xs
xsm
sm
md
lg

หลากมิติ 100 ปีหนังจีนสู่ ‘ยุคไร้รุ่นผู้กำกับ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศตวรรษภาพยนตร์จีน(9)/หลังจากที่ภาพยนตร์จีนแจ้งเกิดเต็มตัวบนเวทีโลก พร้อมๆ กับที่ ‘ผู้กำกับรุ่น 5’ ได้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่ใช้แย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดหนังได้ดีเยี่ยมนั้น กลับเป็นยุคที่วงการแผ่นฟิล์มจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในครั้งใหญ่ เพราะผู้กำกับรุ่นถัดมามีความหลากในหลายแง่มุม มีภูมิหลังที่แตกต่าง มีบุคลิกเฉพาะตัวที่ฉีกแนวออกไป ทั้งยังมีที่ไม่ใช่ศิษย์ร่วมสถาบัน จนทำให้มีเสียงเรียกร้องให้ยุติการจัดรุ่นผู้กำกับเหมือนเช่นที่ผ่านมา

เมื่อมาถึงผู้กำกับรุ่นที่ 6 ซึ่งก้าวเข้าสู่วิชาชีพทำหนังในช่วงทศวรรษ 80 และเริ่มมีผลงานออกมาในช่วงต้นทศวรรษ 90 แม้ส่วนใหญ่จะมีความคิดไปในแนวเดียวกัน ทว่าสิ่งที่พวกเขาถ่ายทอดและสะท้อนผ่านหนังแต่ละเรื่อง กลับต่างกันไปคนละทิศคนละทาง จนหลายฝ่ายถึงกับฟันธงว่า “ดื้อรั้นเกินไปที่จะจัดพวกเขาให้เป็นผู้กำกับรุ่นเดียวกัน”
โหลวเยี่ย กับหนัง ‘จื่อหูเตี๋ย’ ที่ใช้ จางจื่ออี๋ เป็นนางเอก(ซ้าย) ‘ตงกงซีกง และ ลี่ว์ฉา’ ของจางหยวน(ขวา) สองผู้กำกับจีนรุ่นที่ 6
ผลงานส่วนใหญ่ของผู้กำกับแดนมังกรรุ่น 6 จะถูกจัดเป็นหนังใต้ดิน เช่นหนังของ เจี่ยจางเคอ ผู้กำกับหนุ่มไฟแรงที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากคนหนึ่ง และ จางหยวน(张元) ซึ่งมีผลงานสร้างชื่อเรื่อง ‘ตงกงซีกง (东宫西宫- EAST PALACE AND WEST PALACE/1996)’ หนังชีวิตชายรักชาย ที่ได้รางวัลจากเทศกาลหนังทั้งที่อิตาลี อาร์เจนตินา และสโลเวเนีย เขายังกำกับ เขียนบท และร่วมแสดงในเรื่อง ‘ลี่ว์ฉา(绿茶-Green Tea/2003)’ ซึ่งมี เจ้าเวย เป็นนางเอก

นอกจากนั้น ยังมี โหลวเยี่ย(娄烨) ที่มีหนังพอคุ้นหูเรื่อง ‘จื่อหูเตี๋ย (紫蝴蝶- Purple Butterfly/2003)’ โดยใช้ จางจื่ออี๋ เป็นนางเอกเพื่อหวังให้ติดตลาดหนังต่างประเทศ

ช่วงแรกผู้กำกับรุ่นที่ 6 ถูกติติงว่าถนัดสร้างแต่ ‘นิยายส่วนตัว’ ที่ไม่ตอบสนองตลาดและคนดูส่วนใหญ่ จนทำให้หลายคนบ่นว่า ‘ดูไม่รู้เรื่อง’ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เนื้อหาหนังของรุ่นที่ 6 เริ่มหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ที่ว่าด้วยเรื่องเฉพาะในเมืองหลวง ไปสู่หัวข้อที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และสะท้อนสังคมมากขึ้น คำนึงถึงทัศนคติของผู้บริโภค แล้วหันมาให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศแทนตลาดต่างประเทศมากขึ้น

