xs
xsm
sm
md
lg

จีนแห่สร้างตึกระฟ้า เซี่ยงไฮ้ทำสถิติผุดตึกสูงอันดับสองของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไชน่า เดลี- เซี่ยงไฮ้สร้างตึกใหม่ ทำสถิติสูงสุดอันดับสองของโลก ท่ามกลางกระแสนิยมสร้างตึกระฟ้าทั่วทั้งแผ่นดินใหญ่
ตึกความสูง 632 เมตร (ด้านขวา) ในย่านลู่เจียจุ่ย ย่านเศรษฐกิจชื่อดังของเซี่ยงไฮ้ ซึ่งความสูงระดับดังกล่าวเป็นรองแค่ตึกที่สูงที่สุดในโลกอย่างบุรจญ์เคาะลีฟะฮ์ ในดูไบ เจ้าของสถิติตึกสูงสุดของโลก (ภาพ: ไชน่า เดลี)
กระแสตึกระฟ้าในจีนยังเป็นที่นิยมสำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีการสร้างตึกสูง 632 เมตร ในลู่เจียจุ่ย ย่านเศรษฐกิจชื่อดังของเซี่ยงไฮ้ ซึ่งความสูงระดับดังกล่าวเป็นรองแค่ตึกที่สูงที่สุดในโลกอย่างบุรจญ์เคาะลีฟะฮ์ ในดูไบ เจ้าของสถิติตึกสูงสุดของโลก (828 เมตร)

ตึกของเซี่ยงไฮ้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า (2558) และยังไม่ได้รับการตั้งชื่อแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ตามรายงานของกรมการวางผังเมืองของเจียงซู ระบุไว้ว่า เมืองซูโจวมีแผนสร้างตึกสูงมากกว่า 700 เมตร เร็วๆ นี้ ส่วนในอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย ก็มีการออกแบบตึกแฝดสูงกว่า 1,000 เมตร เตรียมสร้างในปี 2561 หากรัฐบาลอนุมัติ

“การแข่งกันสร้างตึกสูงๆ มันไม่มีจุดสิ้นสุดอยู่แล้ว สำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนักลงทุน มันเป็นเหมือนเกมยิ่งสูงยิ่งดี” นายจาง หยวนจี้ ตัวแทนโครงการสร้างตึกระฟ้าในเซี่ยงไฮ้ กล่าว “ ตึกระฟ้ามันเป็นหน้าตาทางสถาปัตยกรรมและทางการเงิน”

ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ในแผ่นดินใหญ่มีตึกระฟ้าผุดขึ้นมากมาย ในปี 2555 ทั่วทั้งจีนมีตึกระฟ้าถึง 470 ตึก และอีก 332 ตึก อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2564 จีนจะมีถึง 6 ตึก อยู่ในการจัด 10 อันดับตึกสูงสุดในโลก สมาคมอาคารสูงโลก หรือ Council on Tall Buildings and Urban Habitat (CTBUH) ของสหรัฐอเมริกา ระบุไว้

ส่วนในอีก 5 ปีข้างหน้า จีนจะกลายเป็นผู้นำของโลกในการสร้างตึกสูงระฟ้า โดยจะมีตึกความสูงมากกว่า 200 เมตรที่มีมากกว่า 40 ชั้น คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดที่มีอยู่ทั่วโลก CBRE Inc รายงาน

ทั้งนี้ 51 เปอร์เซ็นต์ของตึกเหล่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ตามเมืองชั้นรอง อย่างเสิ่นหยาง ในเหลียวหนิง และมหานครอย่างฉงชิง และเทียนจิง

แอนโทนี วู้ด ผู้อำนวยการบริหารสมาคมอาคารสูงโลก กล่าวว่า ตึกระฟ้าสะท้อนให้เห็นความทะยานอยากและความสามารถของเมือง

