ศตวรรษภาพยนตร์จีน(12)/ เมื่อย้อนมองหนังไม่น้อยกว่า 15 เรื่องที่ ’จางอี้โหมว’ กำกับ และประวัติการเติบโต จะพบว่าการดิ้นรนและเอาตัวรอดในสภาพสังคมช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน (1966-1976) เป็นช่วงชีวิตที่สำคัญที่สุดของจาง เขาไม่ใช่คนทะเยอทะยานหรือเต็มไปด้วยความฝัน แต่วิธีคิด ‘หนีรอด’ ในวัย 27 ปี เป็นก้าวแรกที่พลิกชีวิตจากหนุ่มโรงงานทอฝ้าย จนกลายเป็นผู้กำกับจีนระดับอินเตอร์ผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งก็ว่าได้
หลังเรียนจบมัธยมต้นในปี ค.ศ.1968 เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวยุคนั้น จางไปเป็น ‘ปัญญาชนอาสาพัฒนาชนบท’ ที่อำเภอกัน มณฑลส่านซีบ้านเกิดของเขาตามนโยบายของทางการ ก่อนไปทำงานในโรงงานทอฝ้ายเสียนหยังที่ 8 แห่งส่านซี
เขาตัดสินใจยอม ‘ขายเลือด’ หาเงินมาซื้อกล้องถ่ายหนังสักเครื่อง เพื่อใช้เป็น ‘เครื่องมือ’ หนีรอดจากชีวิตลำเค็ญ พร้อมนับหนึ่งใหม่ด้วยการกลับสู่เมือง แล้วสอบเข้าเรียนในคณะถ่ายทำภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยภาพยนตร์ปักกิ่ง (北京电影学院) ในปี 1978
ต้นทศวรรษ 80 ภาพยนตร์เรื่อง อีเก้อเหอปาเก้อ (一个和八个) ซึ่งกำกับโดย จางจวินเจา สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการหนังจีน ด้วยเนื้อหาและมุมภาพใหม่ๆ ที่ทิ้งคราบหนังแนวปลุกระดมมวลชนอย่างสิ้นเชิง ถือเป็นหนังเปิดศักราช ‘ผู้กำกับรุ่นที่ 5’ แห่งแดนมังกร ในฐานะที่จางอี้โหมวเป็นหนึ่งในทีมถ่ายภาพ ทำให้เขาพลอยได้รับความสนใจจากคนในวงการแผ่นฟิล์มไปด้วย
จางอี้โหมวรับบทช่างภาพเต็มตัวในหนังเรื่อง หวงถู่ตี้ (黄土地 -Yellow Earth/1984) โดยเฉินข่ายเกอ “ดินเหลืองที่ไม่มีหญ้าขึ้นแม้แต่กอเดียว คือทรัพยากรหลักในพื้นที่ตอนเหนือของมณฑลส่านซี” จางตกตะกอนความรู้สึกที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวในชนบทมาไว้ในหนังเรื่องนี้ เขาจัดวางผืนฟ้าให้โน้มลงจดเส้นขอบฟ้าอย่างอ่อนโยน ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและแฝงความนัยของ ‘ดินเหลือง’ ออกมาเป็นภาพได้ลึกซึ้ง แจ่มชัด และคมคาย
หวงถู่ตี้ ได้รับรางวัลไก่ทองคำสาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม ในงานประกาศรางวัลครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นแรงหนุนให้จางอี้โหมวก้าวขึ้นเป็น ‘ตากล้องแถวหน้า’
ปี 1986 จางอี้โหมว ก้าวสู่ฐานะผู้กำกับเต็มขั้น กับหนังเรื่องแรก หงเกาเหลียง (红高粱 / Red Sorghum) เขาใช้สีสันพรรณนาเปรียบเทียบความเรียบง่ายกับความเร่าร้อนของการมีชีวิตอยู่ สะท้อนชีวิตดิบๆ ธรรมดาที่เหลือเชื่อ “ผมใช้อุปนิสัยของตัวละครมาชื่นชมความงามแห่งชีวิต ที่มีพลังคุกรุ่นตลอดไม่มอดดับลงง่ายๆ มีอิสรเสรี และมีความสุขกายสบายใจ”
ด้วยการใช้ภาษาหนังแนวใหม่อย่างมีชั้นเชิง ทำให้ ‘หงเกาเหลียง’ ได้รับเสียงตอบรับกึกก้องในต่างประเทศ คว้ารางวัล‘หมีทองคำ’ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังเบอร์ลินครั้งที่ 38 ทั้งยังจุดประกายให้เกิดการรู้จัก-เข้าใจแนวคิดศักดินาและวัฒนธรรมเก่าแก่ของจีนด้วย ก่อให้เกิดคำอธิบายชีวิตและความเป็นคนในแง่มุมที่แปลกใหม่