วงการภาพยนตร์จีนที่มีอายุครบ 100 ปีในปี 2005 นี้ ได้เดินทางมาถึงผู้กำกับรุ่นที่ 7 แล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำหนังที่ขึ้นแท่นผู้กำกับหลังศตวรรษใหม่ ส่วนใหญ่จะเกิดหลังทศวรรษ 70 โดยผลงานของคนรุ่นใหม่นี้ แปลกแตกต่างกับรุ่นพี่ ทั้งแง่หัวข้อ เนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ และกลุ่มคนดู ผู้กำกับรุ่นนี้ที่มีชื่อมากที่สุด คือ ลู่ชวน(陆川) ที่แจ้งเกิดจากเรื่อง ‘สวินเชียง (寻枪-The Missing Gun/2001)’

ระยะหลัง ผู้กำกับหนังที่เข้าสู่วงการจอเงินแดนมังกร ใช่ว่าจะมีเพียงบัณฑิตสาขากำกับภาพยนตร์เท่านั้น หากแต่ยังมีบรรดา ‘ช่างภาพ’ ฝีมือพระกาฬที่ผันตัวเองไปเป็น ‘ผู้กำกับ’ โดยเฉพาะ‘ดวงตาทั้ง 3 แห่งวงการหนังจีน’ อันได้แก่ กู้ฉางเว่ย โหวหย่ง และ หลี่ว์เล่อ ซึ่งล้วนเป็นคนร่วมรุ่นกับผู้กำกับรุ่น 5 พวกเขาไม่เพียงรังสรรค์หนังจีนในมิติใหม่ ยังมีรูปแบบการเล่าเรื่องที่ไม่ซ้ำใครด้วย
‘ดวงตาทั้ง 3 แห่งวงการหนังจีน’ (ซ้าย-ขวา) กู้ฉางเว่ย โหวหย่ง และ หลี่ว์เล่อ อดีตช่างภาพคู่บุญของเหล่าผู้กำกับรุ่น 5 ที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ
กู้ฉางเว่ย(顾长卫) ช่างภาพที่มีชื่อเคียงคู่ผู้กำกับรุ่น 5 มาตั้งแต่เรื่อง Red Sorghum, จูโด และ หลายแผ่นดินแม้สิ้นใจก็ไม่ลืม(Farewell to my Concubine) ฯลฯ จนเมื่อต้นปี เขามีผลงานกำกับหนังเรื่องแรก‘ข่งเชวี่ย (孔雀- Peacock)’ ซึ่งคว้ารางวัลหมีเงิน จากเทศกาลหนังเบอร์ลินปีล่าสุดไปครอง

ด้าน โหวหย่ง(侯咏) เคยฝากฝีมือถ่ายภาพมาแล้วหลายเรื่อง ทั้งเต้าหม่าเจ๋ย, Not One Less และ The Road Home เขาพิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้กำกับอีกครั้งด้วย ‘ม่อลี่ฮวาไค (茉莉花开- Jasmine Women/2004)’ ที่ส่งบทท้าทายให้ จางจื่ออี๋ ถ่ายทอดชะตากรรมของหญิงสาว 3 คน 3 รุ่น

ส่วน หลี่ว์เล่อ(吕乐) ซึ่งเป็นตากล้องให้กับจางอี้โหมวหลายเรื่อง เช่น To Live, Shanghai Triad และ Keep Cool รวมทั้ง ซิ่ว ซิ่ว-The Sent Down Girl หนังติดเรทโดยเฉินชง ล่าสุดเขาได้กำกับเรื่อง ‘เหม่ยเหรินเฉ่า(美人草- The Foliage/2004)’ หนังสะท้อนความรักของหนุ่มสาว ‘ปัญญาชนอาสาพัฒนาชนบท’ โดยมี ซูฉี มารับบทนางเอก

ส่วนบางคนเคยชำชองกับการเป็นผู้กำกับละครชุดทางจอแก้วมาก่อน เช่น เฝิงเสี่ยวกัง(冯小刚) แม้อายุจะไล่เลี่ยกับรุ่น 5 แต่เพิ่งส่งงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ‘หย่งซือว่ออ้าย (永失我爱-Lost My Love/1994)’ มาพิสูจน์ฝีมือกันเมื่อปี 1994 และเขามักควบตำแหน่งกำกับศิลป์ด้วย
เฝิงเสี่ยวกัง กับหนังฉลองปีใหม่ ที่มีพระเอกโล้นเสน่ห์ เก่อโยว เป็นดาราคู่บารมีทุกเรื่อง
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เฝิงยังผูกขาดกับหนังส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของจีน (贺岁片) ตั้งแต่ ‘เจี่ยฟางอี่ฟาง (甲方乙方-Part A Part B/1997)’ ‘ปู๋เจี้ยนปู๋ซ่าน(不见不散-Be There or Be Square /1998)’ ‘เหมยหวันเหมยเหลี่ยว(没完没了-Sorry Baby/1999)’ จนถึงปีล่าสุดกับเรื่อง ‘A World Without Thief หรือ เทียนเซี่ยอู๋เจ๋ย (天下无贼)’

