xs
xsm
sm
md
lg

ผู้กำกับรุ่น 5 : นำพาหนังจีนสู่เวทีโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศตวรรษภาพยนตร์จีน(8)/นักศึกษารหัส 78 ที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยภาพยนตร์ปักกิ่ง(Beijing Film Academy)ตั้งแต่ปี 1978 จบออกมาในยุคที่บุคลากรภาพยนตร์กำลังขาดช่วง ท่ามกลางสายลมแรงแห่งการปฏิวัติเปิดม่านไม้ไผ่ สังคมจีนเริ่มอ้าแขนรับความคิดใหม่ๆ ให้โอกาสเลนส์กล้องถ่ายทอดเรื่องราวได้อลังการอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต

ด้วยความกล้าลองผิดลองถูก และด้วยจิตวิญญาณแห่ง ‘คนทำหนัง’ ทำให้พวกเขาในนาม ‘ผู้กำกับภาพยนตร์จีนรุ่นที่ 5’ ถูกยกย่องให้เป็น ‘ศักดิ์และศรี’ แห่งวงการจอเงินแดนมังกร ซึ่งยากที่คนรุ่นหลังจะ’วัดรอยเท้า’
(ซ้าย-ขวา) เฉินข่ายเกอ, อู๋จื่อหนิว, เถียนจ้วงจ้วง, จางอี้โหมว, หวงเจี้ยนซิน และ หลี่เส้าหง ศิษย์ร่วมมหาวิทยาลัยภาพยนตร์ปักกิ่ง
ชื่อเสียงเรียงนามของผู้กำกับจีนรุ่นที่ 5 นอกจากที่คุ้นเคยอย่าง เฉินข่ายเกอ(陈凯歌) จางอี้โหมว(张艺谋) เถียนจ้วงจ้วง(田壮壮)แล้ว ยังมี อู๋จื่อหนิว(吴子牛) หวงเจี้ยนซิน(黄建新) และจางจวินเจา (张军钊) และผู้กำกับหญิง หลี่เส้าหง (李少红)

เบื้องหลังความสำเร็จของผู้กำกับจีนรุ่นที่ 5 ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่แลกมาด้วยการผ่านร้อนทนหนาว ไม่ว่าจะเป็น เฉินข่ายเกอ จางอี้โหมว และเถียนจ้วงจ้วง ล้วนเคยจากบ้านไปเป็น ‘ปัญญาชนอาสาเพื่อพัฒนาชนบท’ ตามนโยบายของทางการในยุคนั้นถึง 10 ปี

ผู้กำกับรุ่นที่ 5 มีแนวคิดที่สดใหม่ ใช้เทคนิคการทำหนังที่ทันสมัยกว่าอดีต กอปรกับความรู้สึกที่ไวต่องานศิลป์ ทำให้ผลงานแต่ละเรื่องมีเสน่ห์ที่ยากจะเลียนแบบ พวกเขามีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะให้เนื้อหา บท ตัวละคร มุมกล้อง ประกอบขึ้นเป็นภาพหลังเลนส์ ซึ่งสะท้อนจิตวิญญาณ ประวัติศาสตร์ และรากเหง้าวัฒนธรรมของชาวจีน ที่จะสะกิดให้คนดูคิดในมุมมองแปลกใหม่อยู่เสมอ

หนังแต่ละเรื่องของผู้กำกับรุ่นที่ 5 มักอบอวลและอัดแน่นด้วยภาษาสัญลักษณ์ ความหมายแฝง และอัตวิสัยที่ยึดแนวคิดของคนทำ ซึ่งเมื่อนำผลงานของรุ่นมารวมกัน แม้จะมีเพียงไม่กี่คน แต่กลับเป็นคลื่นยักษ์ที่สั่นสะเทือนวงการภาพยนตร์แดนมังกร จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงทั้งในและนอกประเทศ
(ซ้าย-ขวา)ภาพยนตร์เรื่อง อี๋เก้อเหอปาเก้อ โดยจางจวินเจา, ‘หวงถู่ตี้’ โดยเฉินข่ายเกอ และ ‘เต้าหม่าเจ๋ย’ โดยเถียนจ้วงจ้วง
ผลงานยุคแรกในช่วงกลางทศวรรษ 80 หนังหลายเรื่องจัดเป็นกองหน้าสำคัญ เป็นกบฏตัวเอก และเป็นสุดยอดหนังแห่งยุค ได้แก่ หนังสงครามเรื่อง ‘อี๋เก้อเหอปาเก้อ (一个和八个/1983)’ ของ จางจวินเจา ที่ถือเป็นหนังเปิดศักราชของผู้กำกับรุ่น 5

