xs
xsm
sm
md
lg

จีนคืออนาคตของฮ่องกง มิใช่ศัตรู ตอนที่ 1 จีนดำเนินตามสัญญาส่งมอบดินแดนฮ่องกง

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

ภาพเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2557 ภาพร่มที่รั้วสำนักงานใหญ่รัฐบาลฮ่องกงคู่เคียงกับสัญลักษณ์สาธารณรัฐประชาชนจีน (ภาพรอยเตอร์ส)
ASTVผู้จัดการออนไลน์--ความวุ่นวายในฮ่องกงจากปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษาที่เปิดฉากโดยการหยุดเรียน ตามสมทบด้วยการเคลื่อนขบวน “ปิดศูนย์กลาง” ของกลุ่มเคลื่อนไหวที่ชื่อว่า “อ็อกคิวพายเซ็นทรัล” (Occupy Central) ระดมประชาชนร่วมแสนออกมาเดินขบวนชุมนุมปิดใจกลางศูนย์กลางการเงิน จนรัฐบาลได้สั่งการสลายการประท้วงด้วยการยิงสเปรย์พริกไทยและแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มประท้วงในวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ย.

การชุมนุมประท้วงใหญ่ถึงขั้นปิดเมืองครั้งนี้ มีชนวนมาจากการที่คณะกรรมการประจำสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งจีน (เอ็นพีซี) หรือรัฐสภา ลงคะแนนเสียงรับรองกรอบงานการเลือกตั้งหัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษแห่งฮ่องกงในปี 2560 เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ระบุให้มีผู้สมัครรับการเลือกตั้งเพียง 2 หรือ 3 คน ที่ได้รับเสียงรับรองจากคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งฯ ลงสนามการเลือกตั้ง

การลงคะแนนเสียงของรัฐสภาจีนเช่นนี้ สร้างความผิดหวังแก่กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย ที่กำลังเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งโดยตรง ที่ให้สิทธิประชาชนเป็นผู้เสนอชื่อกลุ่มผู้ลงสมัครรับการเลือกตั้ง โดยไม่ผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการเลือกตั้ง และในวันเดียวกันนั้น กลุ่มรณรงค์ปฏิรูปประชาธิปไตย นำโดยอ็อกคิวพายเซ็นทรัล ก็ออกโรงมาประกาศ “ยุคใหม่แห่งอารยะขัดขืน” และนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 1 ต.ค.

จากรูปการณ์ที่คนภายนอกเห็นนั้น เป็นการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย และรัฐบาล อันหมายถึงจีนนั่นเอง ส่วนหัวหน้าใหญ่คณะปกครองบริหารฮ่องกง คือ เหลียง เจิ้นอิง นั้น ก็คือ ผู้นำที่จีนคัดสรรมาปกครองดูแลฮ่องกง

ทว่าในอีกมุมมองหนึ่งที่น่าใคร่ครวญ เสนอโดยนาย Martin Jacques ระบุในบทความ China is Hong Kong’s future - not its enemy เผยแพร่ในสื่ออังกฤษ The Guardian ในบทความระบุว่า *1)“กรณีวุ่นวายในฮ่องกงขณะนี้ มีความซับซ้อนกว่าตัวเหตุการณ์ที่ปรากฏซึ่งเป็นเพียงพื้นผิวภายนอกเท่านั้น

อย่าลืมว่า ในประวัติศาสตร์ เกาะฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดินิยมอังกฤษนับจากวันที่อังกฤษบีบจีนให้ลงนามสัญญานานกิงหลังสงครามฝิ่นครั้งแรก (1842) นานถึง 155 ปี จนกระทั่งวันส่งมอบอำนาจการปกครองดินแดนคืนสู่จีนในปี 1997 (2540) ระหว่างนั้น ผู้ว่าฮ่องกง 28 คน ก็มาจากการแต่งตั้งโดยจ้าวอาณานิคมอังกฤษ แม้ในช่วงที่ฮ่องกงมีกฎหมายและสิทธิในการประท้วงระหว่างอยู่ใต้การปกครองอังกฤษ ฮ่องกงก็มิได้สัมผัสแม้สิ่งที่ “ดูคล้ายประชาธิปไตย” ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำในลอนดอนที่อยู่ห่างไกล 6,000 ไมล์

และเป็นรัฐบาลจีนต่างหาก ที่เป็นผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบประชาธิปไตยสำหรับฮ่องกงเป็นครั้งแรก โดยรัฐสภาจีนได้รับรองกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ในวันที่ 4 เม.ย.ปี ค.ศ. 1990 (2533) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค. 1997 วันที่อังกฤษส่งมอบอำนาจคืนสู่จีน ในฐานะเป็นเขตบริหารพิเศษของสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้ข้อตกลงสูตรการปกครอง “หนึ่งประเทศสองระบบ” ในกฎหมายพื้นฐานนี้เองได้ระบุสัญญาไว้ว่า ในปี 2017 (2560) หัวหน้าคณะผู้บริหารดินแดนจะมาจากการเลือกตั้งทั่วไป (universal suffrage) ทั้งยังได้ระบุชัดเจนด้วยว่าการเสนอชื่อผู้ลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการเลือกตั้งฯ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการเสนอรายชื่อผู้ลงสมัครระบการเลือกตั้ง