นอกจากเป็นตากล้องมือฉมังและผู้กำกับมือฉกาจแล้ว จางอี้โหมว ยังฉายแววนักแสดงเจ้าบทบาทในหนังเรื่อง เหลาจิ่ง (老井-Old Well/1986) กับบทพระเอกของเรื่องที่ไปเป็นปัญญาชนอาสาในชนบทเหมือนชีวิตจริงของเขา จางตีบทแตกจนคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมทั้งในประเทศและที่ญี่ปุ่น
ผลงานกำกับเรื่องต่อมาของจางอี้โหมว จูโด-เธอผิดหรือไม่ผิด (菊豆/1990) และ ผู้หญิงคนที่ 4 ชิงโคมแดง (大红的灯笼高高挂/1991) เลือกใช้ชะตากรรมของผู้หญิงเป็นสิ่งสะท้อนสังคมจีนยุคหนึ่ง ที่ถูกกดดันและถูกจองจำด้วยเงื่อนไขของชีวิต ซึ่งยิ่งย้ำแนวคิดและจิตวิญญาณหนังแบบฉบับจางอี้โหมวให้หยั่งรากและออกผลมากขึ้น โดยเฉพาะการให้ความสนใจกับที่สุดแห่งจิตใจมนุษย์ และประเด็นต่อต้านสังคมชนชั้นศักดินาในอดีตของแผ่นดินเกิด
จูโด(Ju Dou) ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 1991 ส่วนผู้หญิงคนที่ 4 ชิงโคมแดง ได้รับรางวัลสิงโตเงินจากเทศกาลหนังเวนิส และยังถูกเสนอชื่อ เข้าชิงรางวัลออสการ์อีกด้วย
มาถึงเรื่อง ชิวจี้ว์ต่ากวนซือ (秋菊打官司-The Story of Qiu Ju/1992) เขาทิ้งสัญลักษณ์และความหมายแฝงมากมาย หันไปสนใจสภาพสังคมที่แท้จริงและเรื่องทางโลกทั่วๆ ไป อาศัยรูปแบบสารคดีมาทำหนังที่แสดงปมขัดแย้งเรื่องถูกผิดในใจของคน เรื่องนี้นอกจากจะได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเวนิสแล้ว ยังดันให้ก่งลี่ได้รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมด้วย
จางทิ้งทวนหนังสะท้อนรอยยิ้มที่ต้องค้นหาของคนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์ชื่อดังเรื่อง หัวเจอะ (活着-To Live/1994) ซึ่งโดนแบนจากรัฐบาลจีน แต่กลับได้รับเสียงชมจากเวทีวิจารณ์หนังทั้งที่ฝรั่งเศสและอเมริกา โดยได้รางวัล Grand Jury Prize และ Best Actor Award ในงานเทศหนังเมืองคานส์
ปี 1997 จางอี้โหมวเปลี่ยนมุมมาทำหนังว่าด้วยชาวเมืองเรื่องแรก โหย่วฮว่าห่าวหาวซัว (有话好好说/1996) ซึ่งเขาไม่ได้เน้นการวิเคราะห์เรื่องราวอย่างมีเหตุมีผล แต่กลับพิถีพิถันกับการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเป็นสำคัญ
ในทัศนะของจางอี้โหมว “อารมณ์ของคนสื่อถึงกันได้ คนล้วนมีอารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกัน ไม่มีพรมแดน ไม่แบ่งเชื้อชาติ และความรู้สึกของคนดู คือโจทย์ที่ยากยิ่งในการทำหนัง ถ้าทำให้คุณประทับใจหวั่นไหวซาบซึ้งไปกับมันได้ยิ่งมาก คุณก็จะยิ่งชอบมัน หัวใจของภาพยนตร์จึงอยู่ที่ การสะกดอารมณ์ความรู้สึกหรือทำให้โดนใจคน”
อีเก้อโตวปู้เหนิงเส่า (一个都不能少 - Not One Less/1998 ) และ หว่อเตอฟู่ชินหมู่ชิน (我的父亲母亲-The Road Home /1999) เป็นสองเรื่องที่จางอี้โหมวพาผู้ชมหวนคืนสู่ชนบท
เรื่องราวของนักเรียนหญิงวัย 15 ปีที่ต้องกลายเป็นคุณครูจำเป็น ใน Not One Less ถือเป็นงานที่ฉีกตำราผู้กำกับทิ้ง แล้วให้การแสดงอย่างธรรมชาติที่เรียบง่ายของตัวเอก บวกกับเนื้อเรื่องที่น่าสะเทือนใจได้เล่าเรื่องอย่างเต็มที่ จนได้รับเสียงชมเชยล้มหลาม พร้อมได้รางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิส
