xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ข้อเสนอ “ขึ้นค่าน้ำประปา” ช่วงสงกรานต์ ภาคธุรกิจ-ภาคครัวเรือน ใคร? ควรจ่ายมากกว่ากัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่แล้ว มีการหารือของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีการหารือเรื่องหลักคือ “ภัยแล้ง”ที่กระทบกับภาคธุรกิจ เพราะในปีนี้ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ในฐานะที่ กกร. เป็นตัวแทนภาคเอกชนของไทย จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของชาติ
 
กกร.มีข้อสรุปร่วมกันว่า แนวทางสำคัญที่จะเสนอต่อภาครัฐในการลดการใช้น้ำในช่วงสงกรานต์นี้ จะเป็นแนวทางรณรงค์ให้ทั้งภาคเอกชน และประชาชนหันมาประหยัดการใช้น้ำช่วงสงกรานต์โดยรัฐบาลควรออก “มาตรการปรับขึ้นค่าน้ำในอัตราพิเศษ” ในส่วนของน้ำที่ใช้มากกว่าปกติในเดือนเม.ย.นี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนนำน้ำประปามาเล่นสงกรานต์จนมากเกินไป เพื่อให้คนในเมืองมีส่วนร่วมในการลดใช้น้ำ

นายธวัธชัย ยงกิตติกุล กรรมการ กกร. บอกว่า ในปัจจุบันรัฐบาลได้เรียกร้องให้ชาวนาเสียสละ ลดการเพาะปลูกในช่วงหน้าแล้ง เพื่อลดการใช้น้ำ ดังนั้นคนในเมือง และประชาชนทั่วไป ควรจะมีส่วนร่วมในการลดใช้น้ำลงด้วย โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ที่บางแห่งมีการนำน้ำมาเล่นสงกรานต์อย่างฟุ่มเฟือย ดังนั้นจึงควรให้การประปานครหลวง(กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ออกมาตรการเก็บค่าน้ำเพิ่มขึ้นในส่วนมี่ใช้มากกว่าปกติในเดือนเม.ย.2559 ก็จะช่วยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการลดใช้น้ำมากขึ้น ตามแผนการรณรงค์ที่ภาคธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือน จะร่วมลดปริมาณการใช้น้ำประปาลง 30% ภายในเดือนมิ.ย. 2559

แต่ตอนนี้ยังไม่มีทีท่าว่า การประปานครหลวง(กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จะเห็นด้วย ???

ข้างต้นเป็นข้อมูลที่ภาคธุรกิจเสนอ ที่นี้มาดูข้อมูลของประชาชนทั่วไป จากข้อมูลการใช้น้ำประปาในประเทศของ “สำนักงานสถิติแห่งชาติ”รวบรวมไว้ ระบุว่า โลกใบนี้ ประกอบไปด้วยน้ำ 3 ใน 4 ส่วน และจากปริมาณน้ำทั้งหมดนั้นเป็นน้ำเค็มมากถึงร้อยละ 97.5 เป็นน้ำจืดเพียง ร้อยละ 2.5 เท่านั้น ในจำนวนนี้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำจืดเพียงร้อยละ 0.08 ที่เหลือเป็นธารน้ำแข็งอยู่ขั้วโลก และแน่นอนว่ามนุษย์มีความจำเป็นต้องใช้น้ำในการดำรงชีวิต เพื่อการ บริโภค และอุปโภค จึงต้องรู้จักการบริหารการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

จากข้อมูลของการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค แสดงให้เห็นว่า คนไทยใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 36 ลิตรต่อคน ในปี 2549 และมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2555 ปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยต่อวันเพิ่มเป็น 48 ลิตรต่อคน และปี 2557 อยู่ที่ 119 ลิตรต่อวันต่อคน ในกราฟยังทำตัวเลข ถึงปี 2559 ที่สูงกว่าปี 2557 แต่ไม่ได้คาดการณ์ เชื่อว่าจะสูงมากขึ้น