หนังสะท้อนชีวิตเกษตรกรเรื่อง ‘หวงถู่ตี (黄土地 – Yellow Earth / 1984)’ และ ‘ไหจื่อหวัง(孩子王)’ ของเฉินข่ายเกอ เรื่อง ‘เต้าหม่าเจ๋ย(盗马贼 - Horse Thief /1985)’ และ ‘เลี่ยฉั่งจ๋าซา (猎场札撒)’ของเถียนจ้วงจ้วง ซึ่งอี๋เก้อเหอปาเก้อ หวงถู่ตี้ และเต้าหม่าเจ๋ย ได้กลายเป็นทัพหน้าฝ่าด่านเอเชียออกไปยืนเด่นรับรางวัลบนเวทีภาพยนตร์สากล

ก้าวย่างช่วงแรกของผู้กำกับรุ่น 5 ซึ่งถือเป็น ‘คนรุ่นใหม่ไฟแรง’ มุ่งแต่จะสอดร้อยศิลปะและมุมมองความคิดที่ลึกซึ้งของตัวเองให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ในหัวของพวกเขาไม่เคยคิดถึงคำว่า ‘ตลาด’ เลย ซึ่งหลายคนยังประทับใจและหลงใหลในเสน่ห์แห่งอรรถรสทางภาพและเสียงในยุคนั้น
(ซ้าย-ขวา) หงเกาเหลียง, จูโด, ผู้หญิงคนที่ 4 ชิงโคมแดง และ The Story of Qui Ju
สำหรับแฟนพันธุ์แท้หนังจีนคงยังจำเรื่อง หงเกาเหลียง (红高粱 – Red Sorghum / 1987) ผลงานของจางอี้โหมว ที่พิชิตรางวัลหมีทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน โดยเป็นหนังแดนมังกรเรื่องแรกที่คว้ารางวัลจาก 1 ใน 3 สุดยอดเทศกาลหนังนานาชาติ (เบอร์ลิน เวนิส และเมืองคานส์)

ตามมาด้วย จูโด-เธอผิดหรือไม่ผิด (菊豆- Ju Dou/1990) และผู้หญิงคนที่ 4 ชิงโคมแดง (大红灯笼高高挂 - Raise the Red Lantern/1991) โดยจางอี้โหมว ที่ช่วยส่องแสงเจิดจรัสให้กับหนังจีนบนเวทีโลก ทั้งในอเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส และ สเปน ฯลฯ

นับจากนั้น เรื่องราวบนแผ่นฟิล์มของผู้กำกับรุ่นที่ 5 ได้ตบเท้าขึ้นรับรางวัลจากเทศกาลหนัง 3 เวทีหลักของโลก อาทิ ชิวจี๋ว์ต่ากวนซือ (秋菊打官司 - The Story of Qui Ju /1992) ของจางอี้โหมว ได้รับรางวัลสิงโตทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส

ปีถัดมา ป้าหวังเปี๋ยจี ( 霸王别姬 - Farewell to my Concubine / 1993 ) โดยเฉินข่ายเกอ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการพิชิตรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ และเข้าชิงออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม แม้ว่าในประเทศจะต้องฝ่าด่านเห็นชอบจากรัฐบาลจีนก่อนได้ฉายก็ตาม

ในปี 1995 ยังมีหนังกึ่งบันทึกประวัติศาสตร์ที่เรียกเสียงฮือฮาปนน้ำตาคนทั่วโลก คือ Don’t Cry Nanking《南京大屠杀》โดย อู๋จื่อหนิว ผู้กำกับที่ถนัดทำหนังสงคราม แต่ทุกวันนี้เขาหันไปเอาดีกับการกำกับละครโทรทัศน์

