ซาคาโมโตะ จากมหาวิทยาลัยโดชิชะในเกียวโต กล่าวว่า จีนจำเป็นที่จะต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ที่พวกเขาระบุว่า “เส้นประ 9 เส้น” กำหนด “น่านน้ำทางประวัติศาสตร์” ของพวกเขา

“ข้อสงสัยเกี่ยวกับความชอบธรรมของการอ้างเส้นประ 9 เส้นควรได้รับการตัดสินตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea : UNCLOS) และกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไป” ซาคาโมโตะ กล่าว

จนถึงตอนนี้ “จีนยังไม่เคยให้คำชี้แจงขยายความใดๆ เลย” เขากล่าว

ฟิลิปปินส์และเวียดนามเป็นประเทศที่ปากกล้าที่สุดในภูมิภาคนี้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางขนส่งและพื้นที่ทำประมงที่สำคัญ และเชื่อมีแหล่งแร่มากมายมหาศาลซ่อนงำอยู่

บรูไน, มาเลเซีย และไต้หวัน ก็มีการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนเหนือน่านน้ำดังกล่าวด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น