ศตวรรษภาพยนตร์จีน (11) / ยุคที่นักศึกษาผละจากเมืองไปทำงานแรงงานในชนบท ปีค.ศ.1969 เฉินข่ายเกอกับเถียนจ้วงจ้วงก็เดินทางจากปักกิ่งไปซึมซับประสบการณ์เช่นเดียวกับนักศึกษาร่วมสมัยคนอื่นๆ เถียนจ้วงจ้วง (ผู้กำกับหนังรุ่นเดียวกัน)ไปที่หมู่บ้านในภาคอีสาน ส่วนเฉินข่ายเกอไปที่ตำบลจิ่งหง (ปัจจุบันมีฐานะเป็นเมืองที่คนไทยรู้จักดีคือ เชียงรุ่ง) ในมณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน)
มารดาของเฉินซึ่งเจ็บออดๆแอดๆ มาเป็นเวลานานเป็นผู้จัดเตรียมสัมภาระให้แก่เขา มารดาและน้องสาวซึ่งยังอ่อนวัยเป็นเสมือน ‘ห่วง’ ที่เฉินยังกังวลในหนทางข้างหน้า เขาเคยยอมรับว่า วันที่ต้องจากบ้านบิดาเป็นผู้ไปส่งที่สถานีรถไฟ เมื่อขบวนรถค่อยๆเคลื่อนออกจากชานชาลา เฉินมองดูร่างของบิดาค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ จนหายไปจากสายตาของเขาแล้วแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เฉินต้องนั่งก้มหน้าเพื่อหลบไม่ให้ผู้คนเห็นแววตาที่อ่อนแอของตน
เมื่อกล่าวถึงบิดาของเฉินข่ายเกอ เฉินยังคงไม่ลืมบาปในคืนที่ทำให้บิดาเจ็บช้ำน้ำใจ เมื่อเขาเข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มเรดการ์ดและกลุ่มกบฏที่รุมต่อต้านบิดาของตน เฉินหวยข่าย ข่ายเกอในวัยไร้เดียงสาเพียง 14 ปีไม่เข้าใจเลยว่า การกระทำในครั้งนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุผลใด
ภายหลังเมื่อเฉินเติบโตขึ้น เขามีโอกาสกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นอีกหลายครั้ง เขาพบว่าคำตอบของการกระทำดังกล่าว คือ ความกลัวตายและความอยากได้รับการยอมรับจากกลุ่ม และยินยอมถูกครอบงำอย่างไร้จิตสำนึกโดยกลุ่มมวลชนที่บ้าคลั่ง
แม้เมื่อกาลเวลาผ่านไป ข่ายเกอยังคงขมขื่นกับ ‘ความอยากมีส่วนร่วม’ ในการทำร้ายชายผู้อยู่ในกรอบและมีจิตใจดีงามเช่นบิดาของตนในครั้งนั้นไม่ลืมเลือน เขาใช้เวลาพูดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมไปถึงการกล่าวถึงในผลงานภาพยนตร์ของตนเอง เพื่อเป็นการพิจารณาประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ และขณะเดียวกันก็เป็นการทบทวนตนเองที่ผ่านมาด้วย
การใช้ชีวิตในชนบทในช่วงวัยรุ่น 16-17 ปีของเฉิน เป็นวัยแห่งการเริ่มต้นของชีวิตที่พร้อมเต็มที่ที่จะซึมซับประสบการณ์แปลกใหม่ท้าทายนานาประการ ในขณะที่ชีวิตชนบทและธรรมชาติอันพิสุทธิ์ก็เป็นบ่อเกิดแห่งพลังสร้างสรรค์ที่เติมเต็มให้จิตวิญญาณของการแสวงหาของเฉินได้เรียนรู้ไม่จบสิ้น ซึ่งหนทางสร้าง ‘ตัวตน’ ของเฉินข่ายเกอยังคล้ายคลึงกับผู้กำกับหนังร่วมรุ่นที่โด่งดังต่อมาอีกหลายคน
เฉินข่ายเกอเป็นอดีตปัญญาชนอาสาคนหนึ่งที่ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการฝึกฝนความแข็งแกร่งและการฝึกหัดงานแรงงานในชนบท หลังออกจากหยุนหนันกลับสู่เมืองหลวง เขามุ่งมั่นที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่งคณะวรรณกรรม ทว่าสอบไม่ติด ต่อมาจึงสอบเข้ามหาวิทยาลัยภาพยนตร์ในจูซินจวงได้
การพลาดหวังจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นเรื่องที่เฉินยากที่จะทำใจ เพราะเขามีความใฝ่ฝันที่จะเข้าเรียนในสายวรรณกรรมมาโดยตลอด มารดาของเฉินเป็นผู้เคี่ยวเข็ญให้เขาเรียนอ่านวรรณกรรมด้วยตนเองมาตั้งแต่ 7 ขวบแล้ว แม้แต่เมื่อตอนที่เขาต้องไปอยู่ต่างจังหวัดมารดานี่เองที่เป็นคนจัดหนังสือลงกระเป๋าเดินทางอีกใบหนึ่งให้แก่เขา ในนั้นเป็นหนังสือปรัชญาขงจื๊อ ปรัชญาต่างประเทศ บทกวีสมัยถัง-ซ่ง และวรรณกรรมคลาสิกเรื่อง ‘ความรักในหอแดง’ ฯลฯ
ดังนี้แล้ว ความคิดความอ่านของข่ายเกอจึงค่อยๆสุกงอมขึ้นพร้อมกับคำรจนาที่งดงามเหล่านี้ ท่ามกลางภูเขา สายธารและแมกไม้ในชนบท
หากจะกล่าวว่า ผู้เรียนรู้ได้บันทึกเรื่องราวที่ก้าวผ่านในประวัติศาสตร์ลงบนก้านไผ่ แผ่นหนังสัตว์ ผืนผ้า และกระดาษ ออกมาเป็นงานวรรณกรรมประดับโลก สำหรับลูกผู้ชายคนนี้แล้ว เขามีแผ่นฟิล์มเป็นเครื่องมือบันทึกความทรงจำในชีวิต ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชนชาติตามมุมมองของเขา
**************************************************
เฉินข่ายเกอ
เฉินข่ายเกอ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ผู้กำกับจีนรุ่นที่ห้า’ เกิดเมื่อ 12 สิงหาคม ปีค.ศ.1952 ที่ปักกิ่ง ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เมืองฉางเล่อ มณฑลฝูเจี้ยน ปี 1970 เข้าร่วมในกองทัพ ปี 1976 เข้าทำงานในสตูดิโอล้างฟิล์มภาพยนตร์ปักกิ่ง ปี 1978 สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยภาพยนตร์ปักกิ่ง สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ จบการศึกษาในปี 1982
เฉินมีผลงานออกสู่สายตาผู้ชมนับตั้งแต่ปี 1984 ที่มีชื่อเสียงได้แก่ 《黄土地》(หวงถู่ตี้) 《大阅兵》(ต้าเยี่ยว์ปิง) 《孩子王》(ไหจื่อหวัง) 《边走边唱》(เปียนโจ่วเปียนชั่ง) 《霸王别姬》(ป้าหวังเปี๋ยจี) 《风月》(เฟิงเยี่ยว์) เป็นต้น
ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของผู้กำกับท่านนี้ได้มีโอกาสเข้าชิงรางวัลหนังในเทศกาลหนังนานาชาติสำคัญๆหลายครั้ง ความสำเร็จของเฉินข่ายเกอหลายคนยกให้การเติบโตของจิตวิญญาณอันสูงส่งที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมนุษย์ ที่สามารถแสดงออกมาในหนังได้อย่างยอดเยี่ยม เฉินยังใส่ใจในสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์และสาระในการดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเอง
นอกจากนั้น เขายังนิยมวิภาคประวัติศาสตร์และภาระหน้าที่บางอย่างตามกรอบประเพณีโบราณ ที่มีอิทธิพลครอบงำจิตใจมนุษย์ เปิดเผยความซับซ้อนในใจมนุษย์ และชี้ข้อบกพร่องและความอ่อนแอของมนุษย์ที่ไร้ศีลธรรม