ฝ่ายจางอี้โหมว เมื่อมีรางวัลการันตีจากหลายเวที ก็เร่งสร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเลือกหยิบแง่มุมที่ซ่อนลึกของของชาวชนบทจีนมาเป็นจุดขาย นับเรียงตั้งแต่ หนังตลกร้ายอย่าง ‘หัวเจอะ(活着-To Live / 1994)’ หนังทุนน้อยแต่โกยความประทับใจ ‘อีเก้อโตวปู้เหนิงเส่า (一个都不能少 – Not One Less / 1998)’ และที่ลืมไม่ได้คือ ‘หว่อเตอฟู่ชินหมู่ชิน (我的父亲母亲 – The Road Home / 1999)’ หนังเรื่องแรกแจ้งเกิดของ จางจื่ออี้

ส่วนผู้กำกับหญิงแห่งรุ่น หลี่เส้าหง มีผลงานสร้างชื่อหลายเรื่อง อาทิ ‘เซี่ยว์เซ่อชิงเฉิน (血色清晨 – Bloody Morning,The / 1990)’ ทีได้รับเสียงตอบรับอย่างดีทั้งจากในประเทศ ไต้หวัน ฝรั่งเศส และเบอร์ลิน และเรื่อง ‘หงเฝิ่น (红粉–Blush/1994)’ รวมทั้งหนังเรื่องล่าสุด ‘เลี่ยนอ้ายจงเตอเป่าเป้อร์ (恋爱中的宝贝儿 – Baober in Love / 2002)’ ขณะเดียวกันเธอยังมีผลงานกำกับละครทีวีอีกหลายเรื่อง

ด้วยความสำเร็จที่ประจักษ์ในวงกว้าง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไทยจะคุ้นหูกับชื่อหนัง รวมทั้งชื่อของเหล่าผู้กำกับยุคนี้มากที่สุด ทว่าบนเส้นทางสู่อินเตอร์ของ ‘ผู้กำกับรุ่น 5’ ไม่ได้มีชาวจีนในประเทศเป็นกองเชียร์ เพราะเสียงส่วนหนึ่งเห็นว่า เป็นหนังที่นำเสนอแต่ด้านที่เลวร้ายของประเทศ รสนิยมคนจีนรุ่นใหม่ก็มิได้ยกย่องบรรดาผู้กำกับมือทองทั้งหลายมากนัก แต่กลับชอบบริโภคหนังฝรั่งเป็นทุนเดิม

นอกจาก เถียนจ้วงจ้วง ที่ทุกวันนี้คนยังนับถือเป็น 'สายเลือด' แห่งรุ่น 5 แล้ว ระยะหลัง ผู้กำกับรุ่น 5 คนอื่นหันมาทำหนังตลาดเชิงธุรกิจที่งัดสารพัดกระบวนท่า เพื่อหวังสร้างมูลค่าในสายตาต่างชาติ และเอาใจคอหนังฮอลลิวูดทั้งในและประเทศ ถึงขั้นที่ฝันไกลว่าจะเอาชนะหนังแดนลุงแซมด้วยซ้ำ ส่วนบางคนก็หันไปเอาดีกับการทำละครชุดทางทีวี

ขณะที่แฟนเก่าไม่น้อยเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงเนื้อหาและหน้าตาของหนังจากฝีมือกำกับของดาวดังแห่งยุค โดยเฉพาะจางอี้โหมว และเฉินข่ายเกอ บ้างก็ว่า จิตวิญญาณการทำหนังของพวกเขาได้ค่อยๆ จืดจางไป บ้างก็ว่า ถึงแม้ฮีโร่ (英雄-Hero/2003) จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการหนังจีน แต่ก็เป็นหนังที่จางอี้โหมวได้ถอดวิญญาณผู้กำกับรุ่น 5 ออกไปแล้วอย่างสิ้นเชิง !

** สารคดีชุด ‘ศตวรรษภาพยนตร์จีน’ นำเสนอทุกวันอาทิตย์ โปรดติดตามตอนหน้า 'หลากมิติ 100 ปีหนังจีน สู่ยุคไร้รุ่นผู้กำกับ'
(ซ้าย-ขาว) วิวัฒนาการหนังของจางอี้โหมวจาก To Live, Not One Less, The Road Home จนถึง Hero

กำลังโหลดความคิดเห็น