“หากคุณพิจารณาตามชื่อของตึก คุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลง” วู้ด กล่าว ในอดีต มักมีการตั้งชื่อตึกตามองค์กร หรือ บริษัท อาทิ รอคกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ในนิวยอร์ค หรือ จินเหมาทาวเวอร์ ในเซี่ยงไฮ้ แต่ในปัจจุบันกลับเรียกกันว่าเซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์ อู่ฮั่น เซ็นเตอร์ และแคนตัน ทาวเวอร์ (กว่างโจว ทีวีทาวเวอร์)

ด้านนักวิเคราะห์หลายคนก็แสดงความเป็นกังวลกับการสร้างตึกระฟ้าในจีนที่ผุดขึ้นเต็มไปหมด โดยเกรงว่า ตึกสูงเหล่านี้จะมีมากเกินความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ขาดประสบการณ์ในการบริหารตึกขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมระดับห้าดาวตึกแรกในจีนก็กำลังประสบปัญหาขาดทุนอยู่ในขณะนี้

ในอเมริกา ตึกสูงเสียดฟ้าสามารถทำเงินในอุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิ (tertiary industry) ได้เฉลี่ย 143,100 ล้านหยวน (ราวๆ 715,500 ล้านบาท) แต่ในจีนทำได้เฉลี่ยเพียง 43,600 ล้านหยวน หรือ ประมาณ 218,000 ล้านบาท

“เมืองชั้นรองกำลังเจอกับปัญหาความเสี่ยงจากการมีตึกล้นตลาด” แฟรงค์ เฉิน หัวหน้าคณะวิจัย CBRE กล่าว เนื่องจากหลายเมืองเป็นเพียงแค่ศูนย์กลางของภูมิภาค ไม่ได้มีอะไรดึงดูดคนเช่าเท่าใดนัก”

ด้านแอนดี้ ถัว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการให้บริการสินทรัพย์ของ CBRE จีน กล่าวว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายคนเชื่อว่า ถ้าสร้างตึกระฟ้าเสร็จแล้ว ก็จะมีผู้เช่าเข้ามาเอง แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น”

นอกจากนี้ การจะขออนุญาตสร้างตึกสูงเสียดฟ้าจากทางการก็มีเงื่อนไขการพิจารณาในหลายมิติมาก ทั้ง สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ อัตราภาษี การสื่อสาร และทรัพยากรมนุษย์ นายถัว กล่าว

การสร้างตึกระฟ้าในจีนจึงได้รับเสียงตอบรับหลายกระแส บางส่วนก็เห็นว่าเป็นการประหยัดทรัพยากร และสะดวกในการติดต่อสื่อสาร เช่นในนิวยอร์ค ตึกสูงๆ เป็นศูนย์รวมของธนาคารที่ทรงอิทธิพล บริษัทประกันภัย และบริษัทรักษาความปลอดภัยต่างๆ อีกทั้งยังเป็นหน้าเป็นตาของเมือง แต่หลายฝ่ายก็มองว่ายังไม่ควร เพราะต้องดูหลายปัจจัย โดยเฉพาะสภาวะความเป็นจริงทางสังคม

ด้านโซฟี หลัว ผู้อำนวยการฝ่ายของบริษัทแห่งหนึ่งที่เช่าตึกระฟ้าในย่านลู่เจียจุ่ย กล่าวว่า เธอชอบทำงานในที่แบบนี้
“สถานที่ที่ดูมีเกียรติช่วยธุรกิจได้มากจริงๆ เพราะคนมักเชื่อว่า บริษัทที่สามารถจ่ายค่าเช่าในราคาสูงกว่าราคาทั่วไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีความเข้มแข็งทางการเงินแน่” หลัว กล่าว

ส่วน หลี่ จี้เจีย ซึ่งทำงานอยู่บนชั้น 40 ของตึกแห่งหนึ่งที่เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในลู่เจียจุ่ยเมื่อ 10 ปีก่อน กลับรู้สึกว่า “ทำงานบนตึกสูงๆ ค่อนข้างเหงา” หลี่ กล่าว “กินข้าวเย็นแถวนั้นก็แพงมาก สถานที่หรูๆ ย่อมขายของราคาแพง”

กำลังโหลดความคิดเห็น