ส่วนเรื่องThe Road Home ได้ใช้ท่วงทำนองของความทรงจำที่เศร้าสร้อยบอกเล่าความรักวันวานที่แสนบริสุทธิ์งดงาม
พอถึงเรื่อง ซิ่งฝูสือกวง (幸福时光 -Happy Time/2000) จางอี้โหมวละทิ้งเรื่องราวใหญ่โต แล้วหันมาใส่ใจชะตาชีวิตของคนตัวเล็กๆ ในสังคมแทน โดยเน้นนำเสนอความรู้สึกอันละเอียดอ่อนและอ่อนโยน
ถึงยุคที่อิงผู้บริโภคเป็นตัวกำหนดตลาด ผู้กำกับมือทองรุ่นที่ 5 ของจีนคนนี้ หันหลังให้กับหนังสไตล์เดิมๆ แล้วสร้างความตะลึงให้กับวงการแผ่นฟิลม์ ด้วยการทำหนังกำลังภายในครั้งแรก เรื่อง ฮีโร่ (英雄 / 2002) ซึ่งได้คะแนนนิยมล้นหลามจากคนดูในประเทศ และยกย่องให้เป็นหนังภาพสวยพร้อมแฝงแง่คิดเชิงปรัชญา
จางอี้โหมว เหมือนยังค้นหาตัวเองกับหนังบู๊ไม่จบ ในปี 2004 จึงเข็นเรื่อง จอมใจบ้านมีดบิน (十面埋伏 / House of Flying Daggers) มาสะกดใจผู้ชมอีกครั้ง ด้วยนิยายรัก 3 เส้าฉบับหนังกำลังภายใน
แม้ฮีโร่ และจอมใจบ้านมีดบินจะดูสนุก และมีลีลาเทียบชั้นฮอลลิวูด แต่ก็สัมผัสได้ว่า ขณะที่จางมุ่งให้คนดูดื่มด่ำกับอารมณ์ความรู้สึกผ่านมายาภาพที่สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันนั้น นัยทางวัฒนธรรมกำลังค่อยจืดจางไปจากหนังของจางอี้โหมวทีละน้อยๆ จนหลายคนถึงกับรู้สึกเหมือน ‘คนแปลกหน้า’ กับหนังเรื่องล่าของเขา ถึงขนาดลงความเห็นว่า จางได้ทิ้งจิตวิญญาณของ ‘ผู้กำกับจีนรุ่น 5’ ไปหมดสิ้นแล้ว
นอกจากงานกำกับภาพยนตร์แล้ว ช่วงไม่กี่ปีมานี้ จางยังมีงานกำกับโฆษณา และผลงานสร้างสรรค์หลากหลาย อาทิ ละครเพลง ถูหลันตั่ว (图兰朵) การแสดงท่ามกลางธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรสุดอลังการเรื่อง อิ้นเซี่ยง-หลิวซันเจี่ย (印象-刘三姐) ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ตลอดจนการกำกับบัลเลต์สไตล์จีนเรื่อง ผู้หญิงคนที่ 4 ชิงโคมแดง ในปี 2001
จางยังได้รับเกียรติให้เป็นผู้กำกับหนังโฆษณาชุด New Beijing, New Olympic ซึ่งทางการจีนใช้สำหรับเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2008 และเมื่อ 30 สิงหาคม 2004 การแสดงระบำโคมแดงและเพลง ม่อลี่ฮวา (茉莉花) หรือ ดอกมะลิ ได้ดังกระหึ่มขึ้นในพิธีปิดกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ อันเป็นฝีมือของจางอี้โหมวเช่นกัน
"ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากการสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยภาพยนตร์จีน หรือเรียนวิชาผู้กำกับ มันก็แค่ต้องการหา ‘ทางออก’ ให้กับชีวิตเท่านั้น ไม่ได้ ‘หลงรัก’ ภาพยนตร์หรือการเป็นผู้กำกับเลย…แต่เมื่อได้เลือกแล้ว ผมก็คิดที่จะทำมันให้ดี ” และนี่คือเบื้องหลังชีวิตที่กำกับเองของ ‘จางอี้โหมว’ 1 ใน 20 ผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่แห่งยุค ซึ่งคัดเลือกโดยนิตยสาร เอ็นเตอร์เทนเมนท์ วีคลีย์จากเมืองลุงแซม.
เรียบเรียงข้อมูลจาก นิตยสาร China Screen 《中国银幕》ฉบับเดือนธันวาคม 2004 และ www.movie001.com
** สารคดีชุด ‘ศตวรรษภาพยนตร์จีน’ นำเสนอทุกวันอาทิตย์ โปรดติดตามตอนหน้า 'เถียนจ้วงจ้วง : ผู้กำกับชั้นครู ผู้ปิดทองหลังพระ'