เมื่อพิจารณาการใช้น้ำของคนไทย ซึ่งแบ่งออกเป็นน้ำดื่มและน้ำใช้ ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2555 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า แหล่งน้ำใช้ของครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ78.9) ใช้น้ำประปา ส่วนน้ำดื่ม ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 64.0) เป็นน้ำประปาเช่นกัน โดยการนำน้ำประปามาผ่านกรรมวิธีทำให้สะอาดพร้อมดื่มเป็นน้ำบรรจุขวดหรือตู้น้ำหยอดเหรียญ (ร้อยละ 40.9) และวิธีการอื่นๆ (ร้อยละ 23.1) เช่น ต้ม กรอง เป็นต้น นอกจากนี้ครัวเรือนบางส่วน (ร้อยละ 28.6) เก็บกักน้ำฝนไว้เป็นแหล่งน้ำดื่มของครัวเรือน จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า น้ำประปาเป็นแหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สำคัญ ดังนั้นการบริหารจัดการการใช้น้ำจึงมีความสำคัญยิ่ง

ข้อมูลนี้ระบุว่า ในขณะที่ประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการใช้น้ำของมนุษย์ก็เพิ่มขึ้นไปด้วยเป็นเงาตามตัว ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้จึงต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการผลิตน้ำใช้ที่มีคุณภาพ และควรใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เพราะกระบวนการผลิตและการใช้น้ำทุกขั้นตอนก่อให้เกิดต้นทุน ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ก็คือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้น้ำของครัวเรือนนั่นเอง
 
ผลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบอีกว่า ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้น้ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำประปา (ไม่รวมค่าใช้จ่ายน้ำดื่ม) สูงขึ้น จากเฉลี่ยเดือนละ 86 บาทในปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 135 บาทในปี 2555 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

เทียบสถิติการใช้น้ำของคนไทย เป็นอันดับ 3 ของอาเซียนในปี 2558 รองจากประเทศ สิงคโปร์ที่ 165 ลิตรต่อวันต่อคนและ ฟิลิปปินส์ 164 ลิตรต่อวันต่อคน ขณะที่ทั้งโลก สหรัฐอเมริกามีอัตราการใช้น้ำเฉลี่ยสูงที่สุดในโลกที่ 575 ลิตรต่อคนต่อวัน รองลงมาคือ ออสเตรเลีย 493 ลิตรต่อคนต่อวัน และ ญี่ปุ่น 374 ลิตรต่อคนต่อวัน

สำนักงานสถิติ ให้ข้อเสนอว่า ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกันรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้มีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและช่วยกันประหยัด เพราะน้ำประปาทุกหยดมีต้นทุนการผลิต จากการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตจนได้มาเป็นน้ำประปาให้ทุกคนได้ใช้ นอกจากนี้การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและประหยัด จะเป็นช่องทางหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกด้วย

ข้อมูลปี 2558 การประปานครหลวง จัดทำข้อมูลคำนวณการใช้น้ำในธุรกิจอาบอบนวด ที่ใช้น้ำประปา แน่ๆ ยกตัวอย่าง หากมีห้องนวดใน 500 ห้อง พบว่า ต้องมีการเตรียมน้ำเพื่อรอบริการแขกไม่ต่ำกว่า 1,000 ลิตรต่อคนต่อชั่วโมง ถ้ามีลูกค้า 400 คนต่อวันใช้น้ำราว 4 แสนลิตรต่อวัน เท่ากับการใช้น้ำของคนเมือง 2,000 คนต่อวัน และเพียงพอต่อคนชนบท 8,000 คนต่อวัน ตามมาตรฐานการใช้น้ำเฉลี่ยต่อคนต่อวันที่ 200 ลิตร ขณะที่ การใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค 2,689 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็น 4% ของปริมาณน้ำ ส่วนการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรมและท่องเที่ยว 1,344

ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็น 2% ของปริมาณน้ำ

ปีที่แล้ว ผู้บริหาร กปน. ออกมาให้ข่าวว่า หลังจากที่เก็บค่าน้ำประปาราคาหน่วยละ 8.5 บาท มานาน 15 ปีแล้ว ดังนั้น จึงมีแนวคิดจะเก็บค่าน้ำประปาเพิ่ม เพื่อนำเงินรายได้มาพัฒนาระบบน้ำประปาให้ดีขึ้น รองรับการขยายตัวของชุมชนที่เพิ่มขึ้น โดยอาจจะเพิ่มเป็นหน่วยละ 10 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับการประปาส่วนภูมิภาค โดยคาดว่าจะดำเนินการจัดเก็บในอัตรานี้อย่างช้าไม่เกินปี 2559
 
ถ้าในช่วงสงกรานต์ ปีนี้มีการขึ้นค่าน้ำประปาในอัตราพิเศษจริง ๆ “ธุรกิจหรือภาครัวเรือน” ใครน่าจะต้องจ่ายค่าน้ำประปามากมากกว่ากัน



กำลังโหลดความคิดเห็น