ในแผ่นดินใหญ่แล้ว ชื่อของ เฝิงเสี่ยวกัง ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในผู้กำกับชั้นเซียนที่มีแฟนๆ คอยติดตามผลงาน หนังของเขาเน้นใช้เมืองหลวงเป็นท้องเรื่องหลัก มุ่งสะท้อนความเปลี่ยนไปของสังคมเชิงเสียดสีนิดๆ ที่ทั้งดูสนุกและให้แง่คิด โดยมีนักแสดงมือหนึ่งอย่าง เก่อโยว(葛优) เป็นดาราคู่บารมี

นอกจากนั้น ยังมีที่ก้าวข้ามแวดวงวรรณกรรมมาเป็นผู้กำกับได้อย่างสมศักดิ์ศรี อย่างผู้กำกับดาวรุ่งแห่งปี 2004 ลู่ชวน(陆川)จากเรื่อง ‘เข่อเข่อซีหลี่(可可西里)’ หรือ เจี่ยจางเคอ(贾樟柯) กับผลงาน ‘ซื่อเจี้ย(世界- The World/2004)’ ซึ่งทั้งสองคนเขียนบทและเป็นผู้กำกับพร้อมกันได้อย่างลงตัว

น่าจับตามองอีกคนคือ สี่ว์จิ้งเหล่ย(徐静蕾) ที่แจ้งเกิดในฐานะนักแสดงหญิงมาก่อน ก็พลิกบทบาทมาเป็นผู้กำกับด้วย ล่าสุดทั้ง เขียนบท กำกับ และแสดงนำ ในเรื่อง ‘อีเก้อม่อเสิงหนี่ว์เหรินเตอะไหลซิ่น (一个陌生女人的来信-A Letter from an Unknown Woman/2005)’
(ซ้าย-ขวา) ผู้กำกับดาวรุ่งแห่งยุค ลู่ชวน กับเรื่องราวทิเบตใน ‘เข่อเข่อซีหลี่’ เจี่ยจางเคอ กับหนัง ‘ซื่อเจี้ย’ และ สี่ว์จิ้งเหล่ย อดีตดาราหญิงคนดัง กับหนังเรื่องล่าสุด A Letter from an Unknown Woman
ปรากฏการณ์หลากพรสวรรค์ในคนเดียวกันของผู้กำกับยุคใหม่ ได้ทะลาย ‘การแบ่งรุ่นผู้กำกับ’ ที่เคยมีมาในอดีตลงอย่างสิ้นเชิง กอปรกับ ‘ช่องว่าง’ ที่นับวันจะยิ่งกว้างขึ้นในหมู่ผู้กำกับเอง และระหว่างคนทำหนังแต่ละรุ่น เมื่อบวกกับเสียงคัดค้านแนวคิดการแบ่งรุ่นตามรหัสนักศึกษาหรือตามอายุ ที่ใช้กันแพร่หลาย ค่อยๆ ดังมากขึ้น เพราะเห็นว่า มิอาจเหมาร่วมศิลปะการทำหนังที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เอง วงการภาพยนตร์จีนจึงกำลังก้าวเข้าสู่ ‘ยุคไร้รุ่นผู้กำกับ’.

'ผู้กำกับหนังต่างยุค' อ้างอิงข้อมูลจาก
1. หนังสือ ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีน 《中国电影史》โดยสำนักพิมพ์ภาพยนตร์จีน 中国电影出版社
2. นิตยสาร China Screen 《中国银幕》ฉบับเดือนธันวาคม 2004
3. http://www.grassy.org/Movie/FLClass.asp
4. http://www.ccnt.com.cn/show/chwindow/culture/dyds/tsyqj.htm
5. http://www.dianying.com/gb/

** สารคดีชุด ‘ศตวรรษภาพยนตร์จีน’ นำเสนอทุกวันอาทิตย์ โปรดติดตามตอนหน้า มองพัฒนาการหนังฮ่องกง-ไต้หวันผ่านเฟรม ‘ภาณุ อารี’

กำลังโหลดความคิดเห็น