xs
xsm
sm
md
lg

ภารตะโวยมังกรสร้างเขื่อนคุกคาม-ควบคุมอินเดีย จีนยันรับผิดชอบเพื่อนบ้านลุ่มน้ำตอนล่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเครื่องแรกของเขื่อนจ้างมู่ในทิเบต เดินเครื่องอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ 23 พ.ย.2557 โดยเครื่องฯที่สอง จะเริ่มผลิตไฟฟ้ากลางเดือนหน้า เขื่อนจ้างมู่ มีเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งสิ้น 6 หลัง ที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า รวมกัน 510,000 กิโลวัตต์ (ภาพ เอเจนซี)
เอเจนซี—เขื่อนใหญ่สุดบนแดนหลังคาโลก คือ เขื่อนจ้างมู่ในทิเบต เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการแล้ว สื่อแดนภารตะโวย เขื่อนจีนคุกคามและควบคุมอินเดีย ขณะที่จีนแถลงโต้ว่า ได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านตอนล่างแม่น้ำ เข้าใจกันดีแล้ว

เมื่อวันอาทิตย์(23 พ.ย.) จีนได้กดปุ่มเดินเครื่องปั่นไฟเครื่องแรกของเขื่อนจ้างมู่ ที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำยาร์ลัง เซงโป ตอนกลาง ในทิเบต เขื่อนจ้างมู่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนแดนหลังคาโลกหรือย่านเทือกเขาหิมาลัย มูลค่าการก่อสร้าง 9,600 ล้านหยวน หรือประมาณ 48,000 ล้านบาท การก่อสร้างเขื่อนจะแล้วเสร็จในปีหน้า (2558) ตัวเขื่อนมีความสูง 116 เมตร ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือเครื่องปั่นไฟ ทั้งสิ้น 6 เครื่อง ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้ 510,000 กิโลวัตต์ โดยปีหนึ่งๆสามารถผลิตไฟฟ้า 2,500 ล้านกิโลวัตต์ การผลิตกระแสไฟฟ้าที่เขื่อนจ้างมู่เมื่อวันอาทิตย์ เป็นการผลิตฯจากเครื่องปั่นไฟเครื่องแรก โดยในกลางเดือนหน้า เครื่องปั่นไฟเครื่องที่สอง จะเริ่มทำงาน

แม่น้ำยาร์ลัง เซงโป หรือในสำเนียงจีนกลาง “หยาหลู่จ้างปู้” มีต้นน้ำในทิเบต ไหลทอดยาวลงสู่เอเชียใต้ ช่วงลำน้ำตอนล่างที่ไหลผ่านอินเดีย มีชื่อว่า แม่น้ำพรหมบุตร ถือเป็นแม่น้ำสายหลักของภูมิภาคเทือกเขาหิมาลัย

ภารตะวิตก “กลายเป็นลูกไก่ในอุ้งมือพญามังกร”
สื่อจีนรายงาน เผยสื่อแดนภารตะออกโรงโต้ตอบเมื่อวานนี้(24 พ.ย.) ว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนลำน้ำตอนบนของแม่น้ำพรหมบุตร เป็นการสร้างภัยคุกคามต่ออินเดียแบบหนึ่ง โดยก่อความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม และดินถล่มตามมา ตลอดจนส่งผลทำลายระบบนิเวศน์ และหากความขัดแย้งระหว่างสองประเทศเกิดระเบิดขึ้นมา จีนก็จะใช้วิธีการ “ตัดน้ำ” ควบคุมประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ตอนล่าง อินเดียก็จะกลายเป็นลูกไก่ในอุ้งมือพญามังกร
เขื่อนจ้างมู่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำยาร์ลู่ตอนกลาง สูงจากระดับน้ำทะเล กว่า 3,300 เมตร บริษัท ไชน่า หวาเนิง กรุ๊ป ผู้ก่อสร้างเขื่อน ออกแบบตัวเขื่อนเพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้า ปีละ 2,500 ล้านกิโลวัตต์ เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในทิเบตแห่งแดนหลังคาโลกหรือย่านหิมาลัย (ภาพ เอเจนซี)
จีนยันรับผิดชอบเต็มที่
โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน นาง หวา ชุนอิ่ง ออกมาแถลง ปฏิเสธกระแสโจมตี ที่ว่าเขื่อนจ้างมู่จะทำลายสิ่งแวดล้อมประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ลุ่มน้ำตอนล่าง ได้แก่ อินเดีย และบังคลาเทศ และว่าจีนมีความรับผิดชอบในการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำข้ามพรมแดน มีการพิจารณาถึงผลกระทบต่อประเทศที่อยู่ลุ่มน้ำตอนล่าง โดยสัญญาจะพัฒนาและดำเนินมาตรการอนุรักษ์ ทั้งการรักษาต้นกำเนิดแหล่งน้ำ และสายพันธุ์ปลา

จากรายงานของกลุ่มสื่อ ในแผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) ของจีน ระบุโครงการก่อสร้างเขื่อน 3 หลัง บริเวณแม่น้ำยาร์ลัง เซงโป ตอนกลาง

หวายืนยันในการแถลงต่อที่ประชุมข่าวเมื่อวานนี้ว่า เขื่อนที่จีนจะสร้างขึ้นเหล่านี้ ไม่มีผลกระทบในการควบคุมน้ำท่วม หรือระบบนิเวศน์ใดของลุ่มน้ำตอนล่าง จีนและอินเดียปรึกษาหารือโครงการสร้างเขื่อนจ้างมู่นี้มา 8 ปี สองฝ่ายได้ยอมรับกัน
เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมเขื่อนจ้างมู่ กำลังปฏิบัติงานในวันเดินเครื่องปั่นไฟเครื่องแรกของเขื่อนฯเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2557 (ภาพ เอเจนซี)
ทั้งนี้ แม่น้ำยาร์ลัง เซงโป อยู่ในบริเวณที่ราบสูงเฉลี่ย 4,500 เมตร จัดเป็นแม่น้ำที่สูงที่สุดในโลก เป็นแหล่งธารน้ำแข็งของแดนหิมาลัยตอนเหนือ ลำน้ำไหลทอดเป็นระยะทาง 2,057 กิโลเมตร ผ่านเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบต ไหลลงสู่อินเดีย ไปลงมหาสมุทรอินเดีย ที่อ่าวเบงเกล

โฆษกจีนยังระบุอีกว่า จีนและอินเดียได้สื่อสารและร่วมมือกันประเด็นแม่น้ำข้ามพรมแดน และทางจีนก็ได้ทำการศึกษาสำรวจ จัดส่งข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับระบบน้ำให้แก่อินเดีย การดำเนินการที่ผ่านมาได้พิสูจน์ถึงประสิทธิภาพความร่วมมือระหว่างจีนและอินเดีย ในการควบคุมน้ำท่วม และการจัดการเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ สองประเทศยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู (MOU) ว่าด้วยแม่น้ำข้ามพรมแดนกัน เมื่อปีที่แล้ว (2556)


กำลังโหลดความคิดเห็น