เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์- นักวิทยาศาสตร์จีนเตือน ธารน้ำแข็งในแผ่นดินใหญ่ละลายหายไปเกือบ 1 ใน 5 ในช่วงเวลาเพียง 60 ปี หวั่นกระทบระบบนิเวศ และอาจทำให้ภาคตะวันตกของประเทศ ขาดแคลนน้ำ
สถาบันวิจัยภูมิภาคเขตหนาวและแห้งแล้งจัด (Cold and Arid Regions Research Institute) ในสำนักบัณฑิตวิทยาสาสตร์จีน เผยผลการสำรวจหลักเรื่องธารน้ำแข็งในเขตประเทศจีนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตั้งแต่ช่วงปี 2490 เป็นต้นมา ธารน้ำแข็งหดตัว เฉลี่ย 244 ตารางกิโลเมตร ในแต่ละปี คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของธารน้ำแข็งทั้งหมด กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจึงเตือนให้ระวัง “ผลกระทบแบบห่วงโซ่” ซึ่งอาจกระทบต่อแหล่งน้ำในภูมิภาคทางตะวันตกของประเทศ
ยอดหิมะ (Snow capps) บนเทือกเขาอัลไตในซินเจียงและเทือกเขาทรานส์-หิมาลัย กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะธารน้ำแข็งละลายไปมากถึง 37.2 เปอร์เซ็นต์ และ 32.7 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ในช่วง 50 ปีมานี้ ส่วนธารน้ำแข็งในเทือกเขาคาราโครัม และอัลไต-ตากห์ ในซินเจียง เทือกเขาคุนหลุน และที่ราบสูงเฉียงถัง ในทิเบตกลับไม่ค่อยหดตัว ละลายเพียง 8.4 เปอร์เซ็นต์ และ 11.3 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ผลการวิจัยฯ ระบุ
นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลระยะไกลหรือ รีโมตเซนซิง (Remote Sensing) เพื่อปรับความคืบหน้าฐานข้อมูลเกี่ยวกับธารน้ำแข็ง พบว่าปัจจุบันจีนมีธารน้ำแข็ง ทั้งในซินเจียง ทิเบต ชิงไห่ เสฉวน และกานซู่ รวม 48,571 สาย
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจกลับมิได้อธิบายสาเหตุที่ทำให้ธารน้ำแข็งหดตัวลง ทว่า ศาสตรจารย์ฉิน ต้าเหอ อดีตผู้อำนวยการกรมอุตุวิทยาจีน กล่าวว่า สภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งทั่วโลกละลาย
ด้านหลิว สืออิ่น หัวหน้านักวิจัยโครงการสำรวจธารน้ำแข็งของสถาบันฯ กล่าวว่า ยอดหิมะที่ละลายลง เบื้องต้นจะไหลไปสู่แม่น้ำในภูมิภาคตะวันตกของประเทศ ดังนั้น เมื่อแผ่นธารน้ำแข็งหายไป น้ำในแม่น้ำก็จะมีแค่ตามฤดู
“ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ธารน้ำแข็งทั้งหมดจะหายไป แต่เราพูดได้ว่า เมื่อมันหดตัวลงเรื่อยๆ ก็จะมีผลต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ” นายหลิว กล่าวกับซินหวา
นายหยาง หย่ง นักธรณีวิทยาอิสระ ที่ทำการสำรวจธารน้ำแข็งแผ่นหลักๆในที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต กล่าวว่า ที่ผ่านมาธารน้ำแข็งในที่ราบสูงนี้ละลายไปเร็วมาก ซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น
“ยกตัวอย่างเช่น ธารน้ำแข็งเชมาหยงดุง(Chemayungdung Glacier) หดตัวลงประมาณ 400 เมตร ตั้งแต่ครั้งแรกที่เราไปสำรวจเมื่อปี 2541 จนตอนนี้เกิดทะเลสาบขึ้น” นายหยาง กล่าว
นายหยาง ยังระบุเพิ่มเติมว่า ตอนนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นและธารน้ำแข็งละลายส่งผลต่อรูปแบบสภาพอากาศ ที่ราบสูงเฉียงถังบางส่วนต้องเจอพายุทรายทุกปี ทำให้พื้นที่ส่วนนั้นค่อยๆกลายสภาพจากทุ่งหญ้าแห้งเป็นทะเลทราย และเมื่อทรายเข้าไปในธารน้ำแข็ง ความร้อนจากทราย ทำให้แผ่นน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น
“ผมกังวลว่า ธารน้ำแข็งที่ละลาย จะเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่หายนะของสภาพภูมิอากาศ” นายหยาง กล่าว
อนึ่ง ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศครั้งที่สาม ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ของจีน ระบุว่าระหว่างปี 2452- 2554 แผ่นดินใหญ่มีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย ระหว่าง 0.9 -1.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่ทั่วโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ระหว่างปี 2423- 2555 อยู่ที่ 0.6-1.05 องศาเซลเซียส