xs
xsm
sm
md
lg

สมช.-ทร.ปรับยุทธศาสตร์ทางทะเลให้ทันสมัย - รองนายกฯ ชู 4 ประเด็นรักษาประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
“ประวิตร” นั่งประธานแจงแผนงานด้านความมั่งคงแห่งชาติทางทะเล ปี 58-64 ชู 4 ประเด็นสำคัญรักษาผลประโยชน์ทางทะเล ทั้งมูลค่าเศรษฐกิจที่สูงขึ้น-ภัยคุกคาม-ประชาคมอาเซียน และเข้าภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ร่วมเป็นเจ้าของในช่องแคบมะละกา แนะบูรณาการร่วม 6 หน่วยงาน เน้นป่าชายเลน ด้าน สมช.เผยปรับแผนให้ทันสมัย ขณะที่ ผบ.ทร.ระบุใช้กลไก 2 ระดับ รับสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่ม



วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อเวลา 09.30 น. สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับกองทัพเรือได้จัดการประชุมเพื่อชี้แจงแผนงานด้านความมั่งคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ. 2558-2564 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนได้เข้าใจ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหมเป็นประธาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสมช. ผู้แทนหน่วยงานกองทัพเรือ ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ชองชาติทางทะเล หน่วยงานด้านความมั่นคง รวมถึงองค์กรมหาชน องค์กรอิสระ และภาคประชาชนเข้าร่วม

พล.อ.ประวิตรกล่าวเปิดงานว่า ตนขอขอบคุณผู้ที่จัดงานในครั้งนี้ เพื่อสร้างความรับรู้และตระหนักถึงผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล พร้อมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆที่จะเข้ามาทำหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลถือว่าเป็นความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประเด็นที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1. มูลค่าทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากทางทะเล ซึ่งปัจจุบันได้มีการประเมินผลประโยชน์ทางทะเล แล้วว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2. เรื่องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งการลักลอบค้าสิ่งผิดกฎหมายทางทะเล การลักลอบเข้าเมือง การทำลายสภาพแวดล้อมทางทะเล และภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น 3. การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558 ส่งผลให้เปิดเสรีในการค้าและการดำเนินการต่างๆ ถือเป็นโอกาสและความท้าทาย ในการบริหารจัดการทางทะเลของประเทศไทย และ 4. การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องกฎหมายทะเลในปี ค.ศ. 1982 และการเข้าร่วมเป็นเจ้าของในช่องแคบมะละกา ส่งผลให้บทบาทและความรับผิดชอบของประเทศไทยในประชาคมระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นในการรักษาผลประโยชน์จึงได้กำหนดให้แผนความมั่นคงของชาติทางทะเลนั้นตีกรอบแนวทางให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันดูแลผลประโยชน์ของชาติ เพื่อทำให้ทะเลนั้นเป็นพื้นที่ที่สามรถแสวงหาและรักษาผลประโยชน์อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ หากทุกหน่วยงานได้เข้ามาร่วมกันบูรณาการโดยให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว ตนเชื่อว่าสามารถดูแลผลประโยชน์และความมั่นคงทางทะเลได้อย่างแน่นนอน

“เรามีความจำเป็นต้องบูรณาการหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทางทะเล ทั้ง 6 หน่วยงานที่จะดำเนินการที่ให้เข้ามาสู่การปฏิบัติให้ได้ เพื่อให้สามารถควบคุมทางทะเลให้ได้โดยเด็ดขาด ทรัพยากรธรรมชาติต้องถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ เพราะเป็นผลประโยชน์ที่เรามองไม่เห็น ทั้งพลังงาน และสิ่งอื่นๆ มาก ซึ่งผลประโยชน์ทางทะเลก็มีความเกี่ยวข้องถึงบนบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าชายเลน ถ้าเรามีแผนงานที่ชัดเจนว่าจะดูแลผลประโยชน์ทางทะเลอย่างไร ผมมุ่งหวังให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดูแลทรัพยากรทางทะเลไว้ให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เป็นการเอื้อประโยชน์กับลูกหลานในอนาคต ซึ่งพลังงานทางทะเลถือว่ามีอยู่มหาศาลเป็นสิ่งที่ช่วยชาติให้ยั่งยืนและมั่นคงตลอดไปได้” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ด้านนายอนุสิษฐกล่าวว่า สมช.ร่วมกับกองทัพเรือจัดการประชุมดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการให้ทราบว่ารัฐบาลได้เห็นชอบและกำหนดให้ประเทศไทยมีแผนงานด้านความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ. 2558-2564 เป็นเกราะและแนวทางให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงทางทะเล และเป็นทิศทางในการดำเนินการที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก โดยได้จัดทำนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2536 ในปัจจุบันสถานการณ์ที่มีผลต่อความอยู่รอดปลอดภัยของชาติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะความสำคัญของผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั้งทางด้านอาหาร พลังงาน การท่องเที่ยว การขนส่งทางทะเล การรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล กิจกรรมทางทะเลและมิติความมั่นคงด้านอื่นๆ

เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ สมช.จึงได้ทบทวนและพัฒนาแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลขึ้นใหม่ให้ทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตลอดจนแผนดังกล่าวต้องสามารถสนองต่อผลประโยชน์ของชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นนโยบายในเชิงป้องกันและเป็นนโยบายเชิงรุกเพื่อกำหนดทิศทางกิจการความมั่นคงทางทะเลในภาพรวมทั้งหมด อีกทั้งเป็นแผนฉบับแรกที่มีการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ทางด้านการพัฒนาและแผนงานด้านความมั่นคงทางทะเล เพื่อให้ทิศทางการขับเคลื่อนมีความสอดคล้องกันและมีเป้าหมายในการสร้างความมั่นคง ความมั่งคั่งและความยั่งยืน ซึ่งแผนดังกล่าวได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีมติเห็นพ้องความจำเป็นที่จะใช้แผนดังกล่าวเป็นเกราะพิทักษ์ปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลต่อไป

ขณะที่ พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า แนวทางในการนำแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลไปสู่การปฏิบัติเป็นการดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีแผนหรือยุทธศาสตร์ใดๆ ที่มีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ มาบริหารจัดการผลประโยชน์ความมั่นคงของชาติทางทะเลอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้มีการจัดตั้งกลไก 2 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับนโยบายที่มีคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลโดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่อำนวยการและกำกับดูแล ตลอดจนติดตามผลการดำเนินการงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล 2. ระดับปฏิบัติทั้งส่วนกลางและพื้นที่ ที่ปัจจุบันที่ศูนย์อำนวยการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. ประกอบด้วย 6 หน่วยงาน ได้แก่ กองทัพเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงหน่วยงานรับผิดชอบ 20 หน่วยโดยมีกองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทำหน้าที่ประสานและสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยต่างๆ ทางทะเลบริเวณพื้นที่รับผิดชอบ

พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวต่อว่า จากการประเมินสถานการณ์ทางทะเลพบว่าภัยคุกคามรูปแบบใหม่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลและมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงขยายขอบเขตให้กว้างขวางมากขึ้น ถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่บูรณาการบริหารจัดการด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพจึงมีการยกระดับบทบาทของ ศรชล.จากศูนย์ประสานงานเป็นศูนย์อำนวยการเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและสร้างความร่วมมือในเครือข่ายให้มีความปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น