ข้อเสนอดังกล่าวนับเป็นนวัตกรรมใหม่แห่งการปฏิรูป ที่ชาวตะวันตกไม่คุ้นเคยเลย เป็นการบัญญัติรัฐธรรมนูญแบบจีน ส่วนแนวคิดสูตรการปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ได้สัญญาว่าฮ่องกงจะมีระบบการเมืองและกฎหมายของตัวเองไปนาน 50 ปี ดังนั้นการเมืองการปกครองฮ่องกงจึงแตกต่างไปจากแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกันก็อยู่ภายใต้อธิปไตยของจีน แต่จีนเป็นรัฐอารยะ (civilisation-state) มากกว่ารัฐชาติ (nation-state) จากพื้นฐานประวัติศาสตร์แล้วจีนไม่อาจผนึกรวมเขตหรือดินแดนส่วนต่างๆเข้าด้วยกันโดยไร้ความยืดหยุ่นระดับสูง ในความคิดของจีน คือ “หนึ่งอารยะ หลายระบบ” ก่อร่างขึ้นจากประวัติศาสตร์ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น

ตลอด 17 ปี ที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองจีนคอมมิวนิสต์ แม้ผู้ที่มักคัดค้านโต้แย้งจีน ก็ต้องยอมรับว่าจีนได้รักษาสัญญาหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ระบบกฎหมายยังอยู่บนพื้นฐานกฎหมายอังกฤษ ดำเนินตามครรลองกฎหมายพื้นฐาน ทั้งสิทธิการชุมนุมประท้วงในปัจจุบัน ก็ยังมีอยู่ในระดับสูง

*2) ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้ริเริ่มสูตรปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ในการส่งมอบอำนาจปกครองดินแดนฮ่องกง ได้เขียนอรรถาธิบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ในบทที่สาม ระบุขอบเขตและบรรทัดฐานไว้ ว่า “ชาวฮ่องกง การปกครองฮ่องกง จะต้องอยู่ภายใต้การบริหารปกครองโดยชาวฮ่องกงผู้เทิดทูนความรักชาติเป็นใหญ่ องค์ประกอบสมาชิกหลักของคณะรัฐบาลเขตบริหารพิเศษแห่งฮ่องกงจะต้องเป็นผู้รักชาติ ผู้รักชาติคือ ผู้เคารพในชนชาติตัวเอง สัตย์ซื่อในการพิทักษ์การฟื้นฟูอธิปไตยดินแดนฮ่องกงของมาตุภูมิ ไม่ทำลายเสถียรภาพและความรุ่งโรจน์ของฮ่องกง

ทว่า ก็อาจมีพลังที่อาจทำลายดินแดน ไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม หากเกิดความวุ่นวาย รัฐบาลกลางก็ต้องเข้าแทรกแซง

ฮ่องกงต้องมีเสถียรภาพ เป็นสิ่งสำคัญหลัก เสถียรภาพของฮ่องกงนั้น นอกจากในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องการเสถียรภาพในระบบการปกครอง ผม (เติ้ง เสี่ยวผิง)ได้เคยกล่าวมาแล้ว ระบบการปกครองฮ่องกงในปัจจุบัน มิใช่ระบบการปกครองแบบอังกฤษ ระบบการปกครองแบบอเมริกา และจากนี้ไปจะไม่มีการเลียนแบบระบบระบอบใดของตะวันตก

*1)อ้างอิงจาก China is Hong Kong’s future - not its enemy เผยแพร่ใน The Guardian เขียนโดย Martin Jacques ผู้เขียน When China Rules the World: The End of the Western World and the Birth of a New Global Order

*2) อ้างอิงจากบทอรรถาธิบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” โดย เติ้ง เสี่ยวผิง  《邓小平文选》第三卷

ผู้ประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยโบกธงฮ่องกงระหว่างการชุมนุมยึดครองศูนย์กลาง หรือ อ็อกคิวพาย เซนทรัลเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2557 (ภาพ เอพี)
กลุ่มผู้นำสูงสุดจีน อาทิ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (คนที่สี่ จากซ้าย) นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง (คนที่สาม จากซ้าย)  กำลังฟังคอนเสิร์ตเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 65 ปีวันชาติจีน ที่ศาลาประชาคมกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่การเคลื่อนไหวอ็อกคิวพาย เซนทรัล เรียกร้องประชาธิปไตยที่ฮ่องกงยังดูอึมครึม(ภาพ รอยเตอร์ส)
ชาวฮ่องกงเดินผ่านเขตชุมนุมที่ติดภาพปกนิตยสารไทม์ส ที่นำเสนอเรื่องปก “การปฏิวัติร่ม” อีกฉายาหนึ่งของการเคลื่อนไหวอ็อกคิวพาย เซนทรัล เรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกง ภาพปกนิตยสารไทม์ส: ผู้ชุมนุมชูร่มระหว่างที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาสลายการประท้วงในวันที่ 28 ก.ย. (ภาพ เอพี)

กำลังโหลดความคิดเห็น