‘หวงถู่ตี้’ และ ‘ป้าหวังเปี๋ยจี’
หนังหลายเรื่องของเฉินเต็มไปด้วยท่วงทำนองแห่งชีวิตที่กลมกลืน มีต้นสายปลายเหตุทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง และเอาจริงเอาจังในการนำวิชาความรู้ด้านศิลปะมาใช้ หนังในยุคเริ่มต้นที่เป็นที่กล่าวขวัญถึง คือ หวงถู่ตี้ เป็นภาพยนตร์ที่บรรยายเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่น (ค.ศ.1937-1945)
‘หวงถู่ตี้’ หรือ ดินแดนแม่น้ำเหลือง
ภาพยนตร์ที่กล่าวถึงชีวิตของ กู้ชิง เจ้าหน้าที่แผนกศิลปวัฒนธรรมในกองทัพที่ 8 (八路军) ที่เดินทางจากเมืองเหยียนอันขึ้นเขาไปเก็บรวบรวมเพลงพื้นเมือง เธอไปอาศัยอยู่กับครอบครัวชาวนาที่ยากจนครอบครัวหนึ่งที่จับลูกสาวแต่งงานแบบคลุมถุงชน กู้ชิง ได้เปลี่ยนชีวิตของเด็กสาวโดยเป็นแรงบันดาลใจให้เธอกระโดดลงแม่น้ำเหลือง หนีครอบครัวสามีมาเข้าร่วมกับกองทัพที่ 8
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคำชมในฐานะที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอันบริสุทธิ์ที่มีต่อผืนแผ่นดินและประชาชน และยังถ่ายทอดภาพประเพณีชีวิตได้อย่างยิ่งใหญ่สมจริง ดังเช่น ฉากพิธีกรรมขอฝนที่มีดาราและตัวประกอบเข้าฉากกว่า 150 ชีวิต
‘หวงถู่ตี้’ ได้รับรางวัลไก่ทองคำด้านการถ่ายภาพยอดเยี่ยม ในปี 1985 และอีก 6 รางวัลจากงานเทศกาลหนังนานาชาติ อาทิ งานเทศกาลหนังเมือง Locarno ครั้งที่ 38 ที่สวิตเซอร์แลนด์ ในปีเดียวกัน
‘ป้าหวังเปี๋ยจี’ หรือ Farewell to my Concubine
หลังยุคปีทศวรรษที่ 90 (ศตวรรษที่แล้ว) เฉินฉีกแนวการทำหนังในสมัยก่อนมาสร้าง ‘ป้าหวังเปี๋ยจี’ (ชื่อไทย ‘หลายแผ่นดิน-แม้สิ้นใจก็ไม่ลืม’) หนังที่หยิบชีวิตนักแสดงงิ้วมาเล่า กล่าวถึง โศกนาฏกรรมชีวิตของดารางิ้วที่ตกอยู่ในวังวนของความลวงหรือ ‘บทบาทการแสดง’ มาตั้งแต่เล็กจนโต หนังยังสะท้อนถึงชะตากรรมของพวกเขา(ศิลปิน)ในช่วงก่อนและระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่สอดแทรกภาพความงดงามของศิลปการแสดงแบบตะวันออกไว้อย่างกลมกลืนอีกด้วย
ในขั้นแรกภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกห้ามโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในประเทศจีน จนถึงถูกห้ามฉาย แต่ภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบทพูดเพียง 1 ประโยคก็ได้รับอนุญาตให้ฉายในแผ่นดินใหญ่ได้ ทำรายได้ไปราว 150 ล้านหยวน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังนานาชาติถึง 8 รางวัล รวมถึงจากงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 46 ที่ประเทศฝรั่งเศส และรางวัลลูกโลกทองคำ ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นเกียรติประวัติครั้งแรกของภาพยนตร์จีน
** สารคดีชุด ‘ศตวรรษภาพยนตร์จีน’ นำเสนอทุกวันอาทิตย์ โปรดติดตามตอนหน้า : หนีชีวิตลำเค็ญ จนเป็นผู้กำกับ 'จางอี